รากเหง้าของวัฒนธรรมและความเท่าเทียม หญิงไทยเป็นผู้ประกอบการไม่น้อยหน้าบุรุษ - Forbes Thailand

รากเหง้าของวัฒนธรรมและความเท่าเทียม หญิงไทยเป็นผู้ประกอบการไม่น้อยหน้าบุรุษ

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Feb 2015 | 02:11 PM
READ 7344
“เศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันมีจำนวนผู้ก่อตั้งธุรกิจที่เป็นเพศหญิงน้อยกว่าเพศชายและจำนวนผู้ประกอบการหญิงที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจยิ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้ประกอบการชาย”

 
โครงการวิจัย Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ซึ่งคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เป็นสมาชิกแต่ผู้เดียวในไทย ได้ศึกษาเรื่องเพศและการเป็นผู้ประกอบการ โดยพบตัวเลขภาพรวมที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหญิงประมาณ 126 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในช่วงระยะแรกของการสร้างธุรกิจ เช่น กำลังพยายามริเริ่มก่อตั้งและดำเนินธุรกิจ ในขณะที่มีผู้ประกอบการหญิงอีกจำนวน 96 ล้านคนที่อยู่ในฐานะผู้ประกอบการที่มีธุรกิจที่มั่นคงดำเนินต่อไปได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางเพศและการเป็นผู้ประกอบการในบางทวีปและบางประเทศ ตัวอย่าง เช่น ในปากีสถานที่แทบไม่มีสัดส่วนของผู้ประกอบการหญิงเลย 
 
ทว่า เรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับไทย ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 6 ประเทศทั่วโลกที่สัดส่วนผู้ประกอบการชายและผู้ประกอบการหญิงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยอีก 5 ประเทศ เป็นประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน 2 ประเทศ คืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และอีก 3 ประเทศจากแถบแอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย แซมเบีย และบอสวานา
 
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า ผู้ประกอบการหญิงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย และทั่วโลกมีความตื่นตัวในการส่งเสริมและให้โอกาสสตรีในการริเริ่มดำเนินธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกและบริษัทน้ำอัดลมระดับโลกอย่าง Coca Cola ในการให้ทุนสนับสนุนผู้หญิงในการสร้างธุรกิจ เป็นต้น
 
ทำไมผู้ประกอบการหญิงถึงมีความสำคัญ ?
เหตุผลประการแรก คือ ผู้ประกอบการหญิงในปัจจุบันมีความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ประกอบการชาย ทั้งการสร้างงาน การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ ประการที่สอง นอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจและตัวเงิน ผู้ประกอบการหญิงมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสังคมและความเป็นอยู่โดยรวม ผู้ประกอบการหญิงมีแนวโน้มที่จะตอบแทนแก่สังคมในรูปแบบอื่นๆ เช่น การนำกำไรส่วนหนึ่งไปพัฒนาการศึกษา พัฒนาครอบครัวและชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น ซึ่งน่าเสียดายที่เครื่องมือตัวชี้วัดการเจริญเติบโตและการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น GDP และ GNP ไม่ได้พิจารณาและนำคุณประโยชน์ทางด้านสังคมมาใช้ในการคำนวณ  
 
จากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงการพัฒนาผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทย และการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ประกอบการหญิงของผู้เขียน พบว่ามีโอกาสที่จะสนับสนุนการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจจากกลุ่มผู้ประกอบการหญิงในไทย โดยประการแรกคือ การส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุน ผู้ประกอบการหญิงเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบธุรกิจมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบชาย 
 
Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2006 และผู้ประกอบการเพื่อสังคมผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้แห่งแรกของโลกพบว่า ผู้ประกอบการหญิงเกือบทั้งหมดมีความสามารถและแนวโน้มในการชำระหนี้อย่างครบถ้วน และยังนำกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจส่วนหนึ่งไปลงทุนในการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวเขาเหล่านั้นหลุดพ้นจากวังวนแห่งความยากจน ซึ่งธนาคารและสถาบันการเงินจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการหญิงในการสร้างธุรกิจใหม่ รวมทั้งการขยายธุรกิจของเขาเหล่านั้น 
 
