ฟื้นชีพจากหนี้ท่วมกลับเป็นมหาเศรษฐีอีกครั้ง - Forbes Thailand

ฟื้นชีพจากหนี้ท่วมกลับเป็นมหาเศรษฐีอีกครั้ง

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Jun 2015 | 02:31 PM
READ 9820
เรื่อง: Luisa Kroll เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
ไอซ์แลนด์ เคยเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ส่วน Thor Bjorgolfsson ซึ่งเป็นคนที่รวยที่สุดของประเทศก็ถูกชี้หน้าว่าเป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจของ ชาติหายนะ นี่คือกรณีตัวอย่างของความพยายามกลับมาเป็นมหาเศรษฐีอีกครั้งหลังหมดตัว

3 ตุลาคม 2008 Olafur Ragnar Grimsson ประธานาธิบดีของไอซ์แลนด์ อยู่ในภาวะตื่นตระหนกเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นทำท่าจะกลืนประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ อย่างไอซ์แลนด์เข้าไปอยู่ในวังวนของวิกฤติด้วย รัฐบาลยึดธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเป็นของรัฐไปแล้ว ขณะนี้ Landsbanki ธนาคารอันดับสองเริ่มแสดงสัญญาณว่ากำลังมีปัญหา Grimsson ยกหูโทรศัพท์ไปที่ London โทรหา Thor Bjorgolfsson คนที่รวยที่สุดของประเทศซึ่งเป็นผู้มีอำนาจควบคุมธนาคารแห่งนี้ เพื่อที่จะบอกกับเขาว่า: รีบกลับมา เดี๋ยวนี้เลย!

Bjorgolfsson มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเขาน่าจะสะสางเรื่องยุ่งๆ ที่เกิดขึ้นได้ เขาใช้เวลาแค่ไม่ถึงสิบปีสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 250 คนที่รวยที่สุดในโลก โดยมีธุรกิจมากมายไล่มาตั้งแต่บัลแกเรียไปจนจรดอเมริกา ในงานฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 40 ปี เขาขนพรรคพวกเพื่อนฝูง 120 คน เช่าเหมาเครื่องบิน Boeing 767 บินไปจาไมก้า พร้อมจ้างนักร้องดัง Ziggy Marley และ 50 Cent ระหว่างนั้นมีโทรศัพท์จากประธานาธิบดี  ทำให้ Bjorgolfsson ต้องเช่าเครื่องบินอีกลำเพื่อเดินทางกลับไอซ์แลนด์ทันที ก่อนเที่ยงวันรุ่งขึ้นเขามาถึง Reykjavik เมืองหลวงของประเทศ
ภายในเวลาแค่ 72 ชั่วโมง

รัฐบาลเข้ายึดธนาคารของเขา และพอถึงปลายสัปดาห์ ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศล้มละลาย สกุลเงินของประเทศกลายเป็นสิ่งไร้ค่า ตลาดหุ้นต้องปิดตัวลงชั่วคราว ชาวไอซ์แลนด์นับพันต้องตกงานและสูญเงินฝาก คนที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กอบกู้เศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีธนาคารที่ “รับประกัน” ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงินในอัตราที่สูง กลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเกลียดมากที่สุดในประเทศ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าเขาเป็นต้นตอที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องประสบกับหายนะ

เจ้าหนี้ของ Bjorgolfsson โกรธแค้นเขาพอๆ กัน บริษัทของเขาเป็นหนี้อยู่ถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญที่เขาใช้เครดิตของตัวเองเข้าไปค้ำประกันเอาไว้ มูลค่าสินทรัพย์ของเขาหดลงจากที่มีการประมาณการเอาไว้ที่ 3.5 พันล้านเหรียญกลายเป็นติดลบ

แต่ในขณะที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าแบบที่เรียกว่าช้าที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ก็เริ่มที่จะฟื้นตัวได้เหมือนกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเริ่มโตได้ที่อัตรา 3% ในช่วงปีหลังๆ มานี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานก็ลดลง ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือ Bjorgolfsson กลับมาด้วย ซึ่งเจ้าตัวเป็นคนบอกเองผ่านหนังสืออัตชีวประวัติเล่มใหม่ของเขา Billions to Bust – and Back ซึ่งเขาตั้งใจคุมโทนเรื่องของเขาเอง ในปัจจุบันเมื่อเขาอายุ 48 ปี เขาได้กลับเข้ามาอยู่ในทำเนียบอภิมหาเศรษฐีของโลกที่จัดทำโดย Forbes อีกครั้งในปีนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งถือเป็นการกู้ชื่อเสียงของเขากลับมาด้วย

