เชลล์เร่งทุกฝ่ายรับมือคนล้นเมือง แม้แออัดแต่ต้องมีประสิทธิภาพ - Forbes Thailand

เชลล์เร่งทุกฝ่ายรับมือคนล้นเมือง แม้แออัดแต่ต้องมีประสิทธิภาพ

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Dec 2014 | 10:56 AM
READ 2145
ผลการศึกษา New Lenses on Future Cities ซึ่งจัดทำโดยเชลล์ เป็นการศึกษาโดยใช้แบบจำลองสถานการณ์  เพื่อทำความเข้าใจโอกาสและความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการมองไปถึงปี พ.ศ.2603 ไกลกว่ารายงานชิ้นก่อนที่เชลล์เคยทำมา ทำให้เห็นความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น จากประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยมากขึ้น และการขยายตัวของเมือง

 
Cho-Oon Khong ผู้อำนวยการใหญ่งานวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจ กลุ่มบริษัทรอยัลดัทช์ เชลล์ กล่าวว่า จากข้อมูลด้านการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN-HABITAT) ระบุภายในปี 2563 หรืออีกเพียง 6 ปีข้างหน้า ประชากร 2 ใน 3 ของประเทศที่เป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในภาคมหานครเพียง 5 แห่งเท่านั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีประชากร 30 ล้านคน, Kuala Lumpur 6 ล้านคน, Singapore 10 ล้านคน, Jakarta 100 ล้านคน และ Manila 30 ล้านคน 
 
นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี พ.ศ.2593 จำนวนประชากรทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% หรือสูงถึง 6.3 พันล้านคน หากเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2553 ที่มีประมาณ 3.6 พันล้านคน เมื่อเมืองมีการขยายตัวทำให้เกิดการบริโภคทรัพยากรสูงขึ้น ไม่ว่าน้ำ อาหาร หรือพลังงาน ทุกวันนี้เมืองต่างๆ ใช้ทรัพยากรถึง 66% ของทั้งหมด และกำลังเพิ่มเป็น 80% ในอีก 30 ปีข้างหน้า
 
Cho กล่าวว่า ความท้าทายในขณะนี้คือการจัดการกับการขยายตัวของเมืองใหญ่ อย่างเช่นกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ การวางแผนเมืองที่ดีจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และวิถีของเมืองจะสร้างภูมิต้านทานให้กับชีวิตของคนในเมืองนั้นในอนาคตได้ ทั้งนี้แม้จะเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีประชากรอาศัยอย่างแออัด แต่หากวางแผนเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จัดเป็นเมืองที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ 
 
เขาย้ำว่าแม้ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น แต่หากจัดการโครงสร้างสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เป็นเมืองที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมืองที่มีความหนานแน่นน้อยกว่า แต่ว่าไม่มีการจัดการที่ดี 
 
“ตัวอย่างเช่นสิงคโปร์ที่อยู่กันหนาแน่น แต่กลับมีคะแนนความน่าอยู่สูง ขณะที่บางเมืองอาจไม่หนาแน่น อยู่กันห่างๆ อาจไม่มีประสิทธิภาพในเรื่องของการจัดการพลังงาน เพราะจุดบริการหรือสาธารณูปโภคอยู่ไกลกัน ต้องสิ้นเปลืองในการเดินทาง”
 
จากรายงานการศึกษาครั้งนี้ ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแหล่งอาศัยที่หนาแน่นกว่า 500 แหล่งทั่วโลก รวมถึงเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัย 10 ล้านคน สามารถแบ่งแหล่งอาศัยเหล่านี้ออกได้เป็น 6 กลุ่ม เพื่อชี้ให้เห็นพื้นที่การบริโภคพลังงาน
 
โดยมีสองกลุ่มที่มีการใช้พลังสูงได้แก่ เมืองขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัว (Sprawling Metropolises) เช่น Tokyo และเมืองที่ร่ำรวย (Prosperous Communities) เช่น Dubai เป็นต้น  ต่างไปจากเมืองที่พัฒนาแล้วที่มีประชากรหนาแน่น (Urban Powerhouses) เช่น Hong Kong, Singapore หรือ New York ที่มีความหนาแน่นสูง และมีรายได้สูงด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้คนในเมืองกลุ่มนี้ต้องการใช้พลังงานสูง แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นแล้ว ยังถือว่าน้อยกว่า
 
เมืองหลักที่ยังไม่พัฒนา (Underdeveloped Urban Centres) เป็นกลุ่มเมืองส่วนใหญ่ที่ศึกษาในครั้งนี้ แต่กลับใช้พลังงานเพียง 11% ของความต้องการทั้งโลก ส่วนเมืองขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนา (Developing Mega-Hubs) เช่น Hyderabad ในอินเดีย หรือ Chongqing  ในจีน เป็นกลุ่มเมืองที่ใช้พลังงานน้อยสุด ในขณะที่เมืองที่มีคนยากจนอยู่หนาแน่น (Underprivileged Crowded Cities) อย่าง Manila หรือ Bangalore นั้น จัดว่ามีการใช้พลังงานน้อยอยู่ แต่ว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเมื่อประชากรขยายตัว และมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานรวมของโลก