ฟุตบอลโลกบราซิล บทเรียนราคาแพงสำหรับ "ตลาดเกิดใหม่" - Forbes Thailand

ฟุตบอลโลกบราซิล บทเรียนราคาแพงสำหรับ "ตลาดเกิดใหม่"

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Jun 2014 | 05:17 PM
READ 3874
Grant Thornton ฟันธง ฟุตบอลโลกมนต์เสื่อม หมดแรงฉุดบราซิลออกจากหล่มเศรษฐกิจ เตือนใจประเทศกำลังพัฒนาอย่าใจใหญ่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา หวั่นสนามฟุตบอลจะทิ้งร้างไร้ประโยชน์

ในรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของ Grant Thornton (The Grant Thornton International Business Report: IBR) พบว่า ความตื่นตัวของภาคธุรกิจในประเทศบราซิล ในฐานะเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ได้ลดดถอยลงตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้นำธุรกิจบางส่วนยังคาดหวังถึงการลงทุนหรือผลกำไรที่อาจเพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการไหลของนักท่องเที่ยวในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก
 
"แอนดรูว์ แม็คบีน" หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “การเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ มักจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตให้แก่ประเทศเจ้าภาพ ดังเช่น ตัวเลขประมาณการรายได้จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค ในกรุงลอนดอน สามารถช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอังกฤษในปี 2555 เพียงปีเดียว สูงถึงราว 9.9 พันล้านยูโรหรือประมาณ 551,000 ล้านบาท 
 
"แต่อย่างไร การประกาศถอนตัวของประเทศเวียดนามในการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18  ย่อมเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สำหรับตลาดเกิดใหม่ที่จะรับเป็นเจ้าภาพ จำเป็นต้องประเมินถึงผลกระทบที่อาจตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม”
 
ผลสำรวจของ IBR ยังเผยให้เห็นสัดส่วนของผู้นำธุรกิจในประเทศบราซิล ที่เชื่อว่าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีจำนวนลดลงจากร้อยละ 80 ในไตรมาส 1 ปี 2012 เหลือเพียงร้อยละ 33 ในไตรมาส 1 ปี 2014  ในทำนองเดียวกัน มีธุรกิจในปัจจุบันเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ที่วางแผนลงทุนเพิ่ม ซึ่งลดลงจากร้อยละ 23 ในปี 2012  ผลสำรวจยังพบว่ามีเพียงร้อยละ 19 ที่คาดว่ากำไรของเขาจะเพิ่มขึ้น และมีถึงร้อยละ 52 ที่คาดว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
 
"มาเดลีน บลังเค่นสตีน" หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศบราซิล เห็นว่า เนื่องจากเศรษฐกิจในบราซิลที่ไม่สู้ดีในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ความตื่นตัวของนักธุรกิจต่อการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกกำลังค่อยเป็นค่อยไป 

โดยสิ่งแรกที่ทุกคนต่างคาดหวังคือการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมมากกว่า 600,000 คนในฤดูร้อนนี้ ยังไม่รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2016 ที่กำลังใกล้เข้ามา อาจจะให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว 
 
"สิ่งเหล่านี้ควรเป็นโอกาสของประเทศบราซิลต่อประชาคมโลก แต่กลับกลายเป็นเรื่องของความล่าช่าในการก่อสร้างสนาม และการประท้วงของประชาชนต่อภาครัฐและฟีฟ่า ที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจ"
 
นอกจากนี้ ผู้นำทางธุรกิจร้อยละ 42 มองว่าผลพลอยได้สำคัญของบราซิล จากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการคมนาคนขนส่ง ขณะที่ร้อยละ 26 คาดหวังถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามร้อยละ 31 มองว่าการก่อสร้างสนามกีฬาในเมืองสร้างความยุ่งยากในการใช้ชีวิตประจำวัน และมีเพียงแค่ร้อยละ 40 ที่เชื่อว่าสนามกีฬาจะถูกนำกลับมาใช้ หลังจบการแข่งขัน
 
“การบริหารจัดการสถานที่หรือสนามกีฬาในอนาคต ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน ถือเป็นสิ่งสำคัญหนึ่ง อย่างเช่นสนามกีฬาแห่งชาติกรุงปักกิ่ง หรือสนามกรีนพอยท์สเตเดี้ยมในเคปทาวน์ แต่มันยากที่จะเห็นสนามอารีน่า อเมซอเนีย ในเมืองมาเนาส์ จะถูกนำกลับมาใช้หลังการแข่งขัน จึงควรศึกษาว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้สนามกีฬาเหล่านี้หมดประโยชน์ลง” แอนดรูว์กล่าวเสริม
 
สำหรับประเทศไทยซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ถึง 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี 1998  การศึกษาผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ เข้าใจ และวางแผนให้ดี ก่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันใดๆ ในอนาคต 

 
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ stadiumguide.com