Thor Bjorgolfsson ย้ายไปรัสเซียช่วงทศวรรษที่ 1990 และใช้เวลาสิบปีในการสร้างธุรกิจเครื่องดื่มและเบียร์ในภาวะที่จักรวรรดิรัสเซียกำลังล่มสลาย ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จในกิจการที่ประสบความสำเร็จได้ยาก ในปี 2002 เขาขายกิจการของเขาให้กับ Heineken ในราคา 100 ล้านเหรียญ หลังจากนั้นเขากลับมายังไอซ์แลนด์อย่างภาคภูมิในปีเดียวกันนั้น และเขากับพ่อ ซึ่งร่วมเป็นพันธมิตรในธุรกิจเบียร์ก็ได้เข้าซื้อหุ้น 46% ใน Landsbanki แต่จริงๆ เขาใช้เงินกู้จากธนาคารคู่แข่งต่างหาก

ปี 2007 เขากู้เงินเพื่อเข้าซื้อกิจการของ Actavis ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาสามัญของไอซ์แลนด์ ในดีลขนาด 6.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา จังหวะที่เขาเข้าทำดีลนี้เป็นช่วงที่ฟองสบู่ในระบบสินเชื่อกำลังเข้าสู่จุดสูงสุด และธนาคารต่างๆ ก็แย่งกันปล่อยกู้ให้กับเขา ปรากฏว่า Deutsche Bank ซึ่งเคยทำดีลร่วมกับ Bjorgolfsson ในยุโรปตะวันออก สำหรับการเข้าซื้อกิจการ Actavis ทาง Deutsche Bank วางแผนไว้ว่าจะฮุบดีลนี้ไว้คนเดียวเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมไว้เองทั้งหมด แล้วหลังจากนั้นค่อยนำออกไปหาคนปล่อยกู้ร่วมในภายหลัง

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2008 Robert Wessman ซึ่งเป็น CEO ของ Actavis และครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นบุคคลรายใหญ่อันดับสามในบริษัท ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกับ Bjorgolfsson ได้ลาออกจากตำแหน่งในบริษัท ทางด้านของ Deutsche Bank บังคับให้ผู้ถือหุ้นใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาในบริษัท ซึ่ง Bjorgolfsson ใช้วิธีกู้เงิน 230 ล้านเหรียญมาจากธนาคาร Landsbanki ซึ่งเป็นของเขาเอง และเขาก็ได้เงินสดก้อนสุดท้ายมาในวันที่ 30 กันยายน 2008 แค่ไม่กี่วันก่อนที่เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์จะล่มสลาย เงินกู้ก้อนนี้ทำให้ Bjorgolfsson ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในหุ้น Actavis ต่อไป แต่มันก็ถูกมองว่าเป็นการทำให้สถานะของ Landsbanki ในช่วงสุดท้ายเลวร้ายลงไปอีก
มันเป็นการยากที่จะบอกว่าเงินกู้ก้อนสุดท้ายจาก Landsbanki นั้นมีความสำคัญขนาดไหนในการช่วยให้ Bjorgolfsson รอดจากภาวะล้มละลาย และสามารถกลับมาร่ำรวยได้อีกครั้ง

“ผมโกรธมากที่ต้องตกเป็นหนี้มากมาย แต่สุดท้ายมันก็ช่วยผมเอาไว้” Bjorgolfsson กล่าว “ถ้าหุ้น Actavis มีสภาพคล่องที่ขายได้ในช่วงที่ Landsbanki ผมก็คงจะต้องเสีย (หุ้นของผม) ไป แต่ความเป็นจริงก็คือ (การที่ Actavis เป็นหนี้มหาศาล) กลับกลายเป็นประโยชน์กับผม” และถ้าใครที่เคยศึกษาเรื่องของ Donald Trump มาก็คงจะบอกกับคุณได้ว่า ถ้าคุณติดหนี้ธนาคาร 1 ล้านเหรียญ มันเป็นปัญหาของคุณ แต่ถ้าคุณติดหนี้ธนาคารพันล้านเหรียญล่ะก็ มันเป็นปัญหาของธนาคารแล้วล่ะ