ประการที่สอง คือ พี่เลี้ยงทางธุรกิจ (Mentor) การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ สามารถทำได้ผ่านการบ่มเพาะของพี่เลี้ยงทางธุรกิจที่มีประสบการณ์มาก่อน องค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้ทำธุรกิจมาก่อนในฐานะพี่เลี้ยงทางธุรกิจเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่า โดยผู้ประกอบการหญิงส่วนใหญ่มักขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งพี่เลี้ยงทางธุรกิจ 
 
 
ประการที่สาม คือ เรื่องการส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ประกอบการหญิง การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมความเป็นผู้ประกอบการ ทุกๆ คนควรจะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ แนวโน้มผู้ประกอบการหญิงของไทยในปัจจุบันมีระดับการศึกษาโดยรวมที่สูงกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ และภาคใต้ ผู้ประกอบการหญิงส่วนใหญ่เริ่มต้นธุรกิจหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 
 
อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาของผู้ประกอบการหญิงโดยรวมในประเทศไทยยังคงต่ำกว่าผู้ประกอบการชาย ในการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ความรู้และนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อาศัยนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Innovation-driven economies) โดยการศึกษาและการฝึกอบรมควรมุ่งเน้นในส่วนดังกล่าวทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการชายและหญิง
 
ผู้ประกอบการหญิง... อะไรคือความแตกต่าง?
ผู้ประกอบการหญิงมองโลกผ่านมุมมองที่แตกต่าง และทำในสิ่งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการชาย โดยไม่ใช่เพียงแต่ประเภทธุรกิจที่ทำ แต่รวมถึงวิธีการทำธุรกิจ การตัดสินใจ และการปฏิบัติต่อคนรอบข้างในลักษณะที่แตกต่างจากผู้ชาย ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศไทย การยอมรับในคุณค่าของสตรี ในฐานะ “เพศแม่” มีมาอย่างช้านาน วีรสตรีมักจะเกิดขึ้นในยามที่คับขัน ยามที่สังคมบ้านเมืองมีปัญหาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยผู้หญิงเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ความมีศักดิ์ศรี ความซื่อสัตย์ ความรัก และการยอมรับ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านั้นสามารถนำมาปรับใช้ในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ชีวประวัติของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีไทยที่ป้องกันเมืองถลางให้พ้นจากข้าศึกได้ในสงครามเก้าทัพ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
 
“อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ” หรือ “อ่อนนอก แข็งใน” เป็นคำอุปมาอุปไมยที่สามารถนำมาใช้เปรียบเปรยกับผู้ประกอบการหญิงไทยได้เป็นอย่างดี ใครก็ตามที่ได้รู้จักผู้ประกอบการหญิงเหล่านั้นในบทบาทเจ้าของธุรกิจ อาจประหลาดใจและตั้งคำถามว่า “นี่ ใช่เธอหรือ?” 
 
สำหรับผู้หญิงบางคน การประสบความสำเร็จในธุรกิจมีความหมายมาก ซึ่งหมายรวมถึงการเป็นต้นแบบ เป็นแบบฉบับให้บุคคลอื่น รวมทั้งสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองไปข้างหน้าอยู่เสมอ ในสังคมไทยนั้นผู้หญิงมีบทบาท มีความสำคัญในด้านต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชายมาตลอด ดังมีคำกล่าวว่า "ผัวหาบ เมียคอน" และในยามศึกสงครามผู้หญิงไทยยังแต่งตัวเป็นชายจับดาบออกต่อสู้กับข้าศึกได้ จนมีคำกล่าวยกย่องผู้หญิงไทยว่า "หญิงไทยใจกล้า เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง แกร่งนักหนา"

 

Ulrike Guelich เป็นนักวิจัยอาวุโสโครงการ GEM และอาจารย์ประจำ BUSEM สนใจทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโทด้านผู้ประกอบการ ติดต่อที่ busem@bu.ac.th หรือ 0-2350-3500 ต่อ 1795