มาตรวัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

มาตรวัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jul 2014 | 01:47 PM
READ 6659
ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2014 สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐ (Bureau of EconomicAnalysis หรือ BEA) จะเผยแพร่สถิติวัดเศรษฐกิจรายไตรมาสชุดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนคือ Gross Output (GO) การวัดนี้จะดูจากมูลค่ายอดขายรวมทุกขั้นของการผลิต GO มีขนาดใหญ่เกือบ 2 เท่าของ GDP ซึ่งเป็นมาตรวัดมูลค่าสินค้าและบริการแต่ละประเทศผลิตในแต่ละปีแบบเดิม
 
ผมเสนอไว้ในหนังสือ The Structure of Production ปี 1990 ว่า เราต้องการชุดสถิติใหม่ที่ไปไกลกว่า GDP ที่วัดการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ใช่เพียงแค่ผลผลิตขั้นสุดท้าย จากงานวิจัยของผม GO เป็นดัชนีที่ดีกว่าของวัฏจักรธุรกิจ และคงเส้นคงวากว่าทฤษฎีการเติบโตของเศรษฐกิจ
 
แม้ GDP เป็นตัวชี้วัดที่ดีสำหรับผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ทว่ามีข้อบกพร่องใหญ่ประการหนึ่งคือการมุ่งตีกรอบไปที่การวัดมูลค่าผลผลิตขั้นสุดท้าย ได้ลดระดับความสำคัญของเศรษฐกิจในแง่ “การผลิต”  นั่นก็คือห่วงโซ่อุปทานที่จำเป็นในการผลิตสินค้าและบริการไปสู่ขั้นสุดท้าย
 
ด้วยมุมมองคับแคบต่อ GDP ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมากในวงการสื่อสารการวางนโยบายภาครัฐและการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน เช่นผู้สื่อข่าวมักให้ความสำคัญเกินไปกับการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐ ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นการออมการลงทุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
 
เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคคิดเป็น 70% ของ GDP หรือมากกว่าตามด้วยการใช้จ่ายภาครัฐที่ 20% สื่อมวลชนก็สรุปอย่างทื่อๆ ว่า การชะลอตัวของยอดค้าปลีกและแรงกระตุ้นจากภาครัฐต้องเป็นเรื่องที่ไม่ดีสำหรับเศรษฐกิจ Wall Street Journal ระบุเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า “ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องขับเคลื่อนใหญ่ที่สุดแรงเดียวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเซื่องซึมลง”
 
หรือข้อความใน New York Times ปี 2011 ช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวว่า “ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศในไตรมาสที่ 2 เมื่อวันศุกร์ (อยู่ที่ 1.3% ต่ำกว่าคาดการณ์เฉลี่ย) นำมาซึ่งภาพที่ไม่โสภาว่า การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนที่ลดลงจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจได้... อัตราการเติบโตที่ช้าลงอย่างน่าพิศวงระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายนมีสาเหตุหลักจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ซบเซา และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทั้งสองปัจจัยทำให้ตัวเลขการเติบโตลดลง ทว่าการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงก็มีส่วนฉุดรั้งเศรษฐกิจเช่นกัน”
 
GO เผยให้เห็นความคิดที่ผิดพลาดเหล่านี้ ประการแรก GO นำมาซึ่งภาพที่ชัดเจนกว่าว่า อะไรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะหากใช้ GO เป็นตัววัดแล้วจะพบว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสัดส่วนราว 40% ของเศรษฐกิจไม่ใช่ 70% ตามที่นิยมอ้างกันการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ (การลงทุนภาคเอกชนรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับปัจจัยการผลิต) มีขนาดใหญ่กว่ามากถึง 50% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด นั่นสะท้อนทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้แม่นยำกว่า ซึ่งเน้นตรงการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการลงทุนทางเทคโนโลยีของผู้ผลิตการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นส่วนใหญ่เป็นผลไม่ใช่เหตุแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
 
ประการที่สอง GO สะท้อนวัฏจักรธุรกิจได้ดีกว่า GDP มาก ระหว่างภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2008/09 GDP ก่อนหักเงินเฟ้อตกลงเพียงแค่ 2% ขณะที่ GO ทิ่มหัวลงกว่า 7% และรายจ่ายรวมด้านปัจจัยการผลิตตกลงกว่า 10% และตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา GDP เพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี ในขณะที่ GO เพิ่มขึ้นกว่า 5% ต่อปี
 
ผมเชื่อว่า GO ช่วยทำให้เห็นภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างชัดเจน GO น่าจะช่วยสร้างความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างภาคการผลิตและการบริโภคหรือระหว่างเศรษฐกิจของ “การสร้าง” กับ “การใช้” และไปได้ด้วยดีกับทฤษฎีการเจริญเติบโต
 
ดังที่ Steve Landefeld ผู้อำนวยการของ BEA และ Dale Jorgenson กับ William Nordhouse บรรณาธิการร่วมกล่าวไว้ในหนังสือ A New Architecture for the U.S.Economic Accounts ว่า GO เป็นเครื่องวัดตามธรรมชาติของภาคการผลิต ในขณะที่ผลลัพธ์สุทธิหรือ GDP เหมาะสมในการเป็นเครื่องวัดของความกินดีอยู่ดีแ ละทั้งสองเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ในระบบบัญชีผลิตภัณฑ์มวลรวมมีความสมบูรณ์”
 
เมื่อ BEA ประกาศตัวเลข GDP ฤดูใบไม้ผลิเ ราควรใส่ใจสถิติที่สำคัญยิ่งกว่าคือ GO



Mark Skousen บรรณาธิการ Forecasts & Strategies และอาจารย์พิเศษที่ Chapman University ในปี 2014 เขาเป็นผู้แต่ง The Structure of Production ซึ่งเสนอว่า Gross Output ควรเป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคที่จำเป็น

TAGGED ON