ยากับนโยบายการค้า - Forbes Thailand

ยากับนโยบายการค้า

นี่จะเป็นประเด็นที่สร้างคะแนนให้ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ไม่น้อย ในอันที่จะสางปัญหาการล่วงละเมิดทางการค้า ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้เป้าหมายการลดราคายาตามใบสั่งแพทย์มีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น นั่นคือการยืนกรานให้ผู้ซื้อต่างประเทศที่ซื้อยาจากบริษัทเวชภัณฑ์ของอเมริกา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐบาล ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนายาเหล่านี้ ปัจจุบัน ชาวอเมริกันเป็นผู้ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ใช้ยาของอเมริกาในต่างประเทศ

ระบบการผลักดันยาตัวใหม่เข้าสู่ตลาดในสหรัฐฯ จนประสบความสำเร็จนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.4 พันล้านเหรียญ กระบวนการการอนุมัติทั้งหมดก่อนที่ยาจะได้รับการอนุมัติใช้เวลาประมาณ 12 ปี ค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมถึงยาตัวอื่นๆ ทั้งหมดที่มีการค้นคว้าวิจัยแต่ไม่ได้นำออกไปใช้นอกห้องทดลอง หรือไม่ก็ไม่ผ่านขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและกินเวลายาวนาน บริษัทยาจะได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ยาของพวกเขาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งหมายความว่าบริษัทเหล่านี้จะมีเวลาที่มีอำนาจผูกขาดประมาณ 8 ปี (อายุสิทธิบัตร 20 ปี หัก 12 ปี ที่ต้องสูญไปในการสะสางความยุ่งยากต่างๆ เพื่อให้ยาตัวหนึ่งๆ สามารถออกจำหน่ายได้) จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาเริ่มต้นของตัวยาใหม่ๆ จะสูงลิบลิ่ว แม้ว่าค่าผลิตที่แท้จริงต่อยา 1 เม็ดจะต่ำมาก (ตามหลักการก็คือเมื่อยาหลุดสิทธิบัตรแล้ว ผู้ผลิตรายอื่นจะรีบนำยาสูตรลอกเลียนซึ่งเรียกว่ายาสามัญออกสู่ท้องตลาดจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ามาก น่าเสียดายที่กฎเกณฑ์ต่างๆ ของ FDA ทำให้กระบวนการนี้ต้องล่าช้า Dr. Scott Gottlieb คณะกรรมาธิการคนใหม่ของ FDA ได้ขจัดอุปสรรคดังกล่าว นี่เป็นเหตุผลที่อัตราการอนุมัติตัวยาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว) เมื่อบริษัทยาขายยาตัวใหม่ในต่างประเทศ ผู้ซื้อต้องการซื้อในราคาเพียงเสี้ยวเดียวที่ชาวอเมริกันต้องจ่าย ข้อเรียกร้องประเภท “เราจะให้ข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้” ของพวกเขาดูราวกับการต่อรองของมาเฟียมากกว่านักธุรกิจธรรมดาๆ การข่มขู่อย่างชัดเจนหรือบางครั้งเป็นไปแบบแอบแฝงจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่ว่า ถ้าบริษัทยาไม่ตกลงตามข้อเรียกร้อง รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะอนุญาตให้บริษัทยาอื่นผลิตยาลอกเลียนออกขาย ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องทำให้ยาจากอเมริกาได้ราคาที่ยุติธรรมในตลาดต่างประเทศ โดยต้องกำหนดให้เป็นนโยบายการค้าที่มีความสำคัญสูงสุด คือถ้าคุณไม่จ่ายค่าวิจัยและพัฒนาให้เรา คุณจะไม่ได้ยา เป็นอันจบ และถ้าคุณพยายามลอกเลียนสูตรยา เราจะตอบแทนด้วยมาตรการที่สาสม ถ้าสำเร็จ ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะได้จ่ายค่ายาในราคาที่ถูกลงมาก การเผยแพร่ปัญหาที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ทำให้ชาวอเมริกันได้รับรู้ว่าระบบการอนุมัติยาในปัจจุบันของอเมริกาสิ้นเปลืองและล้าหลังเพียงใด อันจะเป็นการสร้างแรงสนับสนุนทางการเมืองต่อการปฏิรูปแบบที่ Scott Gottlieb กำลังพยายามผลักดัน FDA ให้ทำ ผลดีที่ตามมาคือจะเป็นการลดแรงต้านจาก FDA ต่อความต้องการของประธานาธิบดีในการให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีสิทธิใช้ยาที่ยังติดขั้นตอนทางราชการระหว่างรอการอนุมัติ
STEVES FORBES, EDITOR-IN-CHIEF
เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม