อาชญากรรมเศรษฐกิจสะพัดในรอบ 2 ปี บริษัทไทย 28% โดนเรียกสินบน - Forbes Thailand

อาชญากรรมเศรษฐกิจสะพัดในรอบ 2 ปี บริษัทไทย 28% โดนเรียกสินบน

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Sep 2014 | 06:12 PM
READ 2849
ผลสำรวจตีแผ่ธุรกิจไทยเกือบครึ่งอาการหนัก ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ยักยอกสินทรัพย์-ทุจริตจัดซื้อ-รับสินบนพุ่ง แซงหน้าเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกไปแล้ว ปัญหาทุจริตในองค์กรฝังลึก เกิดจากคนในถึง 89% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกเช่นกัน
 
 
PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจ Economic Crime Survey ว่าด้วยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยประจำปี 2557 ซึ่งจัดทำติดต่อกันเป็นปีที่สองแล้วในประเทศไทย โดยสำรวจพบว่าบริษัทไทยถึง 37% ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง ขณะที่ผลสำรวจโดยเฉลี่ยในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกอยู่ 32% เท่ากัน
 
การฉ้อโกงที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) 71%, การทุจริตจัดซื้อ (Procurement fraud) 43%, การรับสินบนและคอรัปชั่น (Bribery and corruption) 39%, อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) 18% และการทุจริตทางบัญชี (Accounting fraud) 18%
 
วรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensics Advisory บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) และผู้จัดทำผลสำรวจ เปิดเผยว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทยในอนาคตต่อไป ครอบคลุมเกือบทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรม  ในขณะที่ปัญหาฉ้อโกงหรือทุจริตภายในองค์กรของไทย มากถึง 89% เกิดจากการกระทำของคนในองค์กร ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเอเชียแปซิฟิกที่ 61% และระดับโลกที่ 56%  ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราความเสี่ยงจากภัยของการฉ้อโกงในระดับกลางถึงระดับสูง
 
“อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตคอรัปชั่นในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน” วรพงษ์กล่าว
 
ผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจไทยเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี Global Economic Crime Survey ดำเนินการโดย PwC Forensic Services ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักธุรกิจและผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวน 5,128 รายใน 99 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งบริษัทชั้นนำในประเทศไทยจำนวน 76 ราย
 
การทุจริตคอรัปชั่นนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ผลสำรวจยังพบว่า ปัญหานี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อชื่อเสียง คุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ที่ส่งผลกระทบไปทั้งระบบซัพพลายเชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีผู้จัดการแผนกจัดซื้อหรือฝ่ายควบคุมคุณภาพมีส่วนร่วมกับการฉ้อโกงด้วย ปัญหาจะเกิดตามมาตั้งแต่ความปลอดภัย การเรียกคืนสินค้า หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ 

 
ปัญหาทุจริตจัดซื้อและการรับสินบน
 
ผลสำรวจยังระบุว่า การทุจริตในการจัดซื้อถือเป็นปัญหาและภัยร้ายแรงที่พบมากที่สุดเป็นอันดับสองทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก สำหรับประเทศไทยแล้ว น่าสังเกตว่ามักเกิดขึ้นในขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการ เมื่อมีการเสนอราคาจากผู้ขายหรือผู้จำหน่าย จากนั้นจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลงเป็นลำดับ ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือก การตรวจสอบคุณภาพ การทำสัญญา และการชำระเงิน อันเป็นผลมาจากกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่มีความเข้มงวด ในขณะที่ระดับโลกจะมีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อและรับสินบนอย่างเท่าๆ กัน ตลอดทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
 
“การที่ภาครัฐเตรียมแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ไขปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะช่วยให้กระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐเกิดประสิทธิผลสูงสุด”
 
ผลสำรวจยังพบว่า บริษัทไทยเกือบหนึ่งในสามหรือ 28% ที่ถูกเรียกร้องให้จ่ายสินบน (Bribe) ภายในช่วงเวลา 24 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าในระดับภูมิภาคและในระดับโลกที่ 18% ขณะเดียวกันมีผู้ถูกสำรวจอีก 24% ยอมรับว่าตนเองสูญเสียโอกาสทางธุรกิจให้แก่คู่แข่งที่เชื่อจ่ายสินบน
 
 
ผู้บริหารโกงมากกว่าครึ่ง
 
ผลสำรวจพบว่าการทุจริตภายในองค์กรส่วนใหญ่ มากถึง 56% เกิดจากการกระทำผิดของพนักงานระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับกลาง โดยแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับภูมิภาคที่ 52% และระดับโลกที่ 42%
 
“คนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่อยู่กับองค์กรอย่างน้อย 3 ถึง 5 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท รู้ทางหนีทีไล่ และมีความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างและกระบวนการทำงาน รวมทั้งเข้าถึงแหล่งข้อมูลของบริษัทได้เป็นอย่างดี”
 
เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการทุจริต บริษัทไทย 76% เชื่อว่าขึ้นอยู่กับโอกาสมากที่สุด ตามด้วยแรงจูงใจในการกระทำผิด (Incentive) ที่ 24%