ฤาจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 เมื่อ California เกิดกระแสแยกประเทศ - Forbes Thailand

ฤาจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 เมื่อ California เกิดกระแสแยกประเทศ

แนวคิดแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศสหรัฐอเมริกาของรัฐ California หรือที่เรียกกันว่า Calexit กำลังอยู่ในกระแสร้อนแรง

ผลสำรวจหนึ่งชี้ว่าประชาชนที่นิยมพรรคเดโมแครต 32% พร้อมลงประชามติเห็นด้วยกับการแยกประเทศ ขณะนี้มีการล่ารายชื่อเพื่อขอจัดประชามติลงคะแนนเสียงเพื่อหาคำตอบว่าจะมีการแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาหรือไม่ โดยผู้สนับสนุนการแยกประเทศกลุ่มหนึ่งได้รับเงินทุนจาก Vladimir Putin ประธานาธิบดีของรัสเซีย แนวคิดนี้สร้างความสั่นสะเทือนต่อความเป็นไปของประเทศสหรัฐอเมริกาต่างจากการรวมตัวกันของสหภาพยุโรป ตั้งแต่ก้าวแรกของการรวมตัวก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ มุ่งหมายที่จะรักษาความเป็นปึกแผ่นให้คงอยู่ตลอดไป ชาวอเมริกันในปัจจุบันน่าจะยังจดจำได้ดีถึงเหตุการณ์สงครามกลางเมืองปี 1861 ซึ่งมีชนวนจาก 11 รัฐฝ่ายใต้ที่มีความคิดขัดแย้งอย่างรุนแรง ประเด็นดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาตึงเครียดด้านการเมืองของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน (ที่จริงแล้วประเทศทั่วโลกดูเหมือนกำลังแตกแยกออกเป็นเสี่ยงเช่นกันโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป) ในขณะเดียวกัน Jerry Brown ผู้ว่าการรัฐฯ ประกาศกร้าวว่าจะงดจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลกลาง หากรัฐบาล Trump ยืนกรานดำเนินนโยบายตัดงบประมาณสำหรับเมืองที่ “เปิดรับผู้อพยพ” เพราะ California มีจุดยืนชัดเจนว่าเป็นรัฐที่เปิดกว้างต่อผู้อพยพ
Jerry Brown ผู้ว่าการรัฐ California
ถึงแม้ว่าการแยกตัวเป็นอิสระยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันรัฐ California พร้อมลุกขึ้นเดินตามแนวคิดของตนเองทุกเมื่อ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐ California ภาคภูมิใจในการเป็นผู้นำชั้นแนวหน้าทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสมัยนิยม ชาวอเมริกันหลายล้านคนมองว่า California เป็นเมืองแห่งโอกาสและย้ายถิ่นฐานมายังรัฐแห่งนี้เพราะเป็นเมืองที่มีบรรยากาศสวยงาม อากาศดี เศรษฐกิจเติบโตสูง และเอื้อต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย เป็นถิ่นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เทคโนโลยีอันก้าวล้ำ ภาคการผลิต การขนส่งอากาศยานและการบิน น้ำมัน เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ และมีที่อยู่อาศัยจำนวนมากในราคาเข้าถึงได้
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน California (Photo Credit: scpr.org)
ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ California พัฒนาถอยหลังด้วยนโยบายจัดเก็บภาษีและการบัญญัติข้อกำหนดกฎหมาย ซ้ำรอยแนวทางปฏิบัติที่ผิดพลาดของประเทศแถบยุโรปซึ่งเผชิญกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซา เจ้าหน้าที่ของ Sacramento เมืองหลวงแห่ง California เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ไร้เหตุผลและทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การกำหนดให้พนักงานมีช่วงเวลาพักหากทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมง กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่รับกับความเป็นจริง ข้อกำหนดหรือกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมล้วนแต่มีความสุดโต่งอย่างไม่สนใจเหตุผลรองรับทางวิทยาศาสตร์หรือแนวทางการนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งกฎหมายข้อบังคับเหล่านี้ทำลายภาคเกษตรกรรม กฎหมายข้อบังคับต่างๆ เปลี่ยน California จากสวรรค์ของคนทำงานให้กลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแสนแพง ระบบการศึกษาที่เคยติดอันดับแถวหน้าของประเทศกลับถอยหลังเข้าคลองในปัจจุบัน เงินได้พึงประเมินที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามกำหนดของ California อยู่ในระดับต่ำซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชนชั้นคนทำงาน บุคคลที่มีรายได้ 41,000 เหรียญต่อปีซึ่งถือว่าไม่ได้มากมายต้องเสียภาษีในฐานที่สูงกว่าเหล่าคนรวยในรัฐอื่นๆ ที่มีการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดา จากที่เคยเป็นรัฐที่มีอัตราภาษีเงินได้สูงสุดในประเทศโดยอยู่ที่ 13.3% ในปี 2016 กลับมีร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษี 3 ฉบับที่ผ่านการเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ ไม่น่าแปลกใจที่เหล่าบริษัทต่างๆ เช่น Nestlé USA, Toyota, Northrop Grumman และบริษัทแม่ของ Carl’s Jr. ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังรัฐที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจมากกว่า
Silicon Valley เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจรัฐ California ไม่ให้ดิ่งลง (Photo Credit: David McNew / Newsmaker)
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐ California ประสบปัญหาการอพยพย้ายออกและจำนวนประชากรชนชั้นกลางหดตัวลง เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีอย่าง Silicon Valley และแหล่งอุตสาหกรรมอื่นๆ พยุงให้เศรษฐกิจของ California มีอัตราเติบโตขึ้นเล็กน้อย ทว่า สิ่งนี้แค่ช่วยประวิงสถานการณ์ในทิศทางขาลงเนื่องด้วยระบบภาษีที่ไร้เหตุผล การกำกับดูแลด้านกฎหมายที่บางครั้งดูไร้ประโยชน์และระบบการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ ยังดีที่อย่างน้อยตอนนี้ยังไม่สามารถแยกเป็นอิสระจากสหรัฐฯ เพราะการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ประชากรของรัฐต้องแบกรับภาระหนักและหนีไม่พ้นวิกฤตเดียวกับกรีซในแบบฉบับอเมริกาเหนือ จนบางคนกล่าวว่าแทนที่จะเรียกร้องขอแยกประเทศ California น่าจะแบ่งรัฐใหม่ออกเป็น 2-3 รัฐ ซึ่งดูทีท่าแล้วก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ   Steve Forbes ประธานกรรมการและบรรณาธิการนิตยสาร Forbes