เรื่อง: ศรีวิภา สิริปัญญาวิทย์
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ช่องทางการขายสินค้าหลักจะเป็นการขายผ่านห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ จะผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในทุกซอกทุกมุม ทว่า การขายตรง ก็ยังคงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ยังได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงมีสินค้าบางประเภทที่เหมาะกับการขายตรง อีกทั้งการที่ใช้ผู้บริโภคสินค้านั้นๆ มาเป็นตัวแทนขายโดยตรง นับเป็นกลยุทธ์ที่แยบยล
จากข้อมูลสถิติรวบรวมโดย สมาพันธ์การขายตรงโลก ยอดการขายตรงของทั่วโลกในปี 2557 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.4% โดยมีมูลค่า 1.828 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.7 แสนล้านเหรียญ ในปี 2556 ทั้งนี้ ทวีปเอเชียนับเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 45% ของยอดขายรวมทั่วