“อานันท์” ชี้ธรรมาภิบาลคือหนทางสู่ “ธุรกิจโลกใหม่” ที่ยั่งยืน - Forbes Thailand

“อานันท์” ชี้ธรรมาภิบาลคือหนทางสู่ “ธุรกิจโลกใหม่” ที่ยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Mar 2015 | 04:20 PM
READ 3052
“ธุรกิจโลกเก่า” ที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด อาจไม่ใช่หนทางสู่การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอีกต่อไป เมื่อ “ธุรกิจโลกใหม่” ที่ใส่ใจสังคม สภาพแวดล้อม และให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล กลายเป็นเส้นทางที่มีแนวโน้มสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจได้อย่างแท้จริง

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน “ธุรกิจโลกใหม่ กำไรบนความยั่งยืนร่วมกันคือกำไรสูงสุด” จัดโดยกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ โดยมีกลุ่มบุคคลทั้งองค์กรภาคสังคมและภาคธุรกิจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

อานันท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เขาคือคนแรกๆ ในประเทศไทย ที่พูดถึงประเด็นเรื่อง CSR เมื่อราว 8 – 10 ปีมาแล้ว ซึ่ง CSR ในไทย มีการพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์กร เช่น SCG และธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เป็นแนวหน้าในการทำ CSR

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง “ธรรมาภิบาล” (good governance) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในการทำธุรกิจในปัจจุบันว่า ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างทันเหตุการณ์ มีระบบยุติธรรมที่โปร่งใสอิสระ มีสถาบันสื่อที่เป็นอิสระและสามารถเปิดพื้นที่ให้ทุกคนทุกฝ่ายได้ออกความ เห็น และไม่รับใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองหรือธุรกิจ ซึ่งหากมีธรรมาภิบาลแล้ว ก็จะช่วยแก้ไขการผูกขาดอำนาจทางการค้าและการเมืองได้

เขากล่าวถึงประเด็นเรื่องประชาธิปไตยด้วยว่า แต่ละประเทศมีวิธีไปสู่ประชาธิปไตยที่ต่างกัน มีทั้งเดินทางตรง เดินทางอ้อม เดินก้าวหน้า หรือเดินถอยหลัง แต่ทั้งหมดไม่ใช่บรรทัดฐานได้ว่าจะใช้เวลาเท่าใด เพราะต้องดูประวัติศาสตร์ ความคิด และความรู้ของประชาชนด้วย ปัจจุบันมีการพูดถึงการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นเพียงวิถีทางหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการนำประเทศไปสู่ ประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยตัวเอง เพราะประชาธิปไตยมีองค์ประกอบมากมาย ที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน

“ทุกสังคมมีข้อบกพร่อง ดังนั้นขอให้อย่าท้อแท้ ขอให้ตั้งใจทำสิ่งที่ถูกต้อง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเรื่องโอกาส รายได้ และสิทธิของประชาชน”

อานันท์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม เวทีสนทนาต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกัน และไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไร แต่การปฏิบัติต้องเท่าเทียมกัน

ภายในงาน ยังมีเวทีเสวนา “ธุรกิจวิถีใหม่ กรณีศึกษาการสร้างกำไรบนความยั่งยืนร่วมกัน” โดยมี สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และ วิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ร่วมเสวนา

สฤณี กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจตลาดประสบความสำเร็จ แต่ต้องแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากมาย เกิดสภาวะเรือนกระจก สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูง ก็ยิ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญในศตวรรษที่ 21 คือ จะปรับอย่างไรให้เกิดความสมดุล และสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเน้นการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับการใส่ใจทรัพยากรต่างๆ ทั้ง ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วน ดร.สถิตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สร้างปัญหา และยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งทุกรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหา แต่ภาคเอกชนซึ่งมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน องค์กรเอกชนหลายแห่งเริ่มมีการพัฒนาธุรกิจ โดยไม่มองผลประโยชน์ด้านการลงทุนหรือเน้นกำไรสูงสุด แต่ทำธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ได้แก่ Environmental, Social and Governance คือให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล