ฟื้นชีพ Tommy - Forbes Thailand

ฟื้นชีพ Tommy

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Apr 2015 | 06:35 PM
READ 3476
เรื่อง: Clare O’Connor เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา

ในอดีต Tommy Hilfiger เป็นแบรนด์ดังชั้นนำที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มวัยรุ่นฮิปฮอปในยุค 1990 จนแทบจะเหมือนเป็นเครื่องแต่งกายบังคับของคนกลุ่มนี้ ยอดขายของบริษัทเคยพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2 พันล้านเหรียญในปี 2000 ทว่าธุรกิจของ Hilfiger เริ่มถึงทางตัน เนื่องจากพวกเขามุ่งเน้นสินค้าเสื้อผ้าแนวโชว์เนื้อโชว์หนัง หรือทรงโคร่งๆ หลวมๆ และเน้นตัวโลโก้ตัวใหญ่ๆ ซึ่งล้าสมัยเร็ว “เราทำผิดพลาดในการตัดสินใจเลือกเกาะกระแสที่ตกเทรนด์เร็ว” Hilfiger วัย 63 ปีกล่าว “แต่ที่จริงแล้วไม่มีกระแสไหนที่จะอยู่ยั่งยืน”

แต่ตอนนี้แบรนด์กำลังกลับมาอยู่ในกระแสร้อนแรงอีกครั้งด้วยฝีมือของสองนักธุรกิจชาวยุโรปผู้คร่ำหวอดในวงการ ได้แก่ Daniel Grieder ชาวสวิตเซอร์แลนด์วัย 53 ปี CEO ผู้มักแต่งตัวเนี้ยบดูดีของ Tommy Hilfiger และ Fred Gehring วัย 60 ปี อดีต CEO คนก่อนหน้าจากเนเธอร์แลนด์ ทั้งสองเคยเป็นผู้บริหารธุรกิจในตลาดต่างประเทศของ Hilfiger แม้ว่าจะซื่อสัตย์มั่นคงอยู่กับบริษัทมายาวนาน แต่พวกเขาก็พูดตรงๆ ถึงความจริงอันโหดร้ายว่าพวกเขาต้องรับภาระปัญหาอันรุนแรงของบริษัท “บริษัทเหมือนร่วงตกจากหน้าผา” Gehring กล่าวถึงธุรกิจในสหรัฐ พวกเขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการในมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญในปี 2006 ด้วยความช่วยเหลือจาก Apax Partners บริษัทบริหารกองทุนส่วนบุคคลจาก London

และเพื่อกอบกู้ Tommy Hilfiger พวกเขาแหกกฏทุกข้อของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ทั้งขึ้นราคาสินค้า ปรับขนาดเสื้อผ้าให้เล็กลง และลดจำนวนสาขาที่จะเข้าถึงลูกค้าลง สิ่งนี้เป็นกลยุทธ์ที่ค้านกับหลักปฏิบัติทั่วไปแต่มันกลับได้ผล รายได้ทั่วโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 3.4 พันล้านเหรียญในปี 2013 เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า

“หากมองเผินๆ คุณอาจไม่เห็นว่าบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่” Brian Sozzi นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจค้าปลีกและ CEO ของ Belus Capital Advisors กล่าว “พวกเขายกเครื่องระบบจัดจำหน่ายใหม่ ปรับปรุงคุณภาพสินค้า และผมคิดว่าพวกเขาขยายฐานลูกค้าของ Tommy Hilfiger ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม”

Hilfiger นับเป็นแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นในตำนานที่เคยประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามอย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง บริษัทเริ่มธุรกิจตอนปลายยุค 1960 โดยเริ่มจากการขายยีนส์ขากระดิ่งและสร้อยลูกปัดแนวฮิปปี้ตามวิทยาลัยต่างๆ ใน Elmira เมืองทางตอนเหนือของรัฐ New York ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา โดย Tommy Hilfiger เป็นบริษัทเสื้อผ้าแฟชั่นแห่งแรกที่จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาด New York Stock Exchange โดยระดมทุนไปได้ทั้งหมด 47 ล้านเหรียญเมื่อปี 1992 ซึ่งในปีดังกล่าวบริษัทมียอดขายอยู่ที่ 180 ล้านเหรียญ

ในช่วงปี 2009 บริษัททำรายได้ประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญและ Apax เริ่มอยากถอนการลงทุน และปลายปีเดียวกัน Emanuel Chirico ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Philips-Van Heusen Corp. เครือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจาก New York ได้ยื่นข้อเสนอต่อ Gehring ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือธุรกิจที่มีสินค้าแฟชั่นแบรนด์ดังต่างๆ เช่น Calvin Klein และ IZOD ต่อมาในปี 2010 PVH ได้เข้าซื้อกิจการ Tommy Hilfiger ด้วยมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ นับเป็นการเข้าซื้อกิจการด้านค้าปลีกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี


อ่านฉบับเต็ม "ฟื้นชีพ Tommy" จาก Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2015