เชื่อปี 2017 ตลาดข้าวกลับมาเป็นตลาดผู้ขาย แนวโน้มราคาหยุดดิ่งลง - Forbes Thailand

เชื่อปี 2017 ตลาดข้าวกลับมาเป็นตลาดผู้ขาย แนวโน้มราคาหยุดดิ่งลง

เวทีประชุม Thailand Rice Convention 2017 สถาบันวิจัย-เอกชนมองตลาดข้าวปีนี้แนวโน้มราคาหยุดดิ่งลงหลังลดลงต่อเนื่องมา 5 ปี เนื่องจากสต๊อกไม่อยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย มองตลาดทวีปแอฟริกามาแรง ข่าวดีไทยชิงส่วนแบ่งตลาดฮ่องกงกลับคืน ผู้ส่งออกข้าวจี้รัฐเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศจัด งานประชุมข้าวนานาชาติ หรือ Thailand Rice Convention 2017 ขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2560 โดยมีการสัมมนาเชิงวิชาการบนเวทีภายในงาน Jeremy Zwinger ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท The Rice Trader จำกัด กล่าวว่า ปี 2017 นี้คาดว่าตลาดจะพลิกกลับจากตลาดของผู้ซื้อมาเป็นตลาดของผู้ขาย เพราะซัพพลายในสต๊อกไม่ได้มีลักษณะโอเวอร์ซัพพลาย ยกตัวอย่างเช่นตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือประเทศจีน ด้วยปริมาณประชากรกว่า 1,000 ล้านคนทำให้จีนยังคงสั่งซื้อข้าวและถั่วเหลืองเพื่อเก็บสต๊อกในประเทศทำให้จีนยังมีการบริโภคข้าวต่อเนื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนา  Thailand Rice Convention 2017 เมื่อวันที่ 29 พ.ค.60 (ขอบคุณภาพจาก: โพสต์ทูเดย์)
ด้านตลาดแอฟริกาเป็นอีกภูมิภาคที่น่าจับตา จากประชากรที่มากขึ้นแต่การผลิตภายในประเทศไม่สูงขึ้นตาม จึงคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวสูงในปีนี้ ส่วนประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างไนจีเรีย ปีที่แล้วการนำเข้าลดลงจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนปี 2017 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ในแง่ราคาข้าว ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวตกลงทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งราคาลดลงรวม 175 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากต้องการระบายสต๊อกข้าวทำให้ข้าวไทยลดราคาเพื่อแข่งขันมาตลอด อย่างไรก็ตาม Jeremy คาดว่าปีนี้ราคาไม่น่าจะลดต่ำลงอีก จากการระบายสต๊อกข้าวที่ทำได้ดี โดยปัจจุบันราคาข้าวสาร 100% ชั้น 2 ของไทยขึ้นมาที่ 430 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เพิ่มจากปีก่อนที่ราคา 427 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน อย่างไรก็ตาม Jeremy กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อการผลิตข้าวในปีนี้ โดย 2 ปีที่ผ่านมาเกิดภาวะเอลนีโญและลานีญา ซึ่งต้องจับตามองสภาพภูมิอากาศปีนี้ว่าจะกลับมาเกิดภาวะเอลนีโญอีกหรือไม่ ทำให้ประเทศผู้ปลูกและส่งออกข้าวควรจะบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด  

ซัพพลายลด-ตลาดค้าข้าวขยายตัว

ด้าน Amit Gulrajani รองประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายตลาดข้าว บริษัท Olam International จำกัด ประเทศสิงคโปร์ กล่าวสอดคล้องกันว่า มีความกังวลในตลาดว่าการบริโภคข้าวจะลดลงแต่ที่จริงแล้วข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า การบริโภคข้าวทั่วโลกในปี 2016 ปริมาณ 471.2 ล้านตัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 478.7 ล้านตันในปี 2017 และ 480.1 ล้านตันในปี 2018 ในขณะที่การผลิตปริมาณ 471.8 ล้านตันในปี 2016 จะเพิ่มขึ้นเป็น 481.5 ล้านตันในปี 2017 แต่ในปี 2018 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 481.3 ล้านตัน ส่วนตลาดค้าข้าวทั่วโลก จะเพิ่มจาก 40.6 ล้านตันในปี 2016 เป็น 41.3 ล้านตันในปี 2017 และเพิ่มเป็น 42.3 ล้านตันสำหรับปี 2018 โดยตลาดใหญ่ที่สุดยังคงเป็นทวีปแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลางตามลำดับ  

ไทยชิงตลาดข้าวฮ่องกงคืน

Kenneth Chan Kin Nin ประธาน สมาคมพ่อค้าข้าวแห่งฮ่องกง เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดข้าวของฮ่องกง ซึ่งไทยเคยครองส่วนแบ่งสูงถึง 90% ช่วงปี 2007-2008 ก่อนจะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดไปตั้งแต่ปี 2013 เนื่องจากการแข่งขันรุนแรงด้านราคา ทำให้ปี 2014 ส่วนแบ่งตลาดของไทยในการส่งออกข้าวสู่ฮ่องกงลดเหลือ 48% หรือคิดเป็น 1.54 แสนตันต่อปี แต่หลังจากนั้นไทยชิงส่วนแบ่งได้มากขึ้นในแต่ละปี จนปัจจุบัน เมื่อไตรมาสแรกของปี 2017 ไทยสามารถชิงส่วนแบ่งกลับมาได้เป็น 68% ของทั้งตลาด หรือคิดเป็นปริมาณ 71,200 ตัน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลและภาคเอกชนไทย  

จี้รัฐหาทางเร่งผลผลิตต่อพื้นที่

ด้าน วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดข้าวของประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อแก้โจทย์ใหญ่คือ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวต่อพื้นที่ให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อให้ปลายทางได้ข้าวมีคุณภาพดีในราคาที่ไม่สูง “ปัจจุบันการผลิตข้าวไทยทำได้ 2.8 ตันต่อเฮกตาร์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 4.2 ตันต่อเฮกตาร์ แปลว่าไทยต้องลดต้นทุนการผลิตและทำให้มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น ดูแลการจัดการน้ำ ดิน ทรัพยากรต่างๆ อย่างเรื่องการทำนาแปลงใหญ่ที่รัฐบาลไทยเพิ่งเริ่มพยายามผลักดัน แต่ที่เวียดนามทำสำเร็จไปแล้ว ดังนั้นไทยควรจะทุ่มงบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ถ้าหากเราเพิ่มการผลิตได้อีก 2 ตันต่อเฮกตาร์ จะทำให้เรามีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 22 ล้านตัน” วิชัยกล่าว วัชรพล บุญหลาย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาตลาดข้าวมองว่าควรจะมีการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อร่วมมือกันพัฒนาข้าวจากที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ให้กลายเป็นสินค้าที่เพิ่มคุณค่า ความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ยังผลิตอยู่และทำต่อไป แต่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั่วโลกทราบด้วยว่า ข้าวมีคุณค่าและสารอาหารอย่างไร และควรจะบริโภคข้าวที่ดีมีคุณภาพ