“ภาษีมรดก” เรื่องปวดหัวใหม่ของคนรวย - Forbes Thailand

“ภาษีมรดก” เรื่องปวดหัวใหม่ของคนรวย

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Oct 2014 | 01:49 PM
READ 3300
คนรวยในยุคนี้ดูเหมือนอยู่ไม่ง่ายเหมือนยุคก่อน ในแต่ละวันเขาไม่เพียงจะวุ่นวายหาเงินเพิ่มพูนทรัพย์สินสร้างความมั่งคั่ง แต่เขายังคงต้องหาวิธีรักษาทรัพย์สมบัติของเขาให้สืบทอดต่อไปในเวลาเดียวกัน พวกเขารู้และตระหนักดีว่า ภัยคุกคามความรวยมาจากหลากหลายปัจจัยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ภาษีมรดก” ซึ่งหลายคนยังคงตั้งคำถามและงงๆ กับมันอยู่
 
กฎหมาย "ภาษีมรดก" แม้ว่าจะอยู่ระหว่างกระบวนการยกร่างของรัฐบาล แต่ด้วยความเป็นสิ่งแปลกใหม่ในสังคมไทย จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นหัวข้อที่ประชาชนคนมีเงินหรือผู้มีทรัพย์สินเก็บออม ล้วนสนใจอยากรู้เตรียมรับมือในอนาคต
 
ธนาคารกรุงเทพได้ตระหนักในจุดนี้ จึงได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ "วางแผนภาษีมรดก และการส่งมอบความมั่งคั่ง" เพื่อบริการแก่ลูกค้าของทางสถาบันเป็นการเฉพาะ เหตุผลเพื่อคลายความกังวลให้กับเขา โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากรคนสำคัญ สุวรรณ วลัยเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานชมรมคนออมเงิน มาเป็นผู้บรรยายให้ความกระจ่าง
 
ประธานชมรมคนออมเงินกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีมรดกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยริเริ่มจากผู้บริหารประเทศในอดีต เมื่อปี 2478 อย่างไรก็ตาม เป็นการจัดเก็บช่่วงเวลาไม่นาน และยกเลิกในเวลาต่อมา   
 
เขายอมรับว่า อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บไม่ได้เป็นเรื่องง่ายในปัจจุบัน เนื่องจากคงมีอุปสรรคต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดเก็บ บุคลากร การบริหารจัดการที่ต้องลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ข้อมูลที่จะใช้จัดเก็บยังไม่ทราบว่าจะหาจากไหน รวมทั้งอุปสรรคด้านกฎหมายอีกเป็นจำนวนมาก 
 
อย่างไรก็ตาม ประชาชนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะกฎหมายจัดเก็บภาษีมรดกยุคปัจจุบันน่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้ โดยรัฐบาลเชื่อว่าคนที่มีทรัพย์สินมากจะยอมชำระภาษีนี้ เนื่องจากจัดเก็บในอัตราไม่สูงเกินไป นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นอีกว่า ทายาทผู้รับมรดกจะไม่เดือดร้อนจนต้องขายสมบัติมาชำระภาษี จากการติดตามข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่พอจะสรุปหลักในการจัดเก็บได้กว้างๆ คือ จะจัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น บ้าน ที่ดิน ยานพาหนะ รวมทั้งหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้น พันธบัตร และกองทุน ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียน เช่น พระเครื่อง นาฬิกา ศิลปโบราณวัตถุ ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี 
 
ทั้งนี้ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แนะวิธีวางแผนเพื่อรับมือภาษีมรดกว่า ต้องมองไปในอนาคตให้มากกว่าปัจจุบันหรืออดีต ในช่วงเวลาที่ยังเหลือยังจะสามารถสร้างสินทรัพย์ได้มีมากแค่ไหน เพราะทรัพย์สินที่เคยสร้างมาในอดีตนับแต่จะมีมูลค่าลดลงไปเรื่อยๆ หากจะครอบครองสินทรัพย์ใดก็ให้ทำในนามของบุตรไปเลย 
 
ตัวอย่างเช่นหากจะซื้อที่ดิน ก็ให้ซื้อในนามบุตร เสร็จแล้วก็ให้เขาทำหนังสือมอบอำนาจไว้กับเรา รวมทั้งเป็นผู้เก็บโฉนดที่ดินไว้กับตัว แต่หากใครยังไม่มั่นใจ ก็ให้ใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดด้วย เพียง 1% ก็พอแล้ว 
 
สุวรรณกล่าวอีกว่า ต่อไปข้างหน้าควรถือครองที่ดินให้น้อยลง แต่ให้เปลี่ยนเป็นถือหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เช่น SUPALI, LPN หรือ PRUKSA แทน หรือถือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เช่น SPF หรือ TGROWTH ที่ให้ผลตอบแทนปีละ 7-10% เป็นต้น  นอกจากนี้ควรที่จะลงทุนในทองคำหรือทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนมากขึ้น
 
นอกจากนี้แล้ว เขายังแนะนำให้จัดตั้ง Holding Company ขึ้นมาจัดการทรัพย์สินของครอบครัวเพราะบุคคลมีวันตาย แต่นิติบุคคลไม่มีวันตาย สามารถบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมทั้งกงสีไปได้ตลอด โดยร่างระเบียบข้อบังคับให้เหมาะสม นอกจากนี้อาจจะไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยตั้ง Holding Company หรือ Trust ที่ต่างประเทศก็ได้
 
"กฎหมายเก็บภาษีมรดกต้องออกมาควบคู่กับกฎหมายภาษีการยกทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ซึ่งอย่างหลังต้องมีประสิทธิภาพด้วย มิเช่นนั้นการเก็บภาษีมรดกก็จะเป็นหมัน" นักกฎหมายชื่อดังตั้งข้อสังเกต