“วี ฟู้ดส์” เปิดแผนร่วมลงทุนสตาร์ทอัพ “มอร์มีท” เจาะตลาดแพลนต์เบสไทย - Forbes Thailand

“วี ฟู้ดส์” เปิดแผนร่วมลงทุนสตาร์ทอัพ “มอร์มีท” เจาะตลาดแพลนต์เบสไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Dec 2020 | 06:03 PM
READ 1442

“วี ฟู้ดส์” เปิดแผนร่วมลงทุนสตาร์ทอัพ “มอร์มีท” เจาะตลาดแพลนต์เบสไทย คาดปี 2564 วี ฟู้ดส์ สามารถเติบโตในตลาดอาหารแพลนต์เบส ด้าน วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด ชี้ เทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเติบโตมากถึง 36% ต่อปี

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ วี คอร์น และ วี ฟาร์ม กล่าวว่า ล่าสุดวี ฟู้ดส์ ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “มอร์มีท” ซึ่งเป็นบริษัทฟู้ดเทคสตาร์ทอัพที่ผลิตและจัดจำหน่ายโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) โปรเจกต์ “V Farm x More Meat” เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันภายใต้การออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “ลาบทอด ผลิตจากพืช” จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ วีฟาร์ม (V Farm) โดยเป้าหมายในครั้งนี้คือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการรับประทานโปรตีนจากพืชที่มีคุณสมบัติที่ดีทั้งในด้านรสชาติ คุณประโยชน์ และต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสก้าวสู่สินค้าในรูปแบบพร้อมรับประทานหรือ Ready To Eat  ซึ่งยังมีไม่มากนักในตลาดของประเทศไทยตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้รับประทานอาหารแพลนต์เบสที่มีคุณภาพดีในราคาไม่แพง เพื่อลดการนำเข้าบางสินค้าที่มาจากต่างประเทศ
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
“สินค้าโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) เป็นกระแสที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ผ่านมาที่เป็นตัวแปรให้ผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน กลุ่มที่บริโภคมังสวิรัติ ผู้สูงอายุ วัยรุ่น ให้ความสนใจและเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้กันเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและการสรรหากระบวนการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ยังขาดคือช่องทางในการเลือกซื้อที่อาจยังมีจำนวนไม่มากนัก รวมถึงรูปแบบและประเภทของอาหารที่คนส่วนใหญ่ยังติดภาพว่าอาหารเพื่อสุขภาพต้องมีปรุงแต่งน้อย หรือไม่จัดจ้านจนเกินไป แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ลาบทอดที่ได้ร่วมกับมอร์มีทในครั้งนี้จะสร้างมิติใหม่ให้กับอาหารแพลนต์เบสที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ความสุขของผู้บริโภคอาหารประเภทนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการได้รับประทานเมนูที่คุ้นเคยและเป็นขวัญใจของหลายๆ บ้าน และทำให้ผู้ที่ซื้อสินค้าสามารถรับประทานอาหารแพลนต์เบสได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการปรุงอาหารหลายขั้นตอน” สำหรับในปี 2564 วี ฟู้ดส์ คาดการว่าจะสามารถเติบโตในตลาดอาหารแพลนต์เบสได้ระหว่าง 25-30 %  ด้วยการพัฒนาการวิจัย นำนวัตกรรม รวมทั้งหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งเน้นการผลิตอาหารที่มีฟังก์ชัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของไทย โดยการร่วมลงทุนกับมอร์มีทในครั้งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกมอร์มีทมาร่วมงานในครั้งนี้เนื่องจากเราเห็นว่ามอร์มีทเป็นสตาร์ทอัพที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพในทิศทางเดียวกับเราโดยเพาะในการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ต่างจังหวัดให้มีรายได้จากการใช้เห็ดแครงเข้ามาเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตโปรตีนจากพืช
วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ Co-Founder มอร์มีท (More Meat) บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด
ด้าน วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ Co-Founder มอร์มีท (More Meat) บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมอร์มีทมีผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชที่ทำจากเห็ดแครง ซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชแบบไม่ปรุงรส ไม่แต่งกลิ่นและขณะนี้มอร์มีทได้ร่วมมือกับบริษัท วีฟู้ดส์สำหรับการผลิตและจำหน่ายลาบทอดพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นการนำเอาโปรตีนจากพืชไปปรุงรสลาบ และพร้อมวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์วีฟาร์ม โดยการร่วมลงทุนในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของมอร์มีทที่ได้ร่วมทำงานกับบริษัทด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอาหารที่มีชื่อเสียงเจ้าแรกๆ ในประเทศไทย เนื่องด้วยวิสัยทัศน์และการทำงานขององค์กรมีความใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตมากถึง 36% ต่อปี ตลอดจนการเห็นโอกาสการขยายตัวของกลุ่มอาหารประเภทนี้ที่จะไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมถึงในระดับต่างประเทศ สำหรับมอร์มีทได้มองเห็นช่องทางในการสร้างโอกาสในตลาดอาหารแพลนต์เบส รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรับประทานอาหารคลีน แพลนต์เบสไดเอท หรืออาหารเจมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ได้มองแค่เรื่องของยอดขายเท่านั้น แต่มอร์มีทต้องการที่จะสร้างอาหารเพื่อสุขภาพของคนไทยโดยแท้จริง เพราะที่ผ่านมาบ้านเรามีการนำเข้าแพลนต์เบสจากต่างประเทศค่อนข้างสูง แต่แพลนต์เบสเหล่านั้นกลับมีรสชาติที่ปรุงแต่งแล้วและมีปริมาณโซเดียมสูงซึ่งไม่เหมาะกับคนที่ต้องการรับประทานโปรตีนจากพืชเพื่อสุขภาพ ดังนั้นจุดแข็งของมอร์มีทจึงเน้นการสร้างโปรตีนจากพืชเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยจะเห็นได้ว่าโปรตีนจากพืชที่วางจำหน่ายในขณะนี้ เราไม่ได้มีการปรุงรสแต่อย่างใดเพื่อเป็นการลดปริมาณเครื่องปรุงที่คนไทยจะต้องบริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคซื้อไปแล้วสามารถปรุงรสได้ตามต้องการและสามารถรังสรรค์เมนูได้ตามใจชอบ”  วรกันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ตลาดอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2–3 ปีนี้มีสตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจเข้าสู่ไลน์ธุรกิจนี้มากขึ้นและมีแบรนด์แพลนต์เบสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของประเทศไทยและในภูมิภาคเดียวกันก็เริ่มมีการให้ความสนใจจากทั้งผู้ทำธุรกิจและผู้บริโภคด้วยอุปสงค์และอุปทานที่น่าสนใจ มีการส่งเสริมจากภาครัฐกับสตาร์ทอัพ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนและความร่วมมือจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในลักษณะพึ่งพากัน ซึ่งมั่นใจว่าในปีถัดไปจะได้เห็นแบรนด์อาหารทั้งที่เป็นธุรกิจร้านอาหาร ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ผลิตอาหารแปรรูปเข้ามาแข่งกันในด้านแพลนต์เบสนี้อย่างแน่นอน ในส่วนของการเติบโตของฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ มอร์มีทเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะเติบอย่างสูงสุด เพราะขณะนี้ผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก และเทรนด์คนรักสุขภาพของโลกมีปริมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่จะสามารถไปถึงระดับยูนิคอร์นได้หรือไม่นั้นอาจจะต้องให้เวลาสักระยะ และแม้จะไม่เติบโตในระดับยูนิคอร์นได้ แต่ก็จะมีความมั่นคงมากกว่าสตาร์อัพด้านอื่นๆ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านอาหารของประเทศไทยที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ รวมถึงเป็นเจ้าใหญ่ที่ได้รับความมั่นใจทั้งจากทั้งฝั่งยุโรปและอาเซียนว่ามีความ ปลอดภัยกว่าอาหารแปรรูปจากประเทศอื่นๆ ดังนั้นการที่จะส่งแพลนต์เบสไทยไปขายในประเทศต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และมีโอกาสค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน วรกันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับในปี 2564 มอร์มีทตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้มากกว่า 15 % ทั้งจากการร่วมลงทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ More Meat ได้แล้วที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศอาทิ Foodland, Villa Market, Gourmet Market, Tops Market, Rimping และ Makro รวมถึงช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.morefoods.in และ V Farm Delivery และแน่นอนว่าหากมอร์มีทเติบโต และมีการขยายฐานการผลิตให้มากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคก็จะส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกเห็ดแครงเติบโตขึ้นไปด้วย เพราะการทำธุรกิจของมอร์มีทไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ยอดขายกับกำไรเท่านั้น แต่เรายังมองไปถึงการสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ชุมชน ด้วยการเข้าไปสนับสนุนและสร้างรายได้นอกจากนี้ ในอนาคตมอร์มีทยังจะมีการวิจัยพืชอื่น ๆ นอกเหนือไปจากเห็ดแครงเพื่อนำมาเป็นสวนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย อ่านเพิ่มเติม: เจโทร เผยผลสำรวจ “ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น” เปิดเพิ่มสวนกระแสโควิด

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine