รู้จัก "ลูกจ้าง" ของวันพรุ่งนี้ - Forbes Thailand

รู้จัก "ลูกจ้าง" ของวันพรุ่งนี้

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Sep 2014 | 03:28 PM
READ 2569
ผมเชื่อว่าหลายคนและอาจส่วนใหญ่ของผู้อ่าน Forbes Thailand ไม่ว่าจะในรูปแบบนิตยสารหรือเว็บไซต์ อยากจะก่อร่างสร้างตัว อยากมีกิจการของตัวเอง และสุดท้ายแล้วหวังประสบความสำเร็จจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ไม่ว่ากิจการของคุณจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม สิ่งสำคัญที่หลีกไม่พ้น และอาจเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อความสำเร็จในธุรกิจของคุณคือ "ลูกจ้าง" หรือ "พนักงาน" ประจำบริษัท
 
ในวันที่สังคมเปลี่ยนแปลง เกิดเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามาชี้นำชีวิตคน ให้มีไลฟ์สไตล์ที่ต่างไปจากอดีต (อดีตที่ว่าก็มิเก่าไกลเป็นห้าสิบหกสิบปีเลย) เชื่อว่าในฐานะผู้ประกอบการ ทุกคนต้องขวนขวายศึกษาความต้องการหรือพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทันสมัยตลอดเวลา เพื่อนำทางธุรกิจอย่างสอดรับกับความเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งรุ่งเรืองได้ ลูกจ้าง/พนักงานของคุณเองก็เป็นมนุษย์ร่วมสมัยกับผู้บริโภคของคุณ ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นกัน ลูกจ้างโฉมใหม่ ณ วันนี้ แตกต่างไปจากเมื่อสักสิบปีที่ผ่านมา การจะสร้างองค์กรของตัวเองให้บรรลุเป้าหมาย ย่อมต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ "คนใน" หรือลูกจ้างในองค์กรของตัวเองด้วย
 
Jacob Morgan ได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างลูกจ้างในโลกยุคเก่า กับลูกจ้างที่จะต้องเจอในอนาคต ให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยแผนภาพ infographic ชิ้นนี้

 
โดยอาจสังเขปหัวใจสำคัญได้ว่า:
 
การทำงานที่ยืดหยุ่น
สองหัวข้อแรกอาจเรียกได้ว่า "มุ่งไปที่ผลงาน" การทำงานที่ยืดหยุ่นผ่อนปรน สามารถทำได้ทุกช่วงเวลา และทุกสถานที่ โดยพิจารณาจากเนื้องานที่เกิดขึ้นเป็นหลัก มิได้ดูจากเวลาที่นั่งทำงานติดโต๊ะ องค์กรสมัยใหม่ไม่ต้องการพนักงานที่นั่งทำงานประจำออฟฟิศ หรือตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นอีกต่อไปแล้ว  บริษัท Unilever ประสบความสำเร็จกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบเดิม มาสู่แนวคิดใหม่ที่เรียกว่า agile work ที่ใช้กับพนักงานมากว่า 175,000 คนทั่วโลก
 
ทำงานผ่านเครื่องมือหลากหลาย
ในวันนี้บริษัทที่ห้ามพนักงานใช้อุปกรณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ต้องถือว่าตกยุค เรากำลังเข้าสู่เทรนด์ BYOD (Bring your own device) กันแล้ว  ในอนาคต ลูกจ่างจะสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการทำงานให้กับองค์กร  Ford, IBM และ Intel เป็นบริษัทตัวอย่างระดับแนวหน้าที่ยินยอมให้พนักงานใข้อุปกรณ์ส่วนตัวในการทำงานได้
 
