สตาร์ทอัพวิจัยวัคซีนต้าน “มะเร็ง” รับเงินลงทุน 93 ล้านเหรียญจาก Google และยักษ์วงการยาโลก - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพวิจัยวัคซีนต้าน “มะเร็ง” รับเงินลงทุน 93 ล้านเหรียญจาก Google และยักษ์วงการยาโลก

กองทุนเวนเจอร์แคปิตอลในพอร์ตของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์ Eli Lilly และ Alphabet บริษัทแม่ของ Google อัดฉีดเงินทุนมูลค่า 92.7 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับสตาร์ทอัพที่กำลังใช้เทคโนโลยี Machine Learning สร้างแนวทางรักษาแบบเฉพาะบุคคลสำหรับโรคมะเร็งปอดและมะเร็งช่องท้อง ดีลการลงทุนนี้เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งว่าเงินลงทุนส่วนตัวของเศรษฐีกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ภาคธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

Gritstone Oncology สตาร์ทอัพจากเมือง Emeryville รัฐ California เตรียมนำเงินลงทุนดังกล่าวใช้ก่อสร้างพื้นที่ผลิตยารักษาโรคขนาด 43,000 ตารางฟุต และสนับสนุนการทดลองในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงกลางปีหน้า โดย Andrew Allen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ Gritstone เคยได้รับเงินลงทุนมาแล้ว 103 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งยังคงเหลืออยู่ประมาณ 15 ล้านเหรียญ และเงินลงทุนก้อนใหม่ที่ได้รับเพิ่มเติมจะทำให้ Gritstone สามารถเริ่มการทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรก และคาดว่าจะทราบผลลัพธ์ของการทดลองในช่วงสิ้นปี 2019

Allen ซึ่งเคยมีตำแหน่งระดับอาวุโสในบริษัท Clovis Oncology (บริษัทเวชภัณฑ์ขนาดกลางของสหรัฐฯ เน้นหนักด้านโรคที่เกี่ยวกับเนื้องอก) และบริษัท Pharmion (บริษัทเวชภัณฑ์เน้นด้านเนื้องอกและโลหิตวิทยา) กล่าวต่อว่า ความเข้าใจขั้นสูงเกี่ยวกับวิธีการที่ระบบภูมิคุ้มกันใช้ต่อสู้กับมะเร็งทำให้บริษัทนี้เกิดขึ้นได้

(Photo Credit: Oncology News Australia)
Allen กล่าวว่า มะเร็งเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งถ้ามีเซลล์เหล่านี้เกิดขึ้นจำนวนหนึ่งจะถูกเรียกว่า “drivers” และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นเพียงความซับซ้อนของจีโนม โปรตีนที่เปลี่ยนแปลงไปที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “นีโอแอนติเจน” จะเข้าไปเกาะกลุ่มอยู่รอบนอกของเซลล์มะเร็งและสามารถตรวจจับได้ด้วย “ที-เซลล์” (เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) ในร่างกายมนุษย์ แต่ก่อนจะตรวจจับได้ ที-เซลล์จำเป็นต้องได้รับการฝึกให้รู้จักนีโอแอนติเจนเหล่านี้ก่อน Gritstone จะนำตัวอย่างเนื้องอกจากคนไข้แต่ละราย จากนั้นใช้คอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ตัวอย่างชิ้นเนื้องอกและตรวจจับนีโอแอนติเจนที่เกาะกลุ่มกันอยู่รอบเซลล์ในชิ้นเนื้อ แอนติเจนจะถูกนำไปใส่ใน “อะดีโนไวรัส” เพื่อสร้างวัคซีน จากนั้นคนไข้จะได้รับวัคซีนจากการผลิตด้วยเทคโนโลยีวัคซีน RNA Anthony Philippakis พาร์ทเนอร์ในกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล GV ของ Alphabet กล่าวว่า แนวคิดนี้อาจเป็น “ความพยายามที่สำคัญและเปลี่ยนแปลงโลกได้” ด้าน Judith Li พาร์เนอร์กองทุน Lilly Asia Ventures ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ Gritstone ระบุในแถลงการณ์ชิ้นหนึ่งว่า Gritstone กำลังมุ่งเน้นการศึกษาไปที่ชิ้นเนื้อคนไข้ในแถบเอเชียตะวันออก สำหรับเงินลงทุนรอบล่าสุดของ Gritstone นอกจากจะมาจากสองบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวแล้ว ยังได้รับจากนักลงทุนรายใหม่ คือ Trinitas Capital (Beijing) และ Alexandria Venture Investments ส่วนนักลงทุนรายเดิมที่ลงทุนในรอบก่อนๆ ได้แก่ Versant Ventures, The Column Group, Clarus Funds และ Frazier Healthcare Partners  

แปลและเรียบเรียงจาก Personalized Cancer Vaccine Company Raises $93 Million โดย Matthew Herper/Forbes.com