ลงทุนเพื่อสุขภาพกับจักรยาน ใช่เพียงกระแสนิยม - Forbes Thailand

ลงทุนเพื่อสุขภาพกับจักรยาน ใช่เพียงกระแสนิยม

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2014 | 03:34 PM
READ 4742
แม้ตระหนักดีถึงประโยชน์ที่จะได้รับ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ชอบออกกำลังกาย ด้วยข้ออ้างคือ ‘ไม่มีเวลา’ ทั้งที่ปัญหาจริงๆ อาจมาจาก ‘ความขี้เกียจ’ ‘ความเบื่อหน่าย’ และ ‘ความเหนื่อยล้า’ จากการทำงาน 
 

ตัวผมมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่เด็ก จึงต้องบังคับตัวเองให้เป็นคนชอบออกกำลังกาย ผมวิ่ง ว่ายน้ำ และเล่นกีฬาหลากหลาย เช่น โยคะ ชี่กง เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย 
 
การขี่จักรยานเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคจักรยานเสือภูเขา กระทั่งกลางปีที่แล้ว จักรยานกลับมาเป็นกีฬายอดฮิตอีกครั้งหนึ่ง ขยายไปยังกลุ่มคนใหญ่ขึ้น ธุรกิจจักรยานดีขึ้น มีเว็บไซต์ แฟนเพจ ธุรกิจต่อเนื่องมากมาย ในแนวทาง positive trend นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้น เพราะกระแสความนิยมแพร่ไปทั่วประเทศ ผมเดินทางไปทำงานในหลายจังหวัด ผมพบร้านจักรยานเปิดใหม่เต็มไปหมด 
 
รุ่นน้องผมคนหนึ่งเป็นคนไม่ออกกำลังกาย และไม่ชอบเล่นกีฬาเลย แต่หันมาขี่จักรยาน ผมสังเกตเห็นว่าเขากับเพื่อนๆ ใช้จักรยานราคาแพง พร้อมสรรพด้วยอุปกรณ์เสริมยี่ห้อดังระดับโลก ซึ่งในความคิดของผม การออกกำลังกายอะไรสักอย่างเราไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงเสมอไป สาระน่าจะอยู่ที่การใช้งานมากกว่า แต่จากการได้พูดคุย รุ่นน้องคนนี้เล่าว่า แต่เดิมเขากับเพื่อนๆ ไม่ชอบออกกำลังกาย ครั้นพอได้มาขี่จักรยาน ได้แต่งรถ ได้สวมใส่ เสื้อผ้า หมวก ถุงมือดีๆ ก็รู้สึกสนุกสนานมากขึ้นกับการออกกำลังกาย และรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อย ซึ่งผมได้ถามเขาอีกว่าซื้อของแพงแบบนี้ไม่เสียดายเงินหรือ เขาบอกว่าทุกคนในกลุ่มพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาจักรยานคือราคาค่ารักษาพยาบาลในอนาคต เขามองในมุมการลงทุน ถ้าเทียบราคารถกับค่ารักษาพยาบาล อาจจะคุ้มค่ากว่าก็ได้ ทุกวันนี้หาหมอครั้งหนึ่งค่าใช้จ่ายเป็นพันบาทหมื่นบาทซื้อล้อรถได้ 1 เส้น เข้าโรงพยาบาลหนึ่งครั้งเหยียบแสนบาท เทียบเท่ารถจักรยานดีๆ หนึ่งคัน การลงทุนในจักรยานเป็นการซื้อสุขภาพในอนาคต เป็นการทำประกันรูปแบบหนึ่ง 
 
พอได้ฟังก็เข้าใจพวกเขามากขึ้น ว่าการขี่จักรยานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ให้ชีวิตได้มีสีสัน ซึ่งตอนนี้พวกเขาสุขภาพดีขึ้น และวิถีชีวิตเปลี่ยนไป เดิมคนทำงานพอถึงเย็นวันศุกร์จะไปสังสรรค์กัน แต่พอขี่จักรยานจนติด เย็นวันศุกร์จะกลับบ้านไปเตรียมความพร้อม เพราะการขี่จักรยานต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เช็กความพร้อมของรถ เช็กยาง เตรียมเสื้อผ้า อุปกรณ์อื่นๆ ไม่เหมือนใส่รองเท้าผ้าใบแล้วออกวิ่งเลย การไปเลือกเส้นทางก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง และเป็นไลฟ์สไตล์ แต่ละเส้นทางมีเรื่องราวสนุก ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปขี่เลนเขียว สุวรรณภูมิ ยังมีปากเกร็ด บางกระเจ้า สวนหลวง และอีกหลายเส้นทางแล้วแต่ความชอบ
 
เริ่มต้นจากความชอบ คนที่มีความชอบเหมือนๆกันยังนำไปสู่ business connection อีกด้วย เท่าที่สังเกตคนขี่จักรยานแม้ไม่รู้จักกันเลย แต่พอขี่สวนกันจะยิ้ม โบกมือทักทาย จอดคุยกันบ้าง เกิดเครือข่ายสังคม การไปขี่กับเพื่อนฝูงก็เช่นกัน จริงอยู่เราอาจมีกิจกรรมกับเพื่อนฝูงอยู่แล้ว แต่การไปขี่จักรยานจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เจอเพื่อนกลุ่มเดิมด้วยความรู้สึกใหม่ ผมกลับไปขี่กับเพื่อนมหาวิทยาลัยที่เคยตีกอล์ฟด้วยกัน แต่พอมาเริ่มขี่จักรยานกันทุกคนก็เริ่มใหม่กันหมด ทำให้ชีวิตมีสีสัน ได้มีเรื่องพูดคุย ผมต้องเน้นว่าการขี่จักรยานไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงเสมอไป เช่น กลุ่มเพื่อนผมแข่งกันว่าใครได้ของดีในราคาที่ถูกกว่า แต่การนิยมของแพงก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความพอใจ 
 
ส่วนตัวยังมองการขี่จักรยานเป็นภารกิจที่ต้องวางแผนระดับหนึ่ง เทียบเคียงได้กับชีวิตการทำงาน ต้องคิด ต้องวางแผน แต่การทำงานอาจมีความเครียด ส่วนการขี่จักรยาน ผ่อนคลาย สบายๆ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ต้องเตรียมการแก้ปัญหา เช่น ฝนตก ยางแตก แต่โดยรวมสนุก มีสีสัน 
 
การเตรียมความพร้อมนั้น ต้องดูความพร้อมของร่างกาย หัวใจ เราต้องรู้ว่ากำลังเราแค่ไหน ถ้ากำลังเราน้อย เราต้องไปฟิตกำลังของเราเพิ่ม อาจต้องวิ่ง ว่ายน้ำ เพื่อให้เรามีกำลังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกำลังขาและความอดทน แต่คงไม่ถึงขั้นต้องบ้าพลัง ว่าต้องให้ได้อัตราการเต้นของหัวใจเท่านั้นเท่านี้ เพราะส่วนตัวคิดว่ามันเครียดเกินไป ยังอยากเน้นการขี่เพื่อความสนุกสนาน ไม่ว่าจะขี่ที่ไหนก็ตาม ยกตัวอย่าง คนไปเลนเขียว ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะขี่ได้ถึง 23 กิโลเมตรหมด ก็ต้องวางแผนว่าเราไหวหรือยัง เราพร้อมไหม เพราะถ้าไปแบบไม่พร้อมอาจไปเป็นภาระของผู้อื่น 
 
นอกจากนี้ การไปขี่จักรยานต้องศึกษาเส้นทาง เรียกได้ว่าสนุกกันตั้งแต่หาข้อมูลแล้ว เราต้องรู้ว่าเส้นทางไหนเป็นอย่างไร เราไปไหวไหม เราควรขี่ที่ความเร็วเท่าไหร่ หยุดรถที่ตรงไหน ที่เหมาะสมกับกำลังของเรา และเวลาไปในแต่ละเส้นทาง แม้เป็นเส้นทางเดิม แต่เปลี่ยนวัน ก็จะมีเรื่องราวใหม่ๆ มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย มีความสวยงาม โดยเฉพาะต่างจังหวัด ถ้าใครเคยไปขี่จะรู้เลยว่าสนุก โดยเฉพาะในวันอากาศดีๆไม่ได้ร้อนจัดมาก เหมือนกับที่บางคนบอกว่าการขี่จักรยานไม่ใช่แค่เรื่องตัวรถ ความเร็ว ระยะทาง แต่อยู่ที่เรื่องราวตลอดสองข้างทาง และความรู้สึกดีๆจากความเพลิดเพลินบนอาน ก็เป็น feeling ที่เรียกว่า Money can’t buy.
 
โดยสรุป ผมยังมองว่าการขี่จักรยานเป็นการลงทุน ลงทุนให้กับตัวเอง ลงทุนเพื่อสุขภาพ  ลงทุนเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต ลงทุนเพื่อความสนุกและสีสันในชีวิต 
 
ทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยการขี่จักรยานเสมอไป อาจมีกิจกรรมหลายอย่างที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย เช่น วิ่ง เดิน เพียงแต่ทุกวันนี้ ปัญหาของมนุษย์คือ ความเบื่อหน่ายและขี้เกียจ
 
หากจะลงทุนสักครั้งเพื่อเปลี่ยนตัวเอง จากคนเดิมที่ทำอะไรก็ไม่สนุกสักอย่างกลายมาเป็นคนใหม่ที่ชีวิตมีสีสันมากขึ้น จักรยานเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และตอบโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพได้ แต่การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ถ้าลงทุนแล้วไม่ขี่เลยก็ไม่คุ้ม หรือออกไปขี่แล้วได้รับอันตรายก็ไม่คุ้มเช่นกัน แต่ถ้าคุณเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า 
 
ทั้งหมดที่กล่าวมาขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ และความพึงพอใจส่วนบุคคลครับ  



ประภาส ทองสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านสื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)