ภารกิจสร้างผู้นำไทย 2020 - Forbes Thailand

ภารกิจสร้างผู้นำไทย 2020

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jul 2014 | 04:21 PM
READ 3449
ในช่วงที่ธุรกิจ องค์กร และประเทศ กำลังเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงสภาวะตลาดโลก และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของการดำเนินธุรกิจให้ต้องมุ่งเน้นในความรวดเร็วและคล่องตัว เพื่อให้แข่งขันได้กับนานาประเทศ ศักยภาพของผู้นำนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และอาจใช้ชี้วัดถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้
 
   ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทชั้นนำในเมืองไทยมายาวนานกว่า 21 ปี ทำให้ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงในองค์กรมากมายหลายท่านถามอยู่เสมอว่าดิฉันคิดว่า “ผู้นำไทยในปี 2020 ควรเป็นอย่างไร และจะเป็นอย่างไร?”
 
    ดังนั้น ดิฉันและทีมที่ปรึกษาเอพีเอ็มกรุ๊ป ร่วมกับศาสตราจารย์ Bruce McKenzie ผู้เชี่ยวชาญด้าน Systemic Thinking จากสถาบัน Systemic Development Institute ของออสเตรเลีย ร่วมกันหาคำตอบด้วย Systemic Approach เพื่อหาแนวทางพัฒนาผู้นำไทยให้นำพาธุรกิจ องค์กร และประเทศไทย แข่งขันได้ในเวทีโลก
 
    งานวิจัยชิ้นนี้รวบรวมความคิดของคนไทยจากแต่ละมุมโลกที่แตกต่างด้านเพศ อายุ และอาชีพ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อช่วยให้ทีมวิจัยเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นผู้นำในมุมมองต่างๆ จนค้นพบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และสิ่งที่น่ากังวลของผู้นำไทยในปัจจุบัน
 
    ผลการศึกษาครั้งนี้ถือเป็นการโละทิ้งทฤษฎีความเชื่อแบบเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าใจคุณลักษณะของผู้นำไทยอย่างแท้จริง โดยไม่เพียงอิงจากตำราต่างประเทศแล้วมาประยุกต์ใช้กับคนไทย
 
     เบื้องต้นสรุปออกมาได้ว่าคุณลักษณะที่ผู้นำไทยพึงมีในปี 2020 นั้น มี 6 ประการ เริ่มจาก ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์อันคลุมเครือ ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ผู้นำหลายคนเลือกที่จะ “หยุดรอ” หรือ “ชะลอ” จนกว่าสถานการณ์จะชัดเจนขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ถูกต้อง เพราะยิ่งทำอะไรได้ช้ากว่าคนอื่น
 
    การเป็นผู้นำด้วยวิธีการทำงานแบบเชิงรุกและยืดหยุ่น เพราะไม่มีอะไรจะเป็นตามแผนตลอดเวลา จึงต้องการผู้นำที่ปรับตัวได้เร็วการที่คนไทยไม่ยืดหยุ่น คือชอบทำแบบเดิมตลอดเวลา เมื่อต้องติดต่อกับคนที่ไม่คุ้นชิน หลายๆ ครั้งมักจะถอย ไม่ยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวเข้ากับคนใหม่ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ประเทศไทยไม่เกิดนวัตกรรมขึ้นมา
 
    การเป็นผู้นำด้วยการร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลที่หลากหลายและต่างมุม รวมถึงการเปิดใจรับฟัง เพราะการสนทนาช่วยต่อยอดความคิดให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างคนต่างรุ่น-ต่างวัย ที่จะนำมาซึ่งการบูรณาการประสบการณ์ที่มีคุณค่าของคนรุ่นก่อนกับแนวความคิดและข้อมูลใหม่ๆ ที่คนรุ่นใหม่รับเข้ามา

    การเป็นผู้นำที่สร้างความมั่นใจและความไว้ใจในตัวบุคคลได้ นั่นคือการสร้างความศรัทธา ทั้งนี้ การเป็นผู้นำไม่ได้ก่อให้เกิดความเชื่อถือเพียงเพราะมีตำแหน่ง แต่ผู้นำที่มีความสามารถนั้นต้องสร้างศรัทธาและความเชื่อใจขึ้นมาด้วยตัวเอง
 
    ความสามารถในการรับมือกับความท้าทายที่เหนือความคาดหมายด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ ต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อรับมือความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดผู้นำต้องรู้ด้วยว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงมี 3 แบบ คือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (Unlearn) และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ (Relearn)ซึ่งจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
 
    การเป็นผู้นำภายใต้กรอบการทำงานระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กัน ผู้นำไทยหลายคน มองงานในวันนี้เพื่อให้เสร็จวันนี้ได้ผลงานปีต่อปี ซึ่งอาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่บางคนชอบคิดไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ระยะสั้นการทำงานวันต่อวันมีปัญหา
 
    ดังนั้น ผู้นำที่ดีในอนาคตจึงต้องสร้างสมดุลของกรอบการทำงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวพร้อมกันได้ ต่อมาจึงศึกษาหาข้อมูลอีกขั้น เพื่อหาแนวทางเติมเต็มคุณสมบัติที่ยังขาดอยู่ของผู้นำไทยผ่านกระบวนการ “Windtunnel” แล้วพบว่า การสร้างผู้นำที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์อันคลุมเครือได้ ต้องสร้างคนที่ช่างสังเกต เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร จากนั้นผู้นำต้องสร้างเสริมทักษะประเมินสถานการณ์จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงก่อนจะนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวางแผน
 
    ส่วนการสร้างผู้นำให้มีความยืดหยุ่น ต้องสร้างผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างนวัตกรรมเสมอ และขยายมุมมองทางความคิดกว้างขึ้น จนสามารถทำความเข้าใจความท้าทายต่างๆ ที่องค์กรต้องเผชิญ เพราะมุมมองที่กว้างขึ้น และมีนวัตกรรม จะช่วยให้ค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
 
    ในส่วนของกลยุทธ์สร้างผู้นำที่สามารถร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลที่หลากหลายนั้น ต้องสร้างผู้นำที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กรให้ความสำคัญกับการแบ่งปันความรู้และความคิดระหว่างกันอย่างเปิดกว้าง โดยไม่ยึดติดกับปัจจัยด้านอาวุโสหรือตำแหน่งงาน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรให้ก้าวหน้าอย่างราบรื่น
 
    การสร้างผู้นำที่สามารถสร้างความมั่นใจและความไว้ใจในตัวบุคคลได้ ต้องพัฒนาศักยภาพผู้นำโดยสร้างความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสภาวการณ์ที่ทำให้คนในองค์กรขาดส่วนร่วมในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ความเข้าใจนี้ยังประยุกต์ใช้เพื่อช่วยให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมกับองค์กรอย่างเปิดกว้างขึ้น และสร้างความเชื่อใจในตัวผู้นำได้
 
    สำหรับการสร้างความสามารถในการรับมือความท้าทายที่เหนือความคาดหมาย ด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องพัฒนาคนโดยเน้นว่างานจะสำเร็จตามเป้าหมายได้เมื่อทุกฝ่ายนำข้อมูลความรู้มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในเรื่องความสำเร็จและล้มเหลวที่ผ่านมา นอกจากนั้นต้องสร้างผู้นำที่น้อมรับความ “ไม่รู้” และ “พร้อมเรียนรู้” ตลอดเวลา
 
    ท้ายที่สุด การสร้างผู้นำที่สามารถมองผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต้องสร้างทักษะในการวิเคราะห์ถึงผลกระทบระยะยาวของการกระทำในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรตระหนักถึงผลกระทบของทุกๆ การตัดสินใจที่มีต่อความยั่งยืนขององค์กรโดยคำนึงทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร
 
    สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ คุณลักษณะของผู้นำทั้ง 6 ประการต่างเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือการพัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่งย่อมส่งผลดีต่อทักษะอื่น ในทางตรงข้าม หากไม่ได้ปรับปรุงทักษะด้านที่อ่อนอยู่ ก็จะส่งผลเสียต่อทักษะอื่นๆ เช่นกัน

    การวิเคราะห์หาจุดอ่อนและพัฒนาทักษะที่ขาดนั้นเป็นเรื่องยากที่แต่ละองค์กรจะทำได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการการวิเคราะห์ที่เป็นกลาง ไร้ซึ่งอคติจากคนในองค์กร จึงอาจจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วย
 
    ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอตามความต้องการของธุรกิจ องค์กร และประเทศ คำถามที่ผู้นำหลายๆ คนต้องตอบ คือ พวกเขาควรจะเปลี่ยนเมื่อใด เพื่ออะไรและอย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย หากผู้บริหารยังเมินเฉย หรือไม่เริ่มปรับตัว เราก็จะมีผู้นำไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ องค์กร และประเทศไทย ไปสู่เวทีโลก



อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป องค์กรที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาองค์กรและบุคลากร