กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำ One Young World เข้ามาจัดในเมืองไทย คือ ลักษมีกานต์ อิงคะกุล หรือ “เพิร์ลลี่” หญิงสาวบุคลิกกระฉับกระเฉง ซึ่งบทบาทหนึ่งของเธอคือ Group Director of Operations แห่ง Miracle Group กลุ่มธุรกิจพันล้านที่มีธุรกิจหลักคือโรงแรม และ CIP Lounge ในสนามบินสุวรรณภูมิ
ลักษมีกานต์ เชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำให้สังคมพัฒนาขึ้น เธอจึงเขียนเรียงความเกี่ยวกับผู้สูงอายุในไทย เพื่อสมัครเข้าร่วมการประชุม One Young World ซึ่งจัดขึ้นในปี 2013 ที่ Johannesburg ประเทศแอฟริกาใต้ และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น เมื่อได้เห็นบรรยากาศของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันเพื่อระดมความคิดสร้างโลก ให้น่าอยู่ ลักษมีกานต์ ตั้งใจว่าจะต้องนำการประชุมดังกล่าวมาจัดที่เมืองไทยให้ได้
เมื่อกลับเมืองไทย ทายาท Miracle Group จึงลงมือเขียนโครงการ และเข้าไปนำเสนอกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการการกรุงเทพมหานคร เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ฟังก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จากนั้น ลักษมีกานต์ ก็นำแผนงานไปเสนอต่อทีมงานของ One Young World และเข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จ แต่ขณะนั้นกรุงเทพฯ กลับมีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้คณะกรรมการไม่มั่นใจว่ากรุงเทพฯ จะยังมีศักยภาพในการรองรับการจัดประชุมได้หรือไม่ ทว่า ลักษมีกานต์ กลับใช้โอกาสนี้อธิบายและชี้แจงให้ทุกคนเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวคือบท พิสูจน์ครั้งใหญ่ว่าคนไทยจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี และท้ายสุดเธอก็ทำได้ตามที่หวัง เมื่อกรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุม One Young World Summit 2015
ผลจากความพยายามในการผลักให้ไทยเป็นเจ้าภาพ ทำให้ปีที่ผ่านมา องค์กร One Young World แต่งตั้งให้ ลักษมีกานต์ เป็น Asia Director และปีนี้ เธอยังเป็นที่ปรึกษาสภาเยาวชน กรุงเทพมหานคร และคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“เพิร์ลลี่เป็นคน ambitious มาก ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าอายุเท่านี้จะทำอย่างนี้ เราตั้งแล้วทำได้เพราะศรัทธาในสิ่งที่ทำ เพิร์ลลี่ไม่ใช่คนเก่ง แต่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร” ลักษมีกานต์ บอกพร้อมรอยยิ้ม
คลิ๊กอ่าน "30 under 30 30 หนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่ไม่รอความสำเร็จมาวางตรงหน้า" จาก Forbes Thailand ฉบับ SEPTEMBER 2015