ส่องความสำคัญของ ‘น้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย’ หลังยุโรปจ่อเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร - Forbes Thailand

ส่องความสำคัญของ ‘น้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย’ หลังยุโรปจ่อเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร

FORBES THAILAND / ADMIN
09 May 2022 | 07:54 AM
READ 2885

ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม Malcolm Melville ผู้จัดการกองทุนของ Schroders ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับนัยยะสำคัญและแนวโน้มของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันสถานการณ์สงครามรัสเซียบุกยึดยูเครนได้ก้าวเข้าสู่เดือนที่สองแล้ว บรรดาชาติตะวันตกขู่จะเพิ่มมาตราการคว่ำบาตรรัสเซียให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก็ใช้น้ำมันและก๊าซเป็นอาวุธต่อรองทางการเมือง ส่งผลให้อุปทานของแหล่งพลังงานสำคัญทั้งสองยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะหยุดชะงักหรือขาดแคลนพลังงานได้ ในการประชุมครั้งสำคัญที่จะถึงนี้ กลุ่มเอกอัครราชทูตยุโรปได้เตรียมหารือถึงการคว่ำบาตรรัสเซียที่ต้องยกระดับความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการนำเข้าถ่านหิน ภายหลังจากที่ Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศห้ามการนำเข้าน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซีย แต่ไม่ใช่ก๊าซ เพื่อตอบโต้การกระทำอันโหดร้ายทารุณของรัสเซียในเมืองบูชา ประเทศยูเครน จนถึงตอนนี้ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของรัสเซียยังคงถูกลำเลียงส่งไปยังยุโรป โดยนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มต้นบุกรุกยูเครน ประเทศในยุโรปหลายประเทศได้ประกาศแผนการเตรียมลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ประกาศห้ามการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียอย่างชัดเจน เนื่องจากทางยุโรปยังคงขาดตัวเลือกด้านแหล่งพลังงานอื่นๆ อยู่ในระยะสั้น และในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์นี้ ลิทัวเนียเป็นเพียงประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่ประกาศไม่ใช้ก๊าซของรัสเซียอย่างเด็ดขาด ในขณะเดียวกัน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปูตินกล่าวว่ารัสเซียจะเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ซื้อก๊าซในยุโรปจ่ายค่าก๊าซเป็นสกุลเงินรูเบิลของรัสเซีย โดยย้ำว่าการชำระเงินเป็นสกุลเงินยูโรหรือดอลลาร์จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาโดยผู้ซื้อ และอาจส่งผลให้สัญญาการซื้อขายถูกระงับ ขณะที่แผนการจัดหาแหล่งพลังงานของยุโรปยังคงดำเนินต่อไป เราลองมาพิจารณาประเด็นสำคัญต่อไปนี้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าอุปทานแหล่งพลังงานของรัสเซียสำคัญต่อตลาดน้ำมันและก๊าซทั่วโลกอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานพลังงานนี้ อาจส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

การผลิตน้ำมันของรัสเซียมีความสำคัญต่ออุปทานทั่วโลกอย่างไร

ในปี 2564 น้ำมันของรัสเซียคิดเป็น 12.4% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมากกว่าซาอุดิอาระเบียและเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา โดยรัสเซียผลิตน้ำมันได้ประมาณ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเกือบ 4.3 ล้านบาร์เรลของปริมาณการผลิตดังกล่าวถูกส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา

โลกจะสูญเสียน้ำมันจากรัสเซียมากน้อยแค่ไหน

Malcolm Melville  ผู้จัดการกองทุนพลังงานของ Schroders กล่าวว่า “ตัวเลขคาดการณ์ของแต่ละตลาดอาจแตกต่างกันออกไป แต่คาดว่าโลกจะสูญเสียปริมาณน้ำมันมากถึง 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือประมาณร้อยละ 4 ของอุปทานน้ำมันทั้งหมดทั่วโลก ในระหว่างที่รัสเซียยังคงบุกยึดยูเครนอยู่ในขณะนี้ “ก่อนที่รัสเซียจะเข้าบุกยึดยูเครน ตลาดคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซียจะเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันทั่วโลกอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตลาดคาดว่ารัสเซียจะลดกำลังการผลิตลงซึ่งจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมันอย่างรุนแรง”

การขาดแคลนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันอย่างไร

มัลคอล์ม กล่าวว่า “หากรัสเซียเริ่มลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ผลกระทบอาจรุนแรงและส่งผลอย่างถาวร เพราะตอนนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำมันประมาณ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันได้ โดยล่าสุดการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่งถูกขัดขวางจากหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Controls) ปัญหาการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) และปัญหาด้านกำลังการผลิต “นอกจากนี้ ยังมีความหวังว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านบางส่วนจะถูกยกเลิก และอิหร่านอาจสามารถผลิตน้ำมันได้เพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงขาดแคลนน้ำมันเป็นจำนวนทั้งหมด 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันนี้ ประกอบกับปัญหามูลค่าสินค้าคงคลังที่ต่ำลงจนทุบสถิติ อาจหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้”

อุปทานก๊าซของรัสเซียมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

อุปทานก๊าซของรัสเซียมีความสำคัญอย่างมากที่สุดต่อประเทศในยุโรป โดยก๊าซของรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของปริมาณการนำเข้าก๊าซทั้งหมดของยุโรป ระดับปริมาณก๊าซที่ถูกจัดเก็บไว้ในยุโรปมีจำนวนคงเหลือน้อยลงแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ปริมาตรความจุเต็มที่ 25% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลที่ 38% ดังนั้นจึงถือว่าเหลือให้ใช้น้อยมาก และคณะกรรมาธิการยุโรปยังประกาศยืนยันแล้วด้วยว่าปริมาณก๊าซที่จัดเก็บจะต้องเต็ม 80% ภายในฤดูหนาวหน้า มัลคอล์ม กล่าวเสริมอีกว่า “หากก๊าซกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในภาวะสงคราม ก็นับเป็นเรื่องยากที่จะหาอะไรมาทดแทนการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียได้ ยุโรปกำลังพยายามกระจายอุปทานและค้นหาแหล่งผลิตก๊าซอื่นๆ  โดยตั้งความหวังไว้ที่สหรัฐฯ เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มันต้องใช้เวลาและกำลังการผลิตก๊าซของสหรัฐฯ ช่วยได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซที่รัสเซียจัดหาให้ โดยปัญหาความกังวลที่เกี่ยวข้องกับอุปทานก๊าซส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับเพิ่มขึ้นเป็น 120 ยูโรต่อเมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งพุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง 6 เท่า” หากในกรณีที่รัสเซียตัดสินใจปิดก๊อกไม่ส่งก๊าซและน้ำมัน คณะกรรมาธิการยุโรปอาจหาวิธีการลดอุปสงค์หรือความต้องการพลังงานทั้ง 2 ชนิดให้น้อยลง ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหลักอาจปิดตัวลง ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เยอรมนีและออสเตรียได้เริ่มจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแบ่งสรรปันส่วนการจ่ายก๊าซในกรณีที่เกิดการขาดแคลนแบบฉับพลันแล้ว ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ หากรัสเซียตัดสินใจหยุดจ่ายก๊าซ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าปริมาณก๊าซที่ยุโรปจัดเก็บไว้อาจหมดลงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน *บทวิเคราะห์โดย วาเลนตินา โรมีโอ นักเขียนด้านการลงทุน

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine
 

Forbes Thailand ใช้คุ้กกี้บนเว็บไซต์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน ท่านตกลงใช้งานคุ้กกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์ต่อไปนโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายความการใช้คุกกี้