เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม กับการเจาะตลาดลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ผ่านเส้นทาง R12 - Forbes Thailand

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม กับการเจาะตลาดลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ผ่านเส้นทาง R12

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Dec 2015 | 12:02 PM
READ 7298
คำถามที่ผู้ประกอบการ นักลงทุน ตลอดจนนักศึกษาปริญญาโทในหลักสูตรการสร้างเจ้าของธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มักจะถามผมเสมอเมื่อพูดถึงการค้าการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ Asean Economic Community (AEC) คือ เราจะขายอะไร และเส้นทางการค้าไหนที่น่าจะเดินทางไปสำรวจ บุกเบิก และปักธงรบ โดยมีความเสี่ยงต่ำที่จะพ่ายแพ้ แต่มีโอกาสคว้าชัยชนะสูง ซึ่ง ณ นาทีนี้ ผมก็คงต้องบอกว่าเส้นทางการค้าชายแดนที่จังหวัดนครพนมข้ามแม่น้ำโขงด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 เป็นเส้นทางที่น่าสนใจของผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสทางการค้าชายแดนด้วยการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศลาวและประเทศเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง

มนต์เสน่ห์ของจังหวัดนครพนมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ จังหวัดนครพนมถูกจัดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน แต่หากพิจารณาภาพรวมมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าของสินค้าต่างๆ ผ่านด่านศุลกากรนครพนม  ปีงบประมาณ 2557 จะพบว่า การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 268.6 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2556 ส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 48.5 โดยมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.6 ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นมูลค่าระหว่างนครพนม กับมุกดาหารและหนองคาย ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเช่นกันจะพบว่านครพนมมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสูงที่สุดถึงประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท

อันแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่รวดเร็วทางการค้าและการเป็นประตูสำคัญสู่อาเซียน ผนวกกับการได้รับการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนทางภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เป็นระยะเวลา 8 ปี และในขณะเดียวกันยังมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับตามกฎหมายศุลกากรอีกด้วย โดยเฉพาะการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคลังสินค้าทัณฑ์บนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1) คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้า และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
2) คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทปลอดภาษีศุลกากร หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “Duty Free”
3) คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงงานผลิตสินค้า ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังคิดว่าจะลงทุนในการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ หรือสินค้าสำเร็จรูปมาประกอบหรือบรรจุหีบห่อ (packing) ใหม่เพื่อส่งออก

การขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภททั่วไปจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้าตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่สินค้าอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บน และเมื่อนำไปบรรจุหีบห่อส่งออกไปยังต่างประเทศก็จะได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรขาออกด้วย ซึ่งหากกิจการได้รับการสิทธิในการส่งเสริมลงทุนจาก BOI ก็จะถือว่าได้รับประโยชน์ 2 ต่ออีกด้วย

ข้อที่สอง คือ เส้นทางการค้าทางด้านจังหวัดนครพนมยังเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่มีระยะทางสั้นที่สุดในการเจาะเข้าไปสู่ตลาดลาว  เวียดนาม และจีนตอนใต้ ด้วยเส้นทาง "R12" โดยออกจากไทยที่นครพนมข้ามสะพานมิตรภาพเข้าลาวที่ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดแคบที่สุดของประเทศลาว มีระยะทางไม่เกิน 140 กิโลเมตร จากเมืองท่าแขก ผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าไปถึงตอนกลางของประเทศเวียดนามที่จังหวัดฮาติงห์ อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือหวุ่งอ๋าง ท่าเรือน้ำลึกของเวียดนามได้สั้นที่สุด ด้วยระยะทางเพียง 330 กิโลเมตร และตามถนนสาย 1A ในเวียดนาม สามารถเดินทางไป ยังกรุงฮานอย ด้วยระยะทางเพียง 650 กิโลเมตร และสามารถเข้าสู่ผิงเสียง มณฑลหนานหนิง ประเทศจีนในระยะทางเพียง 1,029 กิโลเมตรเท่านั้น

เส้นทาง R12 ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปตลาดจีนเพราะสั้นกว่าและสะดวกกว่าเส้นทาง R9 และ R3E (ทางหลวงคุณหมิง-กรุงเทพฯ) ที่เชื่อมโยงจากเชียงของไปคุณหมิง อีกทั้งยังมีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่า นอกจากนี้หากท่านติดตามกลยุทธ์การขยายอาณาจักรการค้าของจีนอย่างต่อเนื่องท่านจะเห็นได้ว่าเส้นทาง R12 ถูกใช้เป็นเส้นทางของการค้า การลงทุนของประเทศจีนที่รุกลงใต้มาสู่ประเทศไทย โดยมีภาคอีสานเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการเปิดประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนของจีนดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาที่สำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีนก็จะผ่านประเทศไทยลงไปยังตอนใต้ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้ในหลายมณฑลของจีนได้เตรียมตัวรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนแล้วทั้งๆ ที่จีนเองก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอาเซียนโดยตรง จึงทำให้เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สามารถตอบโจทย์ได้ถูกต้องที่สุดสำหรับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ ของผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นที่ว่าเราจะขายสินค้าอะไรดีนั้น ผมขอนำเสนอข้อคิดเห็นที่ได้จากประสบการณ์การไปลงพื้นที่และรับฟังจากนักธุรกิจกลุ่มต่างๆ ด้วยการพูดออกมาได้อย่างเต็มปากว่าผลไม้เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยผลไม้ที่สำคัญของไทย และเป็นที่ต้องการของประเทศลาว เวียดนาม และจีน ในปริมาณสูง มีด้วยกัน 5 ชนิด คือ ลำไย มังคุด ทุเรียน มะม่วงเขียวเสวย และมะขาว ซึ่งจากการไปสำรวจตลาดของกลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่พบว่า ปริมาณความต้องการของผลไม้เหล่านี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น

และที่น่าสนใจคือ สินค้าไทยหลายชนิดที่ลำเลียงผ่านจังหวัดนครพนมเพื่อจะนำไปขายยังประเทศจีนตอนใต้นั้นมักจะถูกซื้อหมดตั้งแต่เข้าเมืองฮาติงห์ ประเทศเวียดนาม เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยมีสูง อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นคุณภาพของผู้บริโภคซึ่งต้องบอกได้เลยว่าอยู่ในระดับที่สินค้าจากประเทศอื่นที่ลอกเลียนแบบได้เหมือนทุกประการ เช่น รูปแบบฉลาก บรรจุภัณฑ์ และ สีสัน เป็นต้น ไม่สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสินค้าไทยได้เลย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นมิตรหมายอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องรีบพิจารณารูปแบบและกลยุทธ์เพื่อมุ่งเข้าสู่ตลาดอาเซียนที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในอีก 5 เดือนข้างหน้าด้วยความสุขุมลุ่มลึกต่อไป
 

ดร.โอภาส เพี้ยนสูงเนิน

อาจารย์ประจำ
คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

พบ Forbes Thailand "แรงบันดาลของผู้ไฝ่ความสำเร็จ" ในได้ในรูปแบบ Magazine และ  E-Magazine พร้อมกับทุกพฤหัสดี