หลังจากเป็นข่าวคึกโครมเรื่องนายกรัฐมนตรีจะส่งเทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐีไทย มาหารือเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดหนึ่งในมหาเศรษฐีระดับท็อป 5 อย่างตระกูล "อยู่วิทยา" ได้มีปฏิกิริยาตอบกลับจดหมายนายกฯ พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ
โดยช่วงบ่ายของวันที่ 30 เมษายน 2563 นายเฉลิม อยู่วิทยา ในฐานะผู้นำตระกูล "อยู่วิทยา" เจ้าของกิจการกระทิงแดงและเครื่องดื่มในกลุ่ม ได้เผยแพร่จดหมายตอบกลับนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอนำเสนอโครงการช่วยเหลือประชาชนอย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเรียนถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีใจความว่า ตามที่ท่านได้มีหนังสือ “ขอความร่วมมือระดับชาติเพื่อเอาชนะโควิด-19 ไปด้วยกันทั้งประเทศ” และส่งมายังผมนั้น ผมและครอบครัวอยู่วิทยาทุกคนต่างมีความรู้สึกกังวลใจไม่ต่างไปจากคนไทยทั้งประเทศ และนับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ครอบครัวอยู่วิทยาได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และได้ลงมือให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ครอบครัวอยู่วิทยาตระหนักดีว่าการระบาดที่รุนแรง ทำให้ธุรกิจเกือบทั้งหมดที่หล่อเลี้ยงประเทศหยุดชะงัก สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับประชาชนคนไทย นอกจากนั้นจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ยังสะท้อนถึงจำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสาหรับโรคอุบัติใหม่เริ่มขาดแคลน
ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศ พวกเราไม่รีรอที่จะยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่จำเป็นโดยทันที ซึ่งผมจะขออนุญาตนำเรียนเพื่อทราบดังนี้ โดยสิ่งที่ครอบครัวอยู่วิทยาได้ทำไปแล้ว ประกอบด้วย การช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ โดยครอบครัวอยู่วิทยา และบริษัทของครอบครัว ตระหนักถึงความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อนามาใช้รักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างทันท่วงที
เราจึงได้ใช้ทรัพยากรของบริษัทที่มีทั้งหมด เพื่อช่วยกันดำเนินการจัดซื้อ จัดหา และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความต้องการทั่วประเทศ รวมถึงยังได้บริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลไว้ใช้จ่ายในการจัดเตรียมครุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วย รวมมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มพนักงานบริษัท พนักงานขาย พนักงานโรงงาน ครอบครัวอยู่วิทยา และบริษัทของครอบครัวมีความห่วงใยในสวัสดิภาพของพนักงานทุกคน การดูแลพนักงานเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และมีความมั่นคงในอาชีพเป็นสิ่งสาคัญที่สุด และถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ เราก็ไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่อย่างใด ตรงกันข้ามเรากลับขยายตาแหน่งงานเพิ่มเติมอีกหลายตาแหน่ง
นอกจากนั้นเรายังสนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจได้รับจากการเดินทาง และสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานเป็นกะ เราได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับพนักงาน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ทาความสะอาดและฆ่าเชื้อไว้ในสถานที่ทางาน และภายในโรงงาน
สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในเบื้องต้นครอบครัวอยู่วิทยา ได้บริจาคอาหารและน้ำดื่มให้กับประชาชนที่ตกงาน ขาดแคลนรายได้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนั้นยังได้จัดทำถุงยังชีพ แอลกอฮอล์เจล และหน้ากากผ้า มอบให้กับชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกด้วย
ทุน 300 ล้านนำคนพึ่งตนเอง
โดยสิ่งที่ครอบครัวอยู่วิทยาจะทำต่อไป เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจมากมาย ทั้งปัญหาการขาดรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น ครอบครัวอยู่วิทยามองว่าชีวิตหลังโควิด-19 คนไทยต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอน การดำเนินชีวิตจะมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไป วิธีคิดและวิถีชีวิตใหม่ที่ต่างไปจากเดิมจะปรากฏชัดเจนขึ้น
ครอบครัวอยู่วิทยาจึงให้ความสาคัญกับปัญหาปากท้องของประชาชน โดยจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการที่เรากาลังจะทำ ได้มีกินมีใช้และสามารถพึ่งตนเองได้ในภาวะวิกฤต รวมถึงอาจจะมีกำลังเหลือไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ท้ังนี้ ครอบครัวอยู่วิทยาจะให้การสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นจำนวน 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรกเพื่อทำโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และ ภาคการศึกษา อาทิเช่น สถาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในการสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนที่มีเป้าหมายชีวิตเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการฝึกปฏิบัติวิธีการสร้างแหล่งอาหารเพื่อดูแลตนเองและครอบครัว จาก 100 คนแรกที่ผ่านการบ่มเพาะ จะออกไปแบ่งปันให้กับคนอื่นอีก 100 คน ก่อนที่จะขยายออกไปสู่อีก 100 ชุมชนใกล้เคียง
ด้วยโมเดลการพึ่งพาตนเองแบบนี้ จะนำพาคนไทย 1 ล้านคนให้รอดพ้นจากความอดอยากที่เผชิญอยู่ได้ โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ยังจะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งแบ่งปัน ยิ่งแลกเปลี่ยนมากขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจชุมชนซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สาคัญของประเทศก็จะยิ่งมีความมั่นคง และเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้น เรายังพร้อมที่จะสนับสนุนที่ดินว่างเปล่าของครอบครัว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ใช้เป็นต้นทุนในการเรียนรู้และพัฒนา โดยครอบครัวอยู่วิทยา ขอร่วมเป็นหนึ่งในทีมประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนให้โครงการนี้เกิดเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจน สวยงาม และแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงแนวทางการนำพาคนไทยให้ก้าวพ้นวิกฤต ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 และเมื่อทุกคนร่วมกันทำไม่ว่าจะมีวิกฤตร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้นอีก เราก็จะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ มีอาหารบริโภคได้อย่างยั่งยืน สังคมก็จะยั่งยืน และประเทศชาติก็จะยั่งยืนในที่สุด
โควิด-19 ถือเป็นวิกฤตของโลก การออกจากวิกฤตโดยให้บาดเจ็บน้อยที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น พวกเราทุกคนที่เป็นผู้ประกอบการยินดีที่จะช่วยประเทศอย่างเต็มที่ พวกเราพร้อมที่จะเดินเครื่องอย่างเต็มกำลังอีกครั้ง พร้อมที่จะจ้างคนเพิ่มอีกครั้ง พร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับคนไทย พวกเราทุกคนที่เป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า ขอเพียงให้รัฐบาลช่วยพิจารณากฎระเบียบ วิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการที่องค์กรธุรกิจจะช่วยเหลือสังคมและประชาชนให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวมากขึ้น
รวมถึงรัฐบาลอาจพิจารณาตั้งหน่วยงานกลางที่รวมศูนย์การบริหารในภาวะวิกฤตไว้ในหน่วยงานเดียว เพื่อคอยสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการได้ทำงานรวดเร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น ช่วยขจัดอุปสรรคที่ไม่เอื้อต่อการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่แผ่กิ่งก้านสาขาหล่อเลี้ยงคนในประเทศหลายล้านคนได้มีงานทำ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องการมากที่สุดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้
3 ข้อเสนอรับมือปัญหาอย่างยั่งยืน
ยิ่งไปกว่านั้น โควิด-19 ยังได้ทดสอบประเทศไทยว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ซึ่งนักรบเสื้อขาว ทัพหน้าที่แข็งแกร่งของเรา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยมีบุคลากรทางแพทย์ที่เก่งมากมาย มีระบบสาธารณสุขที่ดีไม่แพ้ชาติใดในโลก จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ขณะเดียวกัน โควิด-19 ยังบอกให้รู้อีกว่าอะไรคือสิ่งที่ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ซึ่งครอบครัวอยู่วิทยาขอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาบรรจุข้อเสนอแนะนี้เป็นวาระแห่งชาติ วาระที่จะยึดความมั่นคงของความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้ง เพื่อยกระดับทุนมนุษย์ของเราให้สูงขึ้น
ข้อเสนอของครอบครัวอยู่วิทยา ที่ต้องการให้เป็นวาระแห่งชาติ ประกอบด้วย
1.การมีโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มากพอ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะลดการพึ่งพาเวชภัณฑ์จากต่างชาติ และหันมาส่งเสริมการผลิตในประเทศ ด้วยการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนคนไทยจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้อย่างเพียงพอเมื่อถึงคราวที่จำเป็น
2.การจัดตั้งคลังอาหารและเวชภัณฑ์แห่งชาติ เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไป ความหวาดระแวงจะมีมากขึ้น ความวิตกกังวลจะเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต รัฐบาลควรที่จะสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการจัดตั้งคลังอาหารและเวชภัณฑ์แห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมีอาหารและเวชภัณฑ์ที่เพียงพอหากต้องต่อสู้กับวิกฤตใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเมื่อประชาชนมั่นใจการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าจะเป็นไปด้วยความสบายใจ และเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น
3.การปลูกฝังการหาเลี้ยงชีพแบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีวินัยทางการเงินการคลังที่ดีเยี่ยมประเทศหนึ่ง ถึงกระนั้นในยามวิกฤตเมื่อคนไม่มีเงินจะซื้ออาหาร รัฐบาลก็อาจจะจุนเจือคนทั้งประเทศได้ไม่เพียงพอและทั่วถึง การสอนให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดูจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก เรามีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากมาย แต่เราขาดการเรียนรู้เพื่อที่จะหามา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับคนไทยตั้งแต่เล็กๆ
ข้อความตอนท้ายของจดหมายตอบกลับนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครอบครัวอยู่วิทยาเชื่อว่าท่านในฐานะผู้นำจะสามารถพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้ และพวกเราในฐานะผู้ประกอบการและประชาชนคนไทย ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือประเทศของเราในครั้งนี้ ลงชื่อจดหมายโดย นายเฉลิม อยู่วิทยา ในนามของครอบครัวอยู่วิทยา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine