ฟื้นธรรมาภิบาลภาครัฐต้องเริ่มที่รัฐวิสาหกิจ - Forbes Thailand

ฟื้นธรรมาภิบาลภาครัฐต้องเริ่มที่รัฐวิสาหกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Sep 2014 | 03:45 PM
READ 4980
ประเด็นสำคัญของธรรมาภิบาลประเทศไทยขณะนี้ คือธรรมาภิบาลภาครัฐมีพัฒนาการสวนทางกับการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ภาพรวมธรรมาภิบาลประเทศแย่ลง สะท้อนได้ชัดเจนจากปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรง กระทบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ 
 
ดังนั้น โจทย์สำคัญของประเทศก็คือ ปฏิรูปธรรมาภิบาล ซึ่งมี 2 นัย นัยแรกก็คือ ฟื้นระบบธรรมาภิบาลภาครัฐ ซึ่งต้องถือเป็นภารกิจเร่งด่วน และนัยที่สองก็คือ ขยายการกำกับดูแลกิจการภาคเอกชนที่กำลังมีพัฒนาการที่ดี ไปสู่ส่วนอื่นๆ ของภาคธุรกิจ นอกเหนือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) เช่น บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่ใน 2 นัยนี้ การปฏิรูปธรรมาภิบาลภาครัฐสำคัญที่สุด 
 
สำหรับภาครัฐ ส่วนของภาครัฐที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและธุรกิจเอกชนมาก ก็คือรัฐวิสาหกิจ จากบทบาทในด้านการลงทุนและการให้บริการสาธารณูปโภคซึ่งจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและธุรกิจเอกชน ปัญหาหลักของรัฐวิสาหกิจคือการขาดระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่จะทำให้เกิดการทำหน้าที่อย่างโปร่งใส มีความรับผิดรับชอบ และสามารถตรวจสอบได้ 
 
ในเรื่องนี้รัฐวิสาหกิจใน ตลท. ปัญหาจะแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพราะได้ผ่านกระบวนการ Corporatization มาแล้วระดับหนึ่ง และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของทั้ง ตลท. และ กลต. ทำให้ระบบการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลท. มีพัฒนาการเท่าเทียมกับบริษัทเอกชน 
 
แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติจริงตามนโยบายหรือเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ได้วางไว้ ก็คือเรื่องการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจทางธุรกิจที่สำคัญ มาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ของรัฐวิสาหกิจต้องสูงกว่าบริษัทจดทะเบียนทั่วไป เพราะเป็นหน่วยธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ ที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน 
 
การปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลท. เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ 
 
1. การคัดเลือกคณะกรรมการ (บอร์ด) ต้องโปร่งใส ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายข้าราชการและนักการเมือง และต้องมีส่วนร่วมโดยบุคคลภายนอก ผ่านกระบวนการคัดสรรของคณะกรรมการสรรหาที่ต้องเน้นให้ได้มาซึ่งกรรมการที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจที่รัฐวิสาหกิจทำอยู่ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐวิสาหกิจและตัวบอร์ดเอง บุคคลเหล่านี้ไม่ควรเป็นข้าราชการประจำหรือให้ข้าราชการเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจโดยตำแหน่ง แต่ควรเป็นผู้มีความรู้และมีความเป็นอิสระที่จะเข้ามาร่วมทำงานกับคณะกรรมการได้อย่างเต็มที่อย่างมืออาชีพโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
2. จำนวนของกรรมการอิสระควรมีมากเป็นพิเศษ โดยอาจเกินกว่าครึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด เพื่อให้สามารถระดมผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกมาร่วมงานได้เต็มที่ และประธานบอร์ดก็ควรคัดเลือกมาจากกรรมการอิสระ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระของการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ
 
3. รัฐวิสาหกิจควรเปิดเผยข้อมูลในมาตรฐานที่สูงกว่าบริษัทจดทะเบียนทั่วไป เพราะรัฐวิสาหกิจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างโปร่งใส
 
4. รัฐวิสาหกิจต้องเป็นตัวอย่างของการมีนโยบายชัดเจนที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาด และปลอดคอร์รัปชั่น พร้อมกับมีระบบงานภายในที่จะป้องกันความเสี่ยงของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ความชัดเจนในเรื่องนี้จำเป็นต่อการสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต่อภาพลักษณ์และผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยสิ่งที่ทำได้ทันทีก็คือ จัดตั้งกลไกตรวจสอบกำกับดูแลภายในเพื่อขจัดและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้รับการรับรองจากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)
 
 

บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)