ผลวิจัยชี้ผู้หญิงอาจอายุยืนยาวขึ้น หากมีลูกหลัง 33 - Forbes Thailand

ผลวิจัยชี้ผู้หญิงอาจอายุยืนยาวขึ้น หากมีลูกหลัง 33

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jul 2014 | 06:19 AM
READ 12896
คุณผู้หญิงทราบหรือไม่ หากคุณตั้งครรภ์หลังอายุ 33 ปี จะมีโอกาสอายุยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ยอายุของผู้หญิงโดยรวม งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐฯ ระบุไว้เช่นนั้น
 
จากรายงานวิจัยของ Thomas Perls ผู้อำนวยการสำนักวิจัย New England Centenarian Study (NECS) อ้างว่า หากผู้หญิงคนใดยังมีลูกได้หลังวัย 33 ปี จะมีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้หญิงซึ่งมีลูกคนสุดท้องก่อนอายุ 30 ปี และความต่างของช่วงอายุตรงนี้ หาใช่แค่ไม่กี่ปีเท่านั้น แต่จะมีโอกาสเป็นสองเท่าที่จะอายุยืนเกินกว่า 95 ปี เลยทีเดียว
 
รายงานวิจัยซึ่งกำลังจะตีพิมพ์ใน Menopause: The Journal of the North American Menopause Society ฉบับเดือนมกราคม 2015 หรือต้นปีหน้า จะนำเสนอหลักฐานที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ทำให้สตรีผู้ยังสามารถมีบุตรได้ในช่วงเวลายาวนาน อาจมีส่วนทำให้อายุขัยของเธอนั้นยาวนานกว่าผู้หญิงทั่วไป
 
"ความสามารถในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ในขณะที่สูงอายุขึ้นนั้น เป็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่าระบบสืบพันธุ์ของเธอไม่ได้เสื่อมถอยไปตามวัย ดังนั้นแล้วจึงหมายรวมถึงระบบอื่นๆ ในร่างกายเธอด้วย"  Perls กล่าว
 
การศึกษาครั้งนี้ต่างจากงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะสูงวัยและเจริญพันธุ์ชิ้นอื่นๆ ที่มักจะมุ่งไปที่อายุของผู้หญิงขณะให้กำเนิดทารกคนแรก แต่ในครั้งนี้ ผู้วิจัยสนใจศึกษาสตรีที่ตั้งครรภ์และคลอดลูกคนสุดท้องโดยเฉพาะ นายแพทย์ Perls ศาสตาจารย์แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ Boston University สรุปว่า "อายุของผู้หญิงขณะตั้งครรภ์ท้องสุดท้าย สามารถใช้เป็นดัชนีบอกอัตราภาวะสูงวัยได้"
 
งานวิจัยของ NECS งานนี้ มิใช่เป็นชิ้นแรกของสถาบันที่มุ่งเน้นหาความสัมพันธ์ระหว่างอายุของผู้หญิงขณะคลอดลูกคนสุดท้อง กับการเพิ่มอายุขัยให้ยาวนาน ในงานชิ้นก่อนหน้า ค้นพบว่าผู้หญิงที่ให้กำเนิดบุตรในวัย 40 ปีหรือแก่กว่านี้ จะมีโอกาสดำรงชีวิตได้ถึง 100 ปี มากกว่าผู้หญิงที่มีลูกคนสุดท้ายขณะยังอายุน้อยกว่าถึงสี่เท่าตัว
 
Perls ย้ำว่า งานวิจัยของเขานั้นมิใช่เจตนาจะชี้ช่องให้ผู้หญิงชะลอเวลาในการมีบุตรออกไป เพื่อหวังว่าตนจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น เราไม่ควรอ้างความต้องการจะมีอายุยืนเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการเลื่อนเวลาของการให้กำเนิดออกไป
 
ทั้งนี้ ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีเพศจะสูงสุดในช่วงวัย 20-30 ปี แล้วจะลดฮวบลงทันทีหลังอายุ 30 ปี จากการเก็บข้อมูลเชิงสถิติล่าสุด พบว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะมีบุตรให้สำเร็จในหนึ่งปี มีถึง 75% ในขณะอายุ 30 ปี ลดลงมาเหลือ 66% ที่อายุ 35 ปี และเหลือเพียง 44% ที่วัย 40 ปี แต่หากให้เวลาตัวเองได้ถึงสี่ปี จะเพิ่มโอกาสได้ถึง 91% ที่อายุ 30 ปี 84% ที่อายุ 35 ปี และ 64% ที่อายุ 40 ปี
 
คณะนักวิจัยที่ Boston University ของ Pearls ร่วมงานกับทีมงานอีกสามมหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของ Long Life Family Study (LLFS) ซึ่งได้มาจากกลุ่มคนใน 551 ครอบครัว ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากที่มีอายุยืนยาวเป็นพิเศษ  และจากกลุ่มตัวอย่างนี้ นักวิจัยได้ศึกษาผู้หญิง 462 ราย ซึ่งพวกเขาทราบอายุในขณะมีลูกคนสุดท้อง และอายุในขณะเสียชีวิต
 
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้สักสองประการ ในประเด็นแรก ผู้หญิงที่อยู่ในงานศึกษาครั้งนี้มาจากครอบครัวที่มีแนวโน้มอยู่เดิมแล้ว ว่าจะอายุยืนมากกว่าคนทั่วไป ผู้เขียนอยากเห็นนักวิจัยจัดการกับประเด็นนี้ และให้สามารถแสวงหากรณีศึกษาที่เราจะมั่นใจได้ว่า ข้อเท็จจริงที่ค้นพบสามารถนำไปใช้อธิบายผู้หญิงโดยรวมได้
 
ในประเด็นต่อมา เป็นเรื่องว่าด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้น มีมากกว่าการอธิบายในเชิงเหตุผล จากข้อมูลทางสังคมวิทยาแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีลูกเมื่อสูงวัยนั้น มีแนวโน้มที่จะมีสถานภาพและการศึกษาที่สูง จึงเกิดตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกในการใช้ชีวิต ที่ปรารถนาจะให้ตัวเองมีสุขภาพดีเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย
 
จากการศึกษาของ Perls ยังชี้ให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสภาวะเจริญพันธุ์ที่ยาวนานออกไปกับการมีอายุยืนยาว อาจเป็นแรงขับดันให้เกิดวิวัฒนาการทางสายพันธุ์พันธุกรรม ที่ชะลอความอาวุโส และยืดอายุขัยให้ยาวนานขึ้น
 
แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป? Pearls ฟันธงว่า "หากผู้หญิงมีสายพันธุ์ทางพันธุกรรมพวกนั้น ทำให้เธอมีช่วงเวลาตั้งครรภ์และคลอดลูกได้ยาวนานขึ้น เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งผ่านยีนพวกนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป" เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้หญิงมีโอกาสสูงถึง 85% ที่จะอยู่ถึงอายุ 100 ปี ในขณะที่ฝ่ายชายมีเพียง 15% เท่านั้น


เรียบเรียงจาก Women Who Have Babies After 33 Live Longer, Study Says โดย Melanie Haiken


TAGGED ON