ระบบทุนนิยมกับความเหลื่อมล้ำ - Forbes Thailand

ระบบทุนนิยมกับความเหลื่อมล้ำ

ตั้งแต่กรณี Brexit ที่อังกฤษปีที่แล้ว ความเสี่ยงทางการเมืองได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของนักลงทุนที่กระแสความไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจเป็นความเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายเสรีนิยมที่เป็นกระแสหลักของระบบทุนนิยม

ความไม่พอใจนี้ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกของประชาชนที่รู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ยิ่งตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 ที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงต่อเนื่อง ความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายประเทศดูแย่ลง พร้อมกับความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น คือคนรวยยิ่งรวยขึ้นและคนจนจนลง จนเกิดคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของระบบโลกาภิวัตน์และนโยบายเสรีนิยม รวมถึงระบบทุนนิยมเองว่าล้มเหลวหรือไม่ ที่ไม่สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของคนทั่วไปดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจกลับมีมากขึ้น ยิ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีปัญหาและไม่ขยายตัว เช่นในยุโรป ความรู้สึกนี้มีมากและชัดเจน ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำในทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งในระบบเศรษฐกิจเป็นผลสะสมของการเติบโตของระบบทุนนิยมที่ผู้เป็นเจ้าของทุนและทรัพย์สินสามารถขยายความมั่งคั่งให้เติบโตไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่จากข้อเท็จจริงที่การเติบโตของผลตอบแทนของทุนสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ความแตกต่างนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ระบบทุนนิยมจึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง และถ้าไม่แก้ไข ความเหลื่อมล้ำก็จะมีมากจนอาจเป็นข้อจำกัดหรือเป็นความเสี่ยงต่อระบบทุนนิยมได้ในอดีต นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจจะลดลง เมื่อเศรษฐกิจมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น เช่น ทฤษฎีของศาสตราจารย์ Simon Kuznets ยุค 50 และ 60 ที่สรุปว่าความเหลื่อมล้ำจะมีมากในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะภาคแรงงานจะได้ผลตอบแทนต่ำจากการเติบโตของเศรษฐกิจ คือได้น้อยกว่าเจ้าของทุน แต่เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นค่าจ้างแรงงานก็จะเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับแรงงานจะมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้การกระจายผลการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มแรงงานในรูปค่าจ้างเงินเดือนก็จะมากขึ้น รวมถึงชนชั้นกลางที่เป็นผู้บริหาร ทำให้ความเหลื่อมล้ำจะเริ่มลดลง นี่คือที่มาของแนวคิดการกระจายผลการเติบโตจากบนสู่ล่างหรือ Trickle-Down Effect ที่เป็นความหวังของนักพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตอย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในปัจจุบัน อย่างเช่นงานของศาสตราจารย์ Thomas PiKetty แห่งมหาวิทยาลัยปารีสชี้ว่าความเหลื่อมล้ำอาจไม่ดีขึ้น แม้เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวที่ดีและสัดส่วนของค่าจ้างแรงงานในรายได้ประชาชาติจะสูงขึ้นเพราะความสามารถของทุนที่จะหาผลตอบแทนในอัตราที่สูงก็จะมีมากเช่นกัน เนื่องจากทุนสามารถมีที่มาของรายได้จากหลายทาง นอกจากนั้น บทบาทของกลุ่มทุนที่มีมากต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศก็สามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ทำให้ความสามารถของทุนในการหารายได้มักจะไม่ติดขัดแม้ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวต่า นี่คืออีกปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจอาจไม่ดีขึ้นโดยง่ายอย่างที่หวัง ด้วยเหตุนี้ การลดความเหลื่อมล้ำจะต้องมาจากการแทรกแซงจากภายนอก เช่น นโยบายภาครัฐที่มีเครื่องมือหรือมาตรการที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เช่น มาตรการภาษี คือภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีที่เก็บจากฐานความมั่งคั่ง (wealth tax) หรือการให้ความช่วยเหลือการเงินแก่กลุ่มที่มีรายได้น้อยหรือเปราะบางทางเศรษฐกิจ หรือการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การมีงานทำ และระบบสินเชื่อ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มาตรการของภาครัฐสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แต่จะทำหรือไม่คงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและมุมมองของกลุ่มทุนเอง ในกรณีที่ไม่ทำอะไรหรือไม่สนใจ ภาวะเศรษฐกิจที่กดดันความเป็นอยู่ของคนในสังคมบวกกับความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น ก็อาจเป็นแรงเสริมให้ความไม่พอใจอย่างที่กล่าวถึงมีมากจนเป็นความเสี่ยงให้การเมืองในประเทศเปลี่ยนแปลงและอาจสร้างปัญหาใหญ่ตามมา เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซุเอลาขณะนี้ ทำให้ผู้ทำนโยบายและกลุ่มทุนต้องให้ความสำคัญและไม่ควรละเลยความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจและต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยและอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
อ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กันยายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine