สยามพิวรรธน์ เดินหน้าปั้นโมเดลค้าปลีกอนาคต - Forbes Thailand

สยามพิวรรธน์ เดินหน้าปั้นโมเดลค้าปลีกอนาคต

เจาะลึกแนวคิด "สยามพิวรรธน์" ศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ในสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ดันกลยุทธ์ “ร่วมกันสร้างสรรค์” และ “สร้างคุณค่าร่วมกันทุกฝ่าย“ เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน  สยามเซ็นเตอร์  สยามดิสคัฟเวอรี่ และพันธมิตรเจ้าของโครงการไอคอนสยาม เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทำให้ทุกองค์กรต้องเร่งที่จะพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคเช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะศูนย์การค้าที่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม สยามพิวรรธน์เชื่อมั่นในแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากนับตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งในปี 2502 และยกให้เป็นหนึ่งในปณิธานหลักของบริษัทในการพัฒนาโครงการให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อส่วนรวมที่สร้างคุณค่าต่อผู้คน ชุมชนสังคมและประเทศชาติ ส่งผลให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจ “ร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และการสร้างคุณค่าสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Values)” ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนจากภูมิปัญญาไทยและความคิดสร้างสรรค์ส่งต่อประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากในสังคมไทยและทั่วประเทศตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม “โครงการที่สยามพิวรรธน์ริเริ่มปลูกฝังแนวคิดการส่งต่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนเป็นวงกว้าง สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ มีการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดความสำเร็จร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการทำกิจกรรมเพียงครั้งคราวแล้วจบไป สยามพิวรรธน์ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อที่จะสร้างรูปแบบธุรกิจต่างๆ ของการค้าปลีกที่ได้มีโอกาสใช้ธุรกิจและสถานที่ของสยามพิวรรธน์เป็นเวทีของการนำเสนอสินค้าและบริการในหลากหลายประเภท” ชฎาทิพ ย้ำถึงโมเดลธุรกิจการสร้างความยั่งยืนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สยามพิวรรธน์
ภาพร่างของ สุขสยาม
นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องการขายและการตลาดสมัยใหม่ สร้างกระบวนการในการเรียนรู้การทำธุรกิจและออมเงินสำหรับผู้ประกอบการนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหาพันธมิตรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาให้ความรู้เรื่องการออมและการลงทุน เพื่อผลักดันให้ Local Hero เติบโตไปสู่การเป็น Global Hero ต่อยอดสู่การค้าขายในเวทีโลก สำหรับโครงการที่บริษัทได้ริเริ่มเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย เช่น โครงการไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) บนพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร ซึ่งได้รวบรวมผลงานจากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุด และเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในมุมมองใหม่ลงบนงานหัตถศิลป์ โครงการ ไอคอนคราฟต์  เพื่อให้ช่างฝีมือและผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 500 รายได้มีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจแบบโมเดิร์นเทรด โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับด้านการสร้างแบรนด์ การตลาด และการจัดการด้านการเงินต่างๆ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายสามารถขยายธุรกิจและได้รับการติดต่อให้นำสินค้าไปวางจำหน่ายในต่างประเทศด้วย สยามพิวรรธน์ ขณะเดียวกันโมเดลศูนย์การค้าในอนาคตยังควรให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เช่น โครงการ Ecotopia หรือเมืองแห่งคนรักษ์โลก  ซึ่งเป็นอีโค่คอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ด้วยความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และตอบสนองไลฟ์สไตล์อีโค่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีสุขภาพดีและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน รวมถึงไลฟ์สไตล์  Sustainable Living ซึ่งรวมสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิลได้ พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจัดโซนที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 300 แบรนด์ ได้นำงานฝีมือและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน “พื้นที่ Ecotopia เกิดจากการสร้างสรรค์ และความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้นำด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ รวม 12 ท่าน ที่ได้ร่วมกันรังสรรค์พื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งความสุขที่เติบโตอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นบนโลก สร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและธรรมชาติ” สยามพิวรรธน์ ชฎาทิพกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างเวทีที่เปิดโอกาสการดำเนินธุรกิจและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการผ่านสุขสยาม ซึ่งย้ำชัดถึงแนวคิดร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และการสร้างคุณค่าสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Values) ด้วยการรวบรวมผู้ประกอบการท้องถิ่นและช่างฝีมือกว่า 3,000 ราย จากทุกจังหวัดทั่วประเทศมานำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทยจนเกิดเป็นกลไกของระบบนิเวศทางการค้า (commercial ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนั้น ศูนย์การค้ายังสามารถร่วมกันสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ ด้วยพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถต่อยอดการพัฒนาสินค้าของแต่ละชุมชนให้ดียิ่งขึ้น และเป็นเวทีในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีกและค้าส่งสู่ต่างประเทศ รวมถึงการตลาดรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร (Omni Channel) และการบริหารจัดการสินค้าโดยมีผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ และผู้ได้รับประโยชน์ในวงกว้าง เช่น การจัดตั้ง Sook Siam Academy สร้างผู้ประกอบการในสุขสยามให้เป็นครูถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งผ่านมาบริษัทได้มีส่วนร่วมผลักดันธุรกิจขนาดเล็กหลายรายให้สามารถดำเนินธุรกิจในต่างประเทศได้สำเร็จและมีเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง “โครงการเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของโมเดลธุรกิจที่เราเชื่อว่าการร่วมกันรังสรรค์ สร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย คือหัวใจหลักที่จะพัฒนาคนและสร้างสมดุลของระบบนิเวศทางการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่จะทำให้ทุกคนในสังคมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” ชฎาทิพกล่าวปิดท้าย   อ่านเพิ่มเติม: เกษรวิลเลจ เปิดกลยุทธ์ปรับคอนเซ็ปต์ย้ำผู้นำไฮเอนด์ไลฟ์สไตล์เออร์บันวิลเลจ