สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ใจชื้นรัฐคลายล็อคระยะที่ 6 - Forbes Thailand

สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ใจชื้นรัฐคลายล็อคระยะที่ 6

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Aug 2020 | 06:09 PM
READ 3594

นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายก สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ใจชื้นรัฐคลายล็อคระยะที่ 6 เปิดทางให้กลุ่มเดินทางเข้ามารับการรักษาโรค ภายใต้มาตรการกักตัว ย้ำเป็นธุรกิจศัลยกรรมความงามเป็น “แม่เหล็ก” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

สาธารณสุขของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า สามารถรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดกับโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จนคาดการณ์กันว่าหลังจบโควิด-19 ไทยจะกลายเป็นประเทศเป้าหมายของบรรดานักธุรกิจและมหาเศรษฐีจากทั่วโลก ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขทั้งการรักษาโรค สุขภาพและศัลยกรรมความงาม ได้รับการยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจ “แม่เหล็ก” เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมา จากมาตรการคลายล็อคระยะที่ 6  ซึ่งเริ่มผ่อนปรนให้กลุ่มชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาโรค การดูแลสุขภาพและศัลยกรรมเพื่อความสวยงามได้ ตามมาตรการกักตัว 14  วัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน และอดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "ยินดีมากที่รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจศัลยกรรมความงาม ยกระดับให้เป็นธุรกิจแม่เหล็กของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ผมอยู่ในวงการนี้มาเลยครับ ในฐานะนายกสมาคมฯ ผมการันตีได้ว่า ศัลยกรรมความงามของประเทศไทยดีที่สุดในโลก ประเทศเราสามารถทำศัลยกรรมให้กับสาวประเภทสอง จนประกวดได้ตำแหน่งสาวประเภทสองที่สวยที่สุดในโลก ศัลยแพทย์ฝีมือดีที่สุดในการทำศัลยกรรมความงามให้กับกลุ่มคนผิวเหลือง ไม่รวมกลุ่มคนตะวันตกเพราะโครงหน้า และลักษณะของอวัยวะส่วนต่างๆ แตกต่างกัน" สำหรับการคลายล็อคดังกล่าว นายแพทย์ชลธิศ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างมาก เพราะศัลยกรรมความงามเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าการตลาดให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์สูงมาก เนื่องจากการทำหัตถการต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางของแพทย์ ขณะเดียวกันผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจับจ่ายสูง  ที่ผ่านมาจะเข้าพักในโรงแรมหรู รับประทานอาหารแพงๆ ช้อปปิ้งในห้างดัง ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มธุรกิจต่างๆ อีกด้วย การคลายล็อคธุรกิจนี้จึงเป็นการเริ่มต้นกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ถูกจุด และเหมาะสมกับเวลามากที่สุด พร้อมกันนี้ได้เสนอมาตรการกักตัว (Quarantine) จาก 14 วัน เป็น 7+7  โดยกักตัวจากประเทศต้นทาง 7 วัน (ที่เชื่อถือได้) และในประเทศไทย 7 วัน รวมเป็น 14  วัน พร้อมแนะหาวิธีลดขั้นตอนการทำเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ามารับบริการ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการติดต่อให้น้อยที่สุดลดการแพร่ระบาด และยังสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้ามาติดต่อได้อีกด้วย “ความปลอดภัยต้องมีเป็นอันดับแรก สำหรับแพทย์ โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลผู้ให้บริการ มีขั้นตอนการตรวจรับที่เข้มข้นอยู่แล้วเนื่องจากเป็นบุคลากรที่อยู่กลุ่มสาธารณสุข และต้องมีความมั่นใจในความปลอดภัยทั้งจากผู้เข้ามารับบริการ และการบริหารจัดการของประเทศต้นทางเท่านั้นจึงกล้าที่จะเปิดรับ”
นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน และอดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย
ในส่วนการปรับตัวของสถานพยาบาล หรือคลินิกต่างๆ  ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 นี้ นอกจากนี้การเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการ ตามแนวทางของศบค.แล้ว  การรักษาความสะอาดพื้นที่ทุกตารางนิ้ว รวมถึงในอากาศให้ปราศจากเชื้อโรคเป็นข้อตระหนักสำคัญที่ทุกสถานพยาบาล และคลินิกต่างๆ ดำเนินการอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้เข้าบริการส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็คุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ หรือ New Normal ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ  และ Social distancing “ตั้งแต่เปิดให้บริการหลังมาตรการคลายล็อค ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทยในประเทศ และคนไทยที่มาจากต่างประเทศ เพราะลูกค้าต่างชาติจริงๆ การเดินทางเข้ามาใช้บริการปัจจุบันต้องดำเนินการทำเอกสารหลายขั้นหลายตอน ทำให้เกิดความไม่สะดวก ซึ่งหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ควรเร่งดำเนินการปรับลดขั้นตอนดังกล่าว เช่น การใช้วิธี Fast Tract เป็นต้น ปัจจุบันการแพทย์ไทยมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว แต่ยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนให้เติบโตและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างจริงจัง” นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ที่ผ่านมาลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการทำศัลยกรรมความงามในประเทศไทย นายแพทย์ชลธิศเปิดเผยว่า กลุ่มใหญ่ คือ กัมพูชา  ตามด้วย ออสเตรเลีย ลาว และพม่า “มูลค่าตลาดของธุรกิจศัลยกรรมไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท ปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 3.96-4.3 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2563 ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท” อย่างไรก็ตามการส่งเสริมสนับสนุนให้ไทยเป็น Medical Hub ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพและศัลยกรรมความงามอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว และการสร้างผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพสูง จำหน่ายให้กับชาวต่างชาติกลุ่มนี้ จะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยให้เติบโตอย่างมหาศาลอย่างแน่นอนฃ อ่านเพิ่มเติม: กลุ่มธนาคารยูโอบี เผยผลกำไรสุทธิครึ่งแรกปี’63 ลดลง 30 % โชว์การเงินยังแกร่ง

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine