วางผัง FAMILY OFFICE ส่งต่อมรดกสู่ทายาท - Forbes Thailand

วางผัง FAMILY OFFICE ส่งต่อมรดกสู่ทายาท

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น
ความกังวลต่อแผนการส่งมอบธุรกิจและมรดกสู่ผู้สืบทอดเป็นหัวข้อสำคัญของครอบครัวเศรษฐีเอเชียยุคปัจจุบันยิ่งในกลุ่มตระกูลเก่าแก่ที่กำลังผลัดใบสู่ทายาทรุ่นใหม่ย่อมต้องจัดสรรสินทรัพย์ให้ลงตัว หลีกหนีภาวะล่อแหลมที่สมบัติของบรรพบุรุษจะสูญสิ้นส่งไปไม่ถึงสายเลือดรุ่นหลัง
 
ครอบครัวขุนนางอังกฤษแห่ง Downton Abbey ต้องเผชิญปัญหาภาษีมรดกก้อนใหญ่แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อท่านหญิง Mary Crawley กลายเป็นผู้รับทรัพย์สมบัติโดยตรงจากสามีผู้ล่วงลับ Matthew Crawley ด้วยจดหมายสั้นๆ ที่แสดงความจำนงว่าต้องการให้มรดกของเขาตกเป็นของเธอโดยตรงหากเสียชีวิตลงก่อนทายาทที่ยังไม่ลืมตาดูโลก ณ วันนั้นจะเติบใหญ่พร้อมสืบทอด Downton Abbey จากท่านตา Earl of Grantham สมบัติจำนวนมหาศาลของสามี ที่ตกสู่ภรรยาหม้ายกลายเป็นทุกข์ลาภด้วยกฎหมายของขุนนางในยุค 1920 ทำให้ Mary Crawley ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อมาชำระหนี้ดังกล่าว

ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสาหัสสำหรับสตรีสูงศักดิ์ที่ไม่เคยต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ โดยทางออกที่บิดาของเธอเลือกคือ การขายที่ดินบางส่วนเพื่อนำเงินมาชำระภาษี แต่ Mary Crawley กลับไม่เห็นด้วย กระทั่งในที่สุดเธอและน้องเขยผู้ฝักใฝ่เสรีนิยม Tom Branson ต้องหาทางออกโดยการสร้างประโยชน์จากที่ดินซึ่งตระกูลถือครองไว้มาทำรายได้เพื่อหาเงินมาจ่ายภาษีให้ลุล่วงแน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาสำหรับครอบครัวผู้มั่งคั่งรุ่นหลังที่วางแผนและเตรียมการกันอย่างเป็นระบบไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะบ้านที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินและสมาชิกครอบครัวจำนวนมาก ยิ่งจำเป็นต้องวางทิศทางส่งต่อไปยังทายาทไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ผู้นำครอบครัวยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปที่หลายครอบครัวน่าจะส่งผ่านธุรกิจและมรดกกันแล้ว 6-7 รุ่น

ขณะที่แนวคิดบริหารจัดการทรัพย์สินของตระกูลให้สืบทอดสู่รุ่นต่อไปอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับปัจจัยในอนาคต กำลังเป็นโจทย์ที่บรรดาครอบครัวเศรษฐีเอเชียให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ ด้วยเหตุผลหลักที่หนึ่งในผู้คร่ำหวอดและให้คำปรึกษากับเหล่าผู้มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนกว่า 50 ล้านบาท หรือกลุ่มลูกค้าไพรเวทแบงค์ (private bank) มาเป็นเวลานานอย่าง
 
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “เมื่อก่อนเงินที่กองอยู่ใต้กงสียังเป็นก้อนเล็กๆ จัดการกันได้ ไม่เป็นไร แต่ต่อไปกองมันใหญ่จนคนที่อยู่บนยอดเหมือนทับบนกองทรายที่กำลังจะล้มอยู่แล้ว และอึดอัดใจด้วยว่ามีลูกหลานมากจนต้องจัดการ ยิ่งครอบครัวที่ต้องส่งจากรุ่น 3 ไป 4 เริ่มยาก หรือบ้านที่รวมลูกหลานกันแล้วเป็น 20 คน ซึ่งลูกค้าของเราส่วนใหญ่อยู่ในจุดนี้”

สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้มั่งคั่งสูงจากทั่วโลก ในรายงาน Attitudes Survey 2015 ที่ครอบคลุมทั้งมุมมองในแง่สินทรัพย์และวิถีชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ The Wealth Report 2015 จัดทำโดย Knight Frank ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกจากอังกฤษระบุว่า ประเด็นด้านการวางแผนเรื่องทายาท/ผู้สืบทอด ทั้งในแง่ธุรกิจและครอบครัวเป็นสิ่งที่บรรดาเศรษฐี 85% จากทั่วโลกให้ความสำคัญ ตามมาด้วย 81% ที่มีความกังวลเกี่ยวกับภาษีความมั่งคั่ง (WealthTax หรือ Inheritance Tax) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตใกล้เคียงกับที่กังวลเรื่องการถูกตรวจสอบสินทรัพย์โดยรัฐบาลที่มีถึง 80%
 
ถึงกระนั้นแม้ว่าเศรษฐีทั้งหลายจะมีประเด็นที่ต้องกังวลแปรเปลี่ยนตามแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์แต่วิถีส่งผ่านความมั่งคั่งและมั่นคงจากรุ่นสู่รุ่นยังเป็นหัวข้อที่ผู้มีทรัพย์สินมหาศาลต่างวางไว้ในอันดับต้นๆ ด้วยเหตุนี้การให้คำปรึกษาและบริการต่างๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าเศรษฐีเพื่อเตรียมส่งต่อมรดกสู่ทายาทรุ่นหลังจึงเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของบรรดาผู้มีทรัพย์สิน

ล้นเหลือในปัจจุบันผลสำรวจของ Knight Frank ยังระบุอีกว่า ภาพรวมทั่วโลก (100 ประเทศ) จำนวนผู้มีทรัพย์สินสุทธิ 30 ล้านเหรียญขึ้นไป (Ultra-High-Net-Worth Individual: UHNWI) ที่ 172,850 ราย และมีการถือครองทรัพย์สินถึง 20.8 ล้านล้านเหรียญในปี 2014 เพิ่มขึ้นอีก 5,200 ราย หรือ 3% จากปี 2013 โดยคาดว่าจะเพิ่มอีก 34% เป็น 231,000 รายในปี 2024

ส่วนกลุ่มผู้มีทรัพย์สินสุทธิ 1 ร้อยล้านเหรียญขึ้นไป (Centa-millionaire) มีจำนวนอยู่ที่ 38,280 ในปี 2014 เพิ่มขึ้น 3% จาก 37,103 รายในปี 2013 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 51,789 รายในปี 2024 หรือขยายตัว 35% ส่วนกลุ่มกลุ่มผู้มีทรัพย์สินสุทธิ 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป(Billionaire) ที่เคยมี 1,791 รายในปี 2013 ก็เพิ่มขึ้น 3% เป็น 1,844 รายในปี 2014 โดยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเป็น 2,598 รายในปี 2024 หรือขยายถึง 41%

ส่วนทิศทางการเติบโตของจำนวนผู้มั่งคั่งในไทยในอีก 10 ปี ข้างหน้าเมื่อเทียบกับปี 2014 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 55% มีกลุ่มเศรษฐีไทยระดับ UHNWI ในปี 2014 ที่ 540 รายจะเพิ่มขึ้นเป็น855 รายในปี 2024 เช่นเดียวกับที่กลุ่ม Centa-millionaire มีพัฒนาการที่โดดเด่นจาก 208 รายเป็น 327 ราย ขณะที่กลุ่มBillionaire จะมีจำนวนเพิ่มจาก 17 รายเป็น 26 ราย

ด้วยเหตุนี้การให้คำปรึกษาและนำเสนอบริการที่ช่วยลูกค้าให้จัดการเรื่องราวในครอบครัวที่มีสินทรัพย์และสมาชิกจำนวนมากจึงเกิดขึ้นและทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ในรูปแบบของบริการ ที่เรียกว่า Family Services ซึ่งมีที่มาจากความต้องการของ ลูกค้าในเรื่องส่งผ่านความมั่งคั่งทั้งในส่วนธุรกิจและสินทรัพย์ ของครอบครัว หรือ Wealth Transfer ซึ่งเป็นภาคต่อของ Groom Wealth (การสร้างให้สินทรัพย์เติบโต) และ Maintain Wealth (การบริหารจัดการเพื่อให้ผลตอบแทนและมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเหนือกว่าอัตราเงินเฟ้อและมีระดับความเสี่ยงที่รับได้)
 
Family Services ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลักที่เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลสินทรัพย์ทั้งหมดของครอบครัวแล้วมาวางแผนบริหารหรือเรียกว่า wealth planning เพื่อวางโครงสร้างของสินทรัพย์ไปพร้อมๆ กับสร้างมูลค่าให้พอกพูนปกป้องให้คงอยู่อย่างดีและวางทิศทางเพื่อส่งต่อสู่รุ่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่ จิรวัฒน์ ขยายความว่า “รวบรวมทั้งแก้วแหวน เงินทอง เงินที่เก็บไว้ ที่ดินต่างๆ รวมทั้งบริษัททั้งหมดให้มาอยู่เป็น official และเป็นระบบมากขึ้น ซึ่ง wealth planner จะเข้าไปช่วยดูว่าด้วยภาวะแวดล้อมทางกฎหมายและความต้องการของแต่ละครอบครัวควรจัดสัดส่วนอย่างไร หรือจัดการถือครองให้อยู่ในรูปแบบไหน เช่นการใส่ชื่อร่วมใน holding company ซึ่งเป็นวิธีสุดคลาสสิกและง่ายที่สุด หรือการจัดตั้งกองมรดก หรือ family trusts แต่ในเมืองไทยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ ขณะที่เมืองนอกใช้รูปแบบนี้ค่อนข้างมาก”

family trusts นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่และยังไกลตัวสำหรับหลายๆ ครอบครัว แต่หลักการก็ไม่ได้ซับซ้อนเกินกว่าที่จะนำมาทดลองใช้ จิรวัตน์อธิบายให้ฟังว่า family trusts คือการตั้งกองสินทรัพย์ขึ้นและมีกฎเกณฑ์วางไว้ โดยกำหนดให้ผู้ดูแลผลประโยชน์หรือ trustee (ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านกองทุนทรัสต์โดยตรง) เช่นทำหน้าที่ประหนึ่ง ผู้คุ้มกฎเป็นผู้ดูแลกองทรัสต์นั้นยกตัวอย่างครอบครัวหนงึ่ มีสินทรัพย์ราว 1,000 ล้านบาท จึงแบ่งให้ลูก 3 คนๆ ละ 200 ล้านบาท แล้วเตรียมแบ่งอีก400 ล้านบาทที่เหลือไว้ให้หลาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถดูแลสินทรัพย์ที่รับมอบมาเองได้ แต่หากจะให้พ่อแม่ดูแลทางปู่ย่าตายายกลัวว่าเงินจะเหลือไม่ถึง จึงเลือกโอน 400 ล้านบาทเข้ากองทรัสต์พร้อมสัญญาหรือพินัยกรรมฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนด

หลักเกณฑ์ไว้เพื่อมอบหมายให้ trustee ดำเนินการตามที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม กองทุนทรัสต์ถือเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่งจึงต้องมี trustee ดูแลกองทรัสต์สืบต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน สำหรับข้อกังขาที่ว่าการทำ wealth planning ของหลายๆ ครอบครัวมุ่งให้น้ำหนักกับการหลีกเลี่ยงภาษีนั้น จิรวัฒน์ชี้แจงว่า ประโยชน์ของ wealth planning มีขอบเขตกว้างกว่าการบริหารภาษี

“คนชอบบอกว่าการทำ wealth planning มีวัตถุประสงค์หลักคือ หลบเลี่ยงภาษี จริงๆ ผมมองว่าเป็นวัตถุประสงค์รองมาก จะใช้คำว่าหลบเลี่ยงก็ไม่ถูก แต่เป็นการบริหารเพื่อให้เสียภาษีถูกต้องและเสียน้อยลง ผมใช้คำว่าจัดรูปแบบให้เสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่าหรือมีภาระน้อยกว่า”
 
จิรวัฒน์เล่าถึงมุมมองและประโยชน์ของ wealth planning อีกว่า ยังเอื้อไปถึง asset protection คือการคุ้มครองทรัพย์สินเช่นหากหัวหน้าครอบครัวที่เคยประสบความสำเร็จในธุรกิจหนึ่ง และต้องการไปเริ่มธุรกิจใหม่แต่พลาดพลั้งล้มละลายหากไม่ได้จัดการโครงสร้างทรัพย์สินไว้แต่แรก ความเสียหายจากธุรกิจใหม่ย่อมลุกลามถึงของเดิมที่สะสมไว้ด้วย เช่นเดียวกับการป้องกันทรัพย์สินไม่ให้ร่อยหรอ หรือสูญเสียจากกรณีที่ทายาทขาดความสามารถในการดูแลกิจการให้ยั่งยืนอยู่ได้นั่นคือ หากทำ wealth planning ตั้งแต่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะง่ายต่อการกำหนดตัวผู้สืบทอดกิจการและการแบ่งมรดกให้ลงตัวตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวภายหลังสำหรับขั้นตอนหลังทำ wealth planning คือการนำแผนที่ได้ไปปฏิบัติจริง หรือ implementation นำ plan ไปปฏิบัติซึ่งส่วนใหญ่ผู้ให้บริการ เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะยกงานในขั้นตอนนี้แก่บริษัทภายนอก เช่น สำนักงานกฎหมายรับหน้าที่เขียนธรรมนูญของครอบครัว ตามมาด้วยขั้นตอนadministration หรือด้านการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เพื่อให้แผนที่นำมาปฏิบัติเดินหน้าไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะกลับมาเป็นบทบาทของฝ่ายให้บริการไพรเวทแบงค์อีกครั้ง

โดยจะให้บริการผ่านระบบที่เรียกว่า family office เมืองไทยเมื่อมองลึกลงไปพบว่า จากเดิมครอบครัวผู้มั่งคั่งให้ความสนใจในเรื่องของการส่งมอบธุรกิจมากกว่า แต่ด้วยประเด็นภาษีมรดกทำให้ทิศทางความสนใจหันไปสู่เรื่องของการส่งต่อสินทรัพย์มากขึ้น ตามที่ จิรวัฒน์เล่าว่า “ตอนนี้ transfer wealth เริ่มไม่ง่าย เพราะไม่ว่าจะเก็บไว้กับตัวหรือส่งให้ลูกก็มีภาษี จึงจำเป็นต้องมีการจัดโครงสร้างสินทรัพย์ให้ลงตัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของไพรเวทแบงค์ที่ต้องหาคำตอบให้ลูกค้า”
 
เมื่อเริ่มมองเห็นแนวโน้มความต้องการ famiy services ของลูกค้ากลุ่มไพรเวทแบงค์ในไทยอย่างชัดเจน ธนาคารกสิกรไทยจึงตั้งเป้าที่จะเริ่มให้บริการภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หรือพยายามให้เร็วกว่านั้น แต่ยังติดขัดเรื่องความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนี้จึงเน้นที่การปรับแนวทางและประยุกต์ความเชี่ยวชาญจากฝั่งพันธมิตรคือ Lombard Oldier ให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมแบบไทย ก่อนจะนำเสนอสู่ตลาดอย่างเต็มตัว



อ่าน
"Forbes Thailand: The Essential Guide for Enrichment" ฉบับพิเศษประจำ JUNE 2015