"ระบอบไต่ขั้นบันได" จบแล้ว
เมื่อเริ่มต้นทำงานในบริษัทแห่งใหม่ก็เหมือนกับเรากำลังไต่ขั้นบันได เริ่มจากขั้นล่างสุดไปหาขั้นสูงสุด จากตำแหน่งผู้ประสานงานฝ่ายขาย เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส ผู้อำนวยการฝ่ายขาย และอื่นๆ ต่อไปอีกเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าจะใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อไต่ไปให้ถึงตำแหน่งงานระดับสูงที่ตนเองพึงพอใจ อย่างไรก็ตามในระบบเศรษฐกิจแบบฟรีแลนซ์ ในยุคที่เกิดแพลตฟอร์มสร้างความร่วมมือการทำงาน และวิธีการบริหารจัดการใหม่ๆ ทำให้ลูกจ้างหรือพนักงานสามารถปรับแต่งเส้นทางอาชีพให้เหมาะกันงานที่ตัวเองทำได้ ดังเช่น บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง Deloitte ได้เริ่มโครงการ Mass Career Customization เปลี่ยนงานที่ทำได้ปีละสองหน 
 
การแบ่งปัน
พนักงานมักจะเก็บข้อมูลสำคัญไว้กับตัวเอง เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจหรือเหตุผลใดๆ ที่จะต้องแบ่งปันสิ่งที่เขารู้ให้เพื่อนร่วมงาน เมื่อพวกเขาไม่ได้รับแรงสนับสนุนให้แชร์ หรือให้คิดอย่างสร้างสรรค์เสียแล้ว การทำงานของเขาก็จะสักแต่แสดงให้เห็นว่ากำลังทำงาน หรือเป็นแค่การปฏิบัติภารกิจเท่านั้น การสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดความร่วมมือกันทำงานจึงจำเป็น เพราะทำให้ลูกจ้างสะดวกที่จะแบ่งปันข้อมูลความรู้ รวมทั้งองค์กรก็ต้องสร้างแรงจูงใจในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นด้วย นอกเหนือกว่านั้น ความคิดดีๆ ที่เกิดจากพนักงานขององค์กรบางเรื่อง อาจกลายเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจก็ได้
 
ทุกคนนำทีมได้
เมื่อพนักงานสามารถแสดงความเห็นในองค์กรได้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานจึงมีบทบาทสำคัญ ที่จะทำให้พนักงานมีโอกาสได้รับการยอมรับจากการแบ่งปันไอเดียซึ่งกันและกัน ผู้ใดสามารถสร้างคอนเทนต์ที่เพื่อนร่วมงานสนใจ ก็สามารถเป็นผู้นำได้เช่นกัน เรื่องนี้อาจพิจารณาเทียบเคียงได้จากผู้นำกระแสที่เกิดจากสังคม social media อย่าง Twitter, Instagram หรือ Facebook  ปรากฎการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ภายในบริษัทได้ด้วย
 
ความรอบรู้กับการปรับประยุกต์
ในปัจจุบันนี้ ความรู้ไม่ต่างไปจากวัตถุดิบ ผู้ที่เฉลียวฉลาดในโลกก็คือคนที่หยิบโทรศัพท์มือถือของตัวเองออกมาค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการคำตอบ ด้วยเหตุนี้พนักงานในอนาคต มิใช่จะมีแค่ความรอบรู้เท่านั้น แต่ยังต้องมีความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ โดยจะต้องปรับประยุกต์สิ่งต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์หรือแบบจำลองใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดี ศักยภาพดังกล่าวสำคัญและมีค่ามากกว่า "รอบรู้"
 
เป็นได้ทั้งครูและนักเรียน
สำหรับหลายๆ องค์กร หากพนักงานต้องการเรียนรู้หรือฝึกฝนทักษะบางเรื่อง ก็แค่ไปลงทะเบียน หรือเดินเข้าชั้นอบรม ที่อาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหรือกี่สัปดาห์ แต่ทว่า (ด้วยแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความร่วมมือในการทำงาน) พนักงานอีกไม่น้อยใช้สมาร์ตโฟนของตัวเองเพื่อบันทึก "วิธีทำ" ในเรื่องต่างๆ นับตั้งแต่ติดตั้งโมเดมไปจนถึงโปรแกรมสูตรคำนวนใน exel เป็นต้น  การเปิดโอกาสให้คนระดับพนักงานมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จะช่วยสร้างหนทางการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ในแบบที่เท่าเทียมกันอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
 
 
หากอยากอ่านให้ละเอียด ต้องลองหาซื้อหนังสือ The Future of Work ของเขามาอ่าน  เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในองค์กรของคุณเองครับ
 
 

สรุปจาก The Evolution Of The Employee โดย Jacob Morgan