สำรวจพบผู้บริหารทั่วโลก ‘ไอคิวดิจิทัลต่ำ’ - Forbes Thailand

สำรวจพบผู้บริหารทั่วโลก ‘ไอคิวดิจิทัลต่ำ’

FORBES THAILAND / ADMIN
25 Nov 2014 | 11:05 PM
READ 2302
PwC เผยธุรกิจทั่วโลกมีผู้บริหารระดับสูงแค่ 20% เท่านั้นที่ Digital IQ แกร่ง แยกรายธุรกิจพบผู้บริหารค้าปลีกรั้งท้าย แนะเร่งปรับตัวรับ Digital Economy  กระตุ้นธุรกิจไทยรีบวางแผน IT แต่เนิ่นๆ ก่อนเข้ายุคประชาคมฯ
 
 
วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยผลสำรวจ Digital IQ Survey ครั้งที่ 6 ซึ่งเก็บข้อมูลจากซีอีโอและผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่า 1,500 รายใน 36 ประเทศทั่วโลก พบว่า  การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารระดับสูงในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officer) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด (Chief Marketing Officer) เป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้องค์กรวางกลยุทธ์ด้านดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของตลาด ช่วยให้รู้เท่าทันโอกาส และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง
 
“น่ากังวลว่าความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรส่วนใหญ่ ในการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดธุรกิจโดยรวมยังต่ำมาก จากผลสำรวจพบว่า มีซีอีโอทั่วโลกเพียง 20% เท่านั้นที่มีไอคิวดิจิทัลที่แข็งแกร่ง คือ มีความเข้าใจ มีความสามารถในการประเมินผล และนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้อย่างแท้จริง” 
 
ดังนั้นแล้ว เธอย้ำว่า สิ่งสำคัญในการยกระดับไอคิวดิจิทัลขององค์กรคือวิสัยทัศน์ของผู้นำ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลากมิติ ไม่ว่าจะการเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ หรือการเจาะตลาดใหม่ ผู้บริหารถึง 74% บอกเราว่า การก้าวให้ทันเทคโนโลยีถือเป็นความท้าทายทางธุรกิจของตน แต่กลับพบว่าธุรกิจเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการหยิบยกประเด็นนี้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนหรือกลยุทธ์เพื่อหาแนวทางรับมือหรือหาโซลูชั่นให้กับองค์กรอย่างแท้จริง
 
หนทางก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลก็ความสัมพันธ์อันดีของผู้นำระดับสูงในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรเข้ายุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
 
ในยุคการทำตลาดออนไลน์หรือ digital marketing กำลังมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้นนั้น วิไลพรกล่าวว่า บทบาทหน้าที่และการทำงานร่วมกันระหว่าง CIO และ CMO ยิ่งต้องมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ร่วมกันเพื่อ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การกำหนดงบประมาณ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์ของบริษัทไปพร้อมๆ กับผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ 
 
“ผลสำรวจพบว่า บริษัทที่เป็น top performer หรือมีผลประกอบการแข็งแกร่งถึง 70% มี CIO และ CMO ที่ทำงานใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง เปรียบเทียบกับ 45% ของกลุ่มที่เป็น non-top performer”
 
ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจประจำปี PwC’s Global CEO Survey คาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Breakthrough) จะเป็น 1 ใน 5 เมกะเทรนด์ ที่มีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในโลกมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ สำนักวิจัย Gartner ยังประเมินแนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปีนี้ ว่ามีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า ซีอีโอจะต้องเร่งพัฒนาไอคิวดิจิทัลของตน เพื่อฉวยโอกาสทางธุรกิจ และให้เท่าทันภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น



 


ผลสำรวจพบอีกว่า ผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพปรับตัวต่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาในองค์กรมากที่สุด (82%) รองมาคือธุรกิจยานยนต์ (80%) และ พลังงานและเหมืองแร่ (78%) ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก (59%) กลับเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนผู้บริหารที่มีไอเดีย หรือเป็นผู้นำทางความคิดในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Digital champions) น้อยที่สุด
 
ส่วนเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในโลก 5 ประเภทแรก ได้แก่ เทคโนโลยีบนมือถือ (Mobile Customer Technology) ระบบคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) การทำเหมืองข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data Mining and Analysis) โซเชียลมีเดีย (Social Media) และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศของลูกค้า (Cybersecurity) ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นกลยุทธ์หลักของทุกธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
 
สำหรับประเทศไทยนั้น การลงทุนด้านไอทีแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความพร้อมในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แม้ว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จะเติบโตสูงขึ้น และยังเป็นช่องทางสร้างยอดขายให้กับหลายองค์กรก็ตาม

เมื่อภาครัฐผลักดันให้ไทยมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นการช่วยวางรากฐานให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคส่วนต่างๆ มีมูลค่าสูงขึ้น ขณะที่เอกชนเองก็ต้องเริ่มวางแผนกลยุทธ์รวมทั้งลงทุนด้านไอที เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้นด้วย
 
“ปัจจุบัน บ้านเรามีการผนวกกิจกรรมเศรษฐกิจเข้ากับไอที จนอาจเรียกได้ว่าเราเป็น Digital Economy ในระดับหนึ่ง มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ไอทีของงานภาครัฐ ส่วนในภาคธุรกิจที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังไทยเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีหน้า  ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ”