อาหารปลอดภัยจากครัวไทย...ไปครัวโลก - Forbes Thailand

อาหารปลอดภัยจากครัวไทย...ไปครัวโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Mar 2016 | 11:15 AM
READ 5358
จากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรลดลงต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร คงเลี่ยงไม่ได้ว่าจะทำอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้อย่างไร แล้วอาหารประเภทไหนที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกที่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่แตกต่างกัน ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะวัตถุดิบยังขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก เช่น กำแพงภาษี หรือกฎเกณฑ์เงื่อนไขทางการค้าแบบพิเศษที่ถูกควบคุมโดยผู้ซื้อ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นแรง “กดดัน” ผู้ผลิตอาหารให้หาทางยืนอยู่ในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน นั่นแปลว่าตลอดห่วงโซ่การผลิต ทางผู้ผลิตต้องยึดคำว่า “มาตรฐานโลก” เป็นที่ตั้ง และต้องตอบโจทย์อาหารคุณภาพดีที่ถูกสุขอนามัย ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและตรวจสอบย้อนกลับได้

โจทย์ของบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำทุกรายที่ต้องเผชิญ คือ การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่นับวันยิ่งมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายการผลิต ที่ต้องมุ่งเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัย ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล และยังต้องคำนึงถึงรสชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงความหลากหลายและนวัตกรรมของอาหารที่บริษัทผู้ผลิตอาหารต้องใส่ใจ ที่สำคัญต้องมุ่งสู่ความยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างมั่งคงและยั่งยืนในระยะยาว

จากผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7.3 พันล้านคนในปี 2558 เป็น 9 พันล้านคน ในปี 2593 และในจำนวนนี้ 22% จะเป็นผู้สูงอายุซึ่งจะอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องนำมาพิจารณา รวมถึงเรื่องการอพยพของประชากรเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น อาหารที่จะตอบโจทย์คนเหล่านี้คือ อาหารสุขภาพ อาหารปลอดภัย อาหารสำหรับผู้สูงอายุหรืออาหารสำหรับผู้ป่วย ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์คนเมืองด้วยการผลิตอาหารสำเร็จรูปและอาหารที่สะดวกต่อการรับประทานมากขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของปัจจัยการผลิตจากภาวะแวดล้อมโลกไม่สมดุล ส่งกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรทั้งสิ้น รวมทั้งเงื่อนไขกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก กำแพงภาษี การกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้ผลิตอาหารชั้นนำต้องตื่นตัว ปรับตัว ปรับวัตถุดิบ ปรับเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าอาหารที่จะขายไม่ใช่ผลิตเพื่อคุณภาพอย่างเดียว แต่ต้องตอบสนองความต้องการของตลาดโลกในเรื่องความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทั้ง supply chain รวมไปถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชุมชนด้วย

เงื่อนไขทางการค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจและผู้ผลิตอาหารต้องปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและระดับโลกไว้ หลายกลยุทธ์ถูกนำมาใช้เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างการเติบโตต่อเนื่องโดยไม่ต้องตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ เช่น การควบรวมหรือซื้อกิจการ (merger and acquisition) หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่ออาศัยจุดแข็งของแต่ละคนในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ (synergy)

สำหรับผู้ผลิตอาหารชั้นนำของไทยขณะนี้ไม่เพียงมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่เป็นการออกไปสำรวจหาพันธมิตรในระดับโลกกันแล้ว จะเห็นได้ว่าปัจจุบันบริษัทสัญชาติไทยรวมทั้งบริษัทอาหารออกไปซื้อกิจการในต่างประเทศหลายราย ซึ่งมีเป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลกในการผลิต อาหารปลอดภัย (food safety) และ อาหารมั่นคง (food security) โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการเติบโตทางธุรกิจไว้ 3 ประการ คือ

1. การสร้างมูลค่าเพิ่ม (value chain) โดยทำธุรกิจครบวงจรเริ่มต้นจากอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และอาหาร ซึ่งแต่ละประเทศจะสร้างต้นแบบความสำเร็จเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นของตนเอง

2. การขยายการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ (geographical growth) เพราะการลงทุนเพิ่มคือได้พื้นที่ การได้พื้นที่คือได้ตลาดเพิ่ม นั่นคือการเติบโต เช่น การที่ ซีพีเอฟ ขยายธุรกิจเข้าไปในแทนซาเนีย และแอฟริกา ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อขยายไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

3. การควบรวมกิจการ (merger and acquisition) ซึ่งเป็นทางลัดด้วยการรวมคนที่แข็งแกร่งมาร่วมงานด้วยเพื่อขยายเครือข่าย ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ยุทธศาสตร์ทั้งสามประการนี้ยังมีโอกาสทั้งหมด เพราะคนยังต้องกินแม้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ที่สำคัญผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารไม่ควรผลิตเพื่อขายในประเทศอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ควรสนใจความต้องการของตลาดในต่างประเทศในเรื่องเงื่อนไขและข้อจำกัดส่งออก เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี (non-tariff barrier) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า-การส่งออก

การเปิดการค้าเสรีคือการเปิดให้สินค้าไหลเข้า-ออกอย่างเสรี แต่สินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ่อนไหว เป็นเรื่องของคนภาคการเกษตรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราจึงต้องปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้ การผลิตและขายในประเทศนั้นๆ เป็นการสร้างงาน รัฐบาลก็มีความพึงพอใจ ที่สำคัญเป็นการสร้างอาหารให้คนในประเทศ เป็นกลยุทธที่ทำให้ค้าขายสะดวกขึ้น

ในอดีตนั้นไทยเน้นการส่งออกเพราะค่าแรงในประเทศค่อนข้างถูก แต่ยุคแรงงานถูกมันหมดไปแล้ว วันนี้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าไทย ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปหาต้นทุนที่ต่ำกว่า ไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ต้องสร้างนวัตกรรม เครื่องจักรทันสมัย ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลในระบบต่างๆ

องค์กรที่ผลิตอาหาร ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรและคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน โดยควรให้การสนับสนุนทั้งปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดความเสี่ยงของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ที่สุดก็สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้นสู่การสร้างอาชีพมั่นคงและสังคมมั่งคั่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาครัฐในการกำหนดนโยบายส่งเสริมภาคเกษตรยังเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบายการสร้างสาธารณูปโภค ระบบการศึกษา ระบบชลประทาน และการกระจายความเจริญในด้านต่างๆ ไปยังพื้นที่ที่แห้งแล้งและห่างไกลของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสประกอบอาชีพในบ้านเกิดอย่างเท่าเทียมกัน แทนการอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้กับคนเหล่านั้นเพื่อสร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ขณะเดียวกันคนไทยทุกคนต้องมีสำนึกดีในการบริโภค คือรับประทานอาหารที่มีคุณค่าและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน แทนการปล่อยให้อาหารเหลือเป็นขยะซึ่งเป็นการสูญเปล่าและใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความสำคัญและร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารในอนาคต


 

อดิเรก ศรีประทักษ์

กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน)