ออมยาวผ่านประกันชีวิตรับมือสังคมสูงวัยในไทย - Forbes Thailand

ออมยาวผ่านประกันชีวิตรับมือสังคมสูงวัยในไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jun 2015 | 11:08 AM
READ 6740
เรื่อง Binayak Dutta
 
ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย เติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อัตราการเกิดที่ลดลง และความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอายุยืนขึ้น  ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ หรือ Ageing Society  

รายงาน “การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583”  โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2553 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ราว 9% ของประชากรทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2564 และ 20% ในปี 2574 ดังนั้น การวางแผนอนาคตเพื่อยามเกษียณจึงจำเป็นอย่างยิ่ง “กรมธรรม์ประกันชีวิต” จึงมีบทบาทมากขึ้นในแผนยามเกษียณของคนในยุคปัจจุบัน 

สมาคมประกันชีวิตไทยคาดว่า อัตราเบี้ยประกันชีวิตรวมในปี 2557 จะเติบโต 14.35% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 86% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แสดงให้เห็นว่าประชากรส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการทำประกันชีวิต อีกทั้งบริษัทประกันชีวิตต่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคง

ด้านลูกค้าสูงอายุมองเห็นความจำเป็นในการทำประกันชีวิตมากขึ้น เพราะไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลานและต้องการหลักประกันชีวิตเพื่อความคุ้มครองและการออมเงิน โดยคนวัยทำงานจะเริ่มขาดรายได้เมื่อเกษียณที่อายุ 60 ปี ต้องมีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณอย่างน้อย 10–15 ปี  ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงมุ่งออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น และลดข้อจำกัดเงื่อนไขในการทำประกันชีวิต เช่น ออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องตรวจ และตอบคำถามสุขภาพ ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องโรคประจำตัว สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เป็นปัญหาต่อการทำประกันชีวิต 

ในปี 2558  บริษัทประกันชีวิตทั้งหลายต่างมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองทั้งการคุ้มครอง ออมเงิน สุขภาพ ชดเชยรายได้ และให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ โดยสมาคมประกันชีวิตไทย ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเบี้ยประกันภัยรวมต่อ GDP เป็น 6% ในอีก 2 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.1% ของ GDP ซึ่งเบี้ยประกันในกลุ่มผู้สูงวัยจะมีส่วนช่วยการเติบโต เนื่องจาก มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายออกมาตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น
 
แต่ละบริษัทประกันชีวิตต่างมุ่งแข่งขัน และนำเสนอจุดเด่นผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้ลูกค้ากลุ่มสูงวัยได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญในการทำประกันชีวิตมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหาประกันชีวิตในแบบที่ต้องการ  ซึ่งปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีอยู่ในท้องตลาดมีอยู่มากมาย หลากหลายประเภท เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่น

แบบประกันเพื่อการสะสมทรัพย์
แบบประกันชีวิตที่มาพร้อมผลตอบแทน ซึ่งจุดเด่นของแบบประกันประเภทนี้ คือ ได้รับเงินคืน และได้รับเงินคืนระหว่างสัญญาและเมื่อสัญญาครบกำหนด และบางผลิตภัณฑ์อาจจะมีโอกาสในการรับเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของบริษัทอีกด้วย 

แบบประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจ และตอบคำถามสุขภาพ
แบบประกันสุขภาพ สามารถซึ่งแบบประกันที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เน้นจุดขาย “ไม่ต้องตรวจ” และ “ตอบคำถามสุขภาพ” เนื่องด้วยมีการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ มากมายที่โน้มน้าวใจทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าการทำประกันเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายดาย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ให้ความสำคัญกับแบบประกันประเภท เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิประโยชน์ของลูกค้า จึงได้มีการร่างกรอบการโฆษณาที่จะต้องไม่เกินจริง หรือ ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญในการจ่ายผลประโยชน์

แบบประกันชีวิตเพื่อความคุ้มครอง  
เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำประกันชีวิตเพื่อมุ่งเน้นการรับความคุ้มครอง และเป็นกองมรดกให้ลูกหลาน  ซึ่งจะเป็นความคุ้มครองระยะยาว และมีโอกาสรับเงินปันผลคืนเมื่ออยู่ครบสัญญา
 
แบบประกันชีวิตเพื่อการลดหย่อนภาษี
กรมธรรม์ประเภทนี้จะให้ทั้งความคุ้มครอง และได้รับเงินออมไว้ใช้ในอนาคตโดยไม่ต้องรอจนครบสัญญา ระยะเวลาคุ้มครองยาวนานถึงอายุ 85 ปี

แบบประกันชีวิตควบการลงทุน
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้สูงอายุที่สนใจในเรื่องของความคุ้มครองวัยเกษียณ และการลงทุนในกรมธรรม์เดียวซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสะสมเงินออม และรับผลตอบแทนสูง นอกจากจะมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นจากส่วนของการลงทุนแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตตลอดระยะเวลากรมธรรม์อีกด้วย
 
แบบสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ  หรือคุ้มครองโรคร้ายแรง
สำหรับผู้สูงอายุที่มีความกังวลใจเรื่องของสุขภาพ อุบัติเหตุ รวมถึงโรคประจำตัวต่าง ๆ และไม่ต้องการมีภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่าง ๆ มากมายในท้องตลาดที่เพิ่มความคุ้มครองโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น กลุ่มโรคมะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดสมอง เป็นต้น
 
การวางแผนทางการเงินและการออมในวัยเกษียณ จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยทำงานควรเริ่มวางแผนทางการเงินไว้ใช้ยามเกษียณตั้งแต่ยังอายุยังน้อยเพราะอัตราเบี้ยประกันภัยยังไม่สูงมากนัก อีกทั้งเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ครอบครัว รวมถึงแบ่งเบาภาระกับปัจจัยเสี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งการซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ ถือเป็นการออมเงินและเป็นการลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การจ่ายเงินบำนาญที่แน่นอน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 300,000 บาทต่อปี (ในกรณีที่ไม่มีเบี้ยประกันภัยคุ้มครองชีวิตแบบอื่นๆ) และที่สำคัญยังได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตซึ่งเป็นความพิเศษของการออมทรัพย์ในรูปแบบการทำประกันชีวิต
 
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์  สำหรับธุรกิจประกันชีวิตจะเข้ามามีบทบาทในการรองรับสภาวะสังคมผู้สูงอายุในอนาคต  ซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายใหม่กับตลาดธุรกิจประกันชีวิต เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับองค์กรแล้ว ถือว่ายังเป็นการหลักประกันสุขภาพที่ดีให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย


Binayak Dutta (บินายัค ดัตตา)
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 

คลิ๊ก อ่าน Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine ฉบับปัจจุบันและย้อนหลัง