เกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ หรือวิกฤตจะซ้ำรอย - Forbes Thailand

เกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ หรือวิกฤตจะซ้ำรอย

วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกดูเหมือนจะเวียนกลับมาทุกๆ 10 ปี ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2530 โลกเผชิญเหตุการณ์ Black Monday ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ร่วงลงกว่า 22.6% ในวันเดียว 10 ปีต่อมา เดือนกรกฎาคม 2540 วิกฤตย้ายเข้ามาอยู่ในทวีปเอเชียโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทย หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งลุกลามไปทั่วเอเชีย และต่อมาอีก 10 ปี ในเดือนกันยายน 2551 การล่มสลายของบริษัท Lehman Brothers เป็นการจุดชนวนวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐฯ ซึ่งแพร่ลามไปยังทวีปยุโรปก่อให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ แล้วในปี 2560 โลกจะต้องเผขิญกับวิกฤตหรือไม่ คนที่อาจจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคงเป็น นายคิม จอง อุน และนายโดนัล ทรัมป์ ผู้นำของเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ

นายคิม จอง อุน ผู้นำเกาหลีเหนือวัย 33 ปีเป็นที่รู้จักของประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จากท่าทีที่ขึงขังไม่เกรงกลัวอำนาจของสหรัฐฯ โดยตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำ เขาได้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธมามากกว่าสมัยปู่และพ่อของเขารวมกัน  แม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะมีมาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือด้วยการคว่ำบาตรการค้ามาตั้งแต่ปี 2549 และล่าสุดได้ยกระดับการคว่ำบาตรไปถึงการส่งออกน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือและการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากเกาหลีเหนือของคู่ค้า แต่ดูเหมือนว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อเกาหลีเหนืแต่อย่างใด

การลงโทษด้วยการคว่ำบาตรเป็นการจูงใจให้ประเทศที่ถูกลงโทษเต็มใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่เนื่องจากความไม่เท่าเทียมทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้คนจนมักได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรมากกว่ากลุ่มคนรวย หรือเรียกง่ายๆ ว่าประชาชนเดือดร้อนมากกว่าผู้นำ นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่กลุ่มผู้นำเกาหลีเหนือดูไม่ได้ร้อนรนต่อบทลงโทษของสหประชาชาติมากนัก นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียยังเคยกล่าวไว้ว่า นายคิม จอง อุน อาจยอมให้ประชาชนของเขาอดอยากจนต้องกินหญ้าต่างข้าวมากกว่าจะยอมหยุดยิ่งขีปนาวุธ อีกนัยหนึ่งอาจสรุปได้ว่า มาตรการของสหประชาชาติไม่เหมาะสมกับการปกครองระบอบเผด็จการ

ในมุมมองของตลาด เราอาจให้ส่วนต่าง TED มาเป็นมาตรวัดความกังวลต่อตลาดที่มีต่อสถานการณ์เหล่านี้ได้ ส่วนต่าง TED คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น หากส่วนต่างปรับขึ้นแสดงว่า โอกาสที่ธนาคารจะผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้นมีมากขึ้น เรียกง่ายๆ ว่าความเสี่ยงสูงขึ้นนั่นเอง เมื่อพิจารณาส่วนต่าง TED ของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ทำให้พบว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือส่งผลกระทบต่อประเทศข้างเคียงอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ส่วนต่าง TED ของเกาหลีใต้

Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank

ส่วนต่าง TED ของญี่ปุ่น

Source: Bloomberg, CEIC, Reuters Eikon, KBank

แม้ว่านักวิเคราะห์หลายฝ่ายจะมองว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือมีน้อย แต่ทุกวันนี้ เกาหลีเหนือได้แสดงแสนยานุภาพทั้งการทดสอบวิถีการยิงขีปนาวุธ และทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แต่สิ่งที่เรายังไม่ได้เห็นคือการทดสอบวิถีการยิงและขีปนาวุธพร้อมกัน ซึ่งอาจเป็นอาวุธที่เกาหลีเหนือเก็บไว้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ หากสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นก็เป็นได้ แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว คงไม่จำเป็นต้องรอให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยทุกๆ 10 ปี เพราะเพียงแค่วิวาทะระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายและการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเพียงเท่านี้ ก็ทำให้นักลงทุนทิ้งสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือเงินกู้ของประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำหรือความเสี่ยงต่ำอย่างเงินเยนและทองคำแล้ว