หนุนลงทุน อีอีซี ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

หนุนลงทุน อีอีซี ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

รัฐ เอกชน ผนึกกำลัง เร่งฟื้นการลงทุนอีอีซี ความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมชู 3+1 อุตสาหกรรมอนาคต การแพทย์ ดิจิทัล กลุ่มยานยนต์และขนส่ง ยกระดับไทยสู่ฐานการผลิตในภูมิภาคหอการค้าต่างชาติระบุสมาชิกสนใจลงทุนอุตสาหกรรม New S-Curve

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าสู่ระยะที่ 2 โดยแผนระยะ 5 ปี (2565 - 2566) ตั้งเป้าหมายวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากแผนระยะ 5 ปีแรก ที่มีเป้าหมายวงเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีการลงทุนในอีอีซี 1.6 ล้านล้านบาท ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า อีอีซียังคงให้ความสำคัญกับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve แต่ได้มาจัดกลุ่มการลงทุนใหม่เป็น 3 + 1 เป็น emerging clusters ที่สนับสนุน 12 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.Health & well-being เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 2. ดิจิทัล เช่น กลุ่มสมาร์ท อิเลกทรอนิกส์ 3. กลุ่ม Decarbonization เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และ + 1 คือ โลจิสติกส์เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนไทยสู่อุตสาหกรรมอนาคต

“โครงการต่าง ในอีอีซีจะยังคงเดินหน้าต่อไปแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบังและการพัฒนาเมืองการบิน (Airport City) จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับเครือข่ายโลจิสติกส์ที่หลากหลายในพื้นที่อีอีซี  สกพอ.ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง เพื่อสร้างระบบการทำงานโลจิสติกส์ที่ไร้รอยต่อ พร้อมลงทุนสาธรณูปโภคดิจิทัล โดยติดตั้งเครือข่าย 5G ในพื้นที่อีอีซีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ทั้งหมดนี้จะช่วยนำอีอีซีให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและการลงทุนของภูมิภาคเอเชีย” ดร.ลัษมณกล่าว

ต่างชาติยังสนใจลงทุน

สแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า การจัดงานสัมมนา “Reconnecting International Business with Thai Eastern Economic Corridor” ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีที่ผ่านมา สมาชิกของ JFCCT ให้ความสนใจอย่างมาก ปัจจุบันเรามีสมาชิกมากกว่า 9,000 บริษัทที่ลงทุนในประเทศไทย นโยบายการดึงดูดการลงทุนในอีอีซีครั้งนี้เป็นที่สนใจอย่างมาก เนื่องจากมีโครงการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะช่วยโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะใน 3 + 1 อุตสาหกรรม ซึ่งมีศักยภาพ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในกลุ่มดิจิทัลมีความคืบหน้ามากที่สุด โดยอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ท อิเลกทรอนิกส์ เช่น กลุ่มผู้ประกอบชิ้นส่วนสำหรับ EV หรือกลุ่ม smart devices เนื่องจากพื้นที่อีอีซีมีพื้นที่ใกล้กับสนามบินถึงสองแห่ง คือสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกได้เป็นอย่างดี สำหรับทิศทางการลงทุนในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนมีการปรับตัวพึ่งพาระบบอัตโนมัติ และโรงงานอัจฉริยะมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดพึ่งพาแรงงานคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น รวมถึงเทคโนโลยี 5G เข้ามีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ การลงทุนยังมุ่งไปสู่ทิศทาง BCG เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งสอดรับกับเทรนด์การลงทุนในอีอีซี

ยกระดับพัทยาสู่ริเวียร่าไทยแลนด์

สุวิมล ตวงวุฒิกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี  กล่าว่า ปัจจุบันชลบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ เมื่อรวมเข้ากับฉะเชิงเทราและระยอง ทั้งสามจังหวัดในอีอีซี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงถึง ร้อยละ 14.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ

ตัวเลขนี้สามารถผลักดันให้สูงขึ้นอีกได้ เมื่อมีบริษัทในภาคการผลิตและภาคบริการบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมเข้ามาจัดตั้งในพื้นที่  เช่น บริษัทในกลุ่มกระบวนอัตโนมัติและหุ่นยนต์  กลุ่มอากาศยานและการขนส่ง  กลุ่มพลังงานชีวมวลและชีวเคมี  รวมทั้งกลุ่มธุรกิจดิจิทัล  ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแก่บุคคลในท้องที่

นอกจากนี้ เมืองพัทยา ที่กำลังประชาสัมพันธ์โครงการ Pattaya Moves On ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสความสนใจมายังแผนการเปิดเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรีมากขึ้นซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้

ด้าน จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กล่าวว่า

พัทยาได้ชื่อว่าเป็นริเวียร่า ไทยแลนด์ และเป็นหนึ่งใน 10 เมืองไมซ์ที่มีศักยภาพในการจัดการประชุมนานาชาติได้ ซึ่งทาง สสปน.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสององค์กรและส่งเสริมความร่วมมือในโครงการ “One Chamber One Community”

สำหรับการจัดกิจกรรมเชิงธุรกิจในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความพร้อมและศักยภาพในการเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE cities)

“การจัดงานสัมมนา EEC Business Forum ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงให้เห็นความพร้อมของพัทยาในการเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับการจัดประชุมและกิจกรรมด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพื่อเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้จิรุตถ์กล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม: “อาลีบาบา คลาวด์” ปักฐานธุรกิจไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine