วิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารกิจการครอบครัวจาก 3 ทายาทผู้บริหารธุรกิจแถวหน้าของประเทศ บนเวที Forbes Thailand Forum 2017: The Next Tycoons - Forbes Thailand

วิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารกิจการครอบครัวจาก 3 ทายาทผู้บริหารธุรกิจแถวหน้าของประเทศ บนเวที Forbes Thailand Forum 2017: The Next Tycoons

นิตยสาร Forbes Thailand  จัดเสวนาครั้งสำคัญ Forbes Thailand Forum 2017: The Next Tycoons เวทีแห่งวิสัยทัศน์ แบ่งปันประสบการณ์ และร่วมสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อสานต่อกิจการครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมืออาชีพ พร้อมเผยถึงปัญหา อุปสรรค และข้อคิด แก่ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ

งานสัมมนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในหัวข้อแรก “The Next Gen Onward” ได้รับเกียรติจาก พิธาน องค์โฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน), ธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) และ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และ หัวข้อ “Elevating on the Legacies” ได้รับเกียรติจาก สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ วรสิทธิ อิสสระ ประธานกรรมการ บริษัท ชาญอิสสระ รีท แมเนจเมนท์ จำกัด และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ เรสซิเดนซ์ จำกัด ที่ร่วมพูดคุย บนเวทีช่วงแรกเสวนาในหัวข้อสำคัญ “The Next Gen Onward” ดำเนินรายการโดย นันทิยา วรเพชรายุทธ หัวหน้าข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) กล่าว

จากธุรกิจจำหน่ายมอเตอร์ไซต์ ตั้งแต่ปี 2522 ของ ฉัตรชัย แก้วบุตตา สู่การให้บริการสินเชื่อแบบมีหลักประกันภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ และขยายสาขาเติบโตสู่จังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคและเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันก้าวสำคัญของบริษัทคือการเข้าซื้อกิจการบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทรกว่าสองพันล้านบาททำบริษัทในเครือทั้งหมดเข้าสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจในการเป็นสถาบันทางการเงินทางเลือกที่รอการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่บุตรสาว ธิดา แก้วบุตตา เป็นหนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญ

“จากการเข้าไปซื้อบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร มูลค่า 2,000 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2559 เป็นก้าวต่อไปของบริษัทอย่างมั่นคงความจำเป็นของบริษัทที่ให้บริการด้านเงิน ความสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่นการเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของประเทศไทย สิ่งที่ตามมาคือกฎระเบียบที่เคร่งครัดแต่บริษัทเกิดความโปร่งใส” ธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของศรีสวัสดิ์ฯ ในยุคที่ธิดาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของบริษัท เธอยอมรับว่าองค์กรแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงและเปิดรับเทคนิคการทำงานแบบใหม่ตลอดเวลา เพื่อรองรับการวิเคราะห์บริหารข้อมูลและพฤติกรรมทางด้านการเงิน “หัวใจของธุรกิจหลักเราคือ Loan to Value การปล่อยเงินกู้ สิ่งที่เราให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือหลักประกัน เราเข้าใจว่าลูกค้าของเรารักหลักประกันของเขา ฉะนั้นเราต้องรักหลักประกันของลูกค้าเราเช่นกัน จึงเกิดการสร้างโปรแกรมเพื่อประเมินหลักประกันให้เป็นไปตามเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนในปัจจุบัน” ธิดา แก้วบุตตา กล่าว


พิธาน องค์โฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)

ด้าน พิธาน องคโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเข้ามาดูธุรกิจในปี 2550 เข้ามาเรียนรู้งานบริษัทด้านวิศวกรรมของบริษัทเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ก่อนกลับไปเรียนต่อ

“บริษัทของเราเริ่มมาจากบริษัทเล็กๆ พอบริษัทโตคุณพ่อยังคงโฟกัสและในสิ่งที่คุณพ่อถนัดคือการผลิตและคุณภาพของสินค้า ซึ่งลูกค้าชอบเราเพราะคุณภาพของสินค้าเราดี แต่ทำให้กำไรขาดทุนมีการแกว่งในอดีต ขาดทุนหรือกำไรคุณพ่อก็โบนัสตลอด พอผมเข้ามาในช่วงนั้นทำให้เกิดปัญหาด้านค่าแรงแรงงานซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่ผมต่อราคาค่าแรงกับกระทรวงแรงงาน” พิธาน องคโฆษิต กล่าว

ทั้งนี้พิธานกลับมาทำงานอีกในปี 2552 ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า Sub-Prime Crisis ส่งผลให้บริษัทขาดทุนเกือบ 400 ล้านบาท จากวิกฤตดังกล่าวนี้โดยพิธานได้ย้อนเล่าถึงประสบการณ์ได้เข้ารับและเรียนรู้การบริษัทของบิดาและและทีมบริหารร่วมกันแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น “จากวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นคุณพ่อสั่งปิดโรงงานทันทีในวันนั้น ซึ่งในวันที่ปิดโรงงานออเดอร์ยังคงมีอยู่ คุณพ่อได้สั่งย้ายคนไปอยู่อีกสองโรงงานโดยที่เราไม่ไล่คนออก และย้ายแรงงานเข้าโรงงานให้เต็ม ในวันผมไม่ได้เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในวันนี้ผมเชื่อว่าเป็นการติดสินใจที่เร็วและถูกต้องที่สุด ณ วันนั้น แน่ๆ หากเราเปิดโรงงานต่อสักเดือนถึงสองเดือนจากขาดทุนสีร้อยล้านอาจห้าร้อยล้าน”

สำหรับวิกฤตในยุคของพิธานยอมรับว่าตั้งแต่เขาเข้ามาบริษัทได้พบวิกฤตต่างๆ อาทิ วิกฤตซับไพรม์ ไฟไหม้โรงงานครั้งแรก วิกฤตน้ำท่วมปี'54 และไฟไหม้อีกครั้ง แม้ไม่มีใครอยากให้เกิดแต่เขามองว่าเหตุการณ์ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นกับบริษัทถือเป็นประสบการณ์และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการขยายโรงงานของ KCE อย่างต่อเนื่อง การร่วมกันออกแบบโรงงานใหม่โดยพนักงานและผู้บริหารร่วมเสนอความคิดเพื่อสร้างโรงงานที่ตอบโจทย์การทำงานและสอดรับกับความต้องการของลูกค้า

พิธานกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเราอยู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วยเทคโนโลยีซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วบริษัทที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลกก็สามารถเปลี่ยนแปลงอันดับได้อย่าง Nokia ในอดีต ในขณะที่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ มาร์จิ้นค่อนข้างสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะฉะนั้น เราอาจต้องขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ  "ตั้งแต่เข้ามาทำงานธุรกิจของเราไม่เคยเพิ่มราคาลูกค้า มีแต่ลดราคาให้ลูกค้า เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนไปในทุกปี เราสามารถประหยัดในส่วนต่างๆ ทำให้มาร์จิ้นของเราสูงที่สุดในการผลิตและจำหน่าย PCB ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์"

KCE หลังปี 2552 มีการปรับโครงสร้างในหลายส่วนทั้งด้านเทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์ การพัฒนาบุคลากร การบริหารด้านการเงิน ซึ่งหลังจากนี้เรามองเติบโตในแง่การลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อสร้างมูลค่าในการผลิตภัณฑ์

“ตัวคุณพ่อเองฝันอยากให้เรามีรายได้หนึ่งพันล้านเหรียญฯ ซึ่งผมมองว่าถ้าเรามีโรดแมปที่ดีใน 3-5 ปีข้างหน้าเราน่าจะทำได้ ในส่วนตัวของผมเองอยากเห็นบริษัทสู่เบอร์หนึ่งของโลกในการผลิตและการขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” พิธาน องคโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวและทิ้งท้าย


วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)

ด้าน วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวที Forbes Thailand Forum ถึงความสำคัญของขนาดและจำนวนการผลิตซึ่งมีส่วนสำคัญให้ศรีตรังเติบใหญ่ในปัจจุบัน โดยกลุ่มศรีตรังดำเนินธุรกิจแบบ B2B แบ่งเป็นสัดส่วนการส่งออกยางพาราดิบให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยางรถยนต์, ท่อพลาสติก เป็นสำคัญ อีกส่วนธุรกิจสำคัญคือธุรกิจถุงมือยางทางการแพทย์ ซึ่งในอนาคตจะเป็นอีกหนึ่งเสาหลักธุรกิจสำคัญที่บริษัทคาดหวัง

“สำหรับธุรกิจยางพาราใน 7-10 ปีที่ผ่านมาเราถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งของโลกสำหรับถุงมือทางการแพทย์เราถือว่าอยู่ในอันดับ 5 ของโลกในแง่ของการผลิต” วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กล่าวและเสริมว่าธุรกิจยางพาราทุกคนพยายามเคลมว่าทุกคนใหญ่ทั้งนั้น เราจึงมองหาทางออก นอกจากเรา Go Big แล้วเรายังต้อง Go Green และ Go Smart “ศรีตรังในยุคของเราจะขยายโรงงานด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมชุมชน นอกจาก Green Concept แล้ว เรายังมีดำเนิน Productivity Program เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตของโรงงานและส่งผลให้ได้ผลลัพธ์ด้านการผลิตเหมือนเราได้โรงงานเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งโรงงาน นี่คืออีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ศรีตรังในยุคปัจจุบันที่เราได้ลงมือทำ”

ทั้งนี้ การบริหารงานของธุรกิจของกลุ่มบริษัทศรีตรังเป็นสัดส่วนผสมผสานการบริหารงานระหว่างคนสองยุคเข้าด้วยกันที่ผ่านมาเราไม่ประสบวิกฤตรุนแรงอาจจะมีบ้างที่เป็นปัญหาซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เนื่องจากทีมบริหารมีความพร้อมและการเตรียมตัวก่อนปัญหานำไปสู่วิกฤตของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาความผันผวนด้านราคายาง

“ที่ผ่านมาราคายางลงอย่างต่อเนื่องแต่เราทำกำไรได้ทุกปี สิ่งนี้เราต้องให้เครดิตกับทีมงาน ที่ผ่านมาศรีตรังพบปัญหาด้านราคายางมาตลอดแต่เราก็ผ่านมาได้ตลอดซึ่งต้องให้เครดิตกับทีมงาน” วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กล่าว