Olafsson เคยเป็น CEO ของ Actavis ในช่วงปี 2008 ถึง 2010 และต่อมาย้ายไปทำงานกับ Watson Pharmaceuticals ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของอเมริกา ซึ่งการที่เขาโทรหา Bjorgolfsson ก็เพราะว่าเขากับ Paul Bisaro ซึ่งเป็น CEO ของ Watson สนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของการควบรวมกิจการกับ Actavis และคิดว่า Bjorgolfsson อาจจะสามารถช่วยชักจูงผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ รวมถึงบรรดาเจ้าหนี้ให้เห็นชอบกับแผนนี้ ด้วย สำหรับ Bjorgolfsson แล้ว นี่เหมือนเป็นการบอกเขาว่าถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรได้แล้ว

ในเดือนตุลาคม 2012 Watson ปิดดีลนี้ด้วยการซื้อหุ้น Actavis ไปในราคาเกือบ 6 พันล้านเหรียญ ซึ่ง Deutsche Bank ได้เงินสดไปประมาณ 5.4 พันล้านเหรียญ เท่าๆ กับที่ปล่อยกู้ไปเมื่อห้าปีก่อน ในขณะที่เจ้าหนี้ในประเทศ ได้รับเงินสดก้อนแรก 230 ล้านเหรียญไป แต่แทนที่ Bjorgolfsson จะเลือกรับเงินส่วนแบ่งที่เขาจะได้ตามที่ตกลงไว้ เขากลับเลือกที่จะใช้มันซื้อหุ้น 4.3 ล้านหุ้น ซึ่งทำให้เขาได้รับหุ้นซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 700 ล้านเหรียญในวันนี้ และชำระคืนหนี้ส่วนที่เหลืออีก 330 ล้านเหรียญ (เขาใช้ Collar ซึ่งเป็นอนุพันธ์ประเภทหนึ่ง กับหุ้นบางส่วนของเขา ทำให้เขาสามารถจ่ายคืนได้โดยไม่ต้องขายอะไรเลย) พอถึงกลางปี 2014 เขาสามารถชำระคืนหนี้ทั้งหมดทั้งมวลได้ครบ แล้วในที่สุด Bjorgolfsson กลับมาผงาดได้อีกครั้ง และในวันนี้เขามีทรัพย์สินมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญ

Bjorgolfsson บอกว่า เขาเริ่มได้รับโทรศัพท์จากบรรดาเจ้าหนี้เพื่อพยายามจะปล่อยกู้ให้กับเขาอีกแล้ว ซึ่งรวมถึง Deutsche ด้วย และเขาก็เริ่มรับโทรศัพท์เหล่านี้แล้ว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Bjorgolfsson ได้เข้าซื้อหุ้น 92% ใน Nextel Chile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายเล็กที่สุดในประเทศชิลี และเขาก็ไม่ทิ้งรูปแบบเดิมๆ นั่นคือกู้เงิน 60 ล้านเหรียญมาซื้อ โดยใช้หุ้น Actavis มาเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งการกู้รอบนี้เป็นการกู้เงินครั้งแรกในรอบเจ็ดปีของเขา และเขายังบอกอีกว่าพร้อมที่จะเข้าลงทุนในบริษัทนี้อีก 500 ล้านเหรียญ โดยกว่าครึ่งของเงินที่ใช้ลงทุนจะมาจากการกู้
“ผมยังอายุน้อยอยู่” เขาบอกในงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จในการขายหุ้น Actavis “ผมยังสามารถทำอะไรแบบนี้ได้อีก ผมอาจจะหาเงินได้อีกสักพันล้าน เสียมันไปทั้งหมด และยังมีเวลาที่จะสร้างมันกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง”
อ่านฉบับเต็ม "ฟื้นชีพจากหนี้ท่วมกลับเป็นมหาเศรษฐีอีกครั้ง" ได้ที่ FORBES THAILAND ฉบับ MAY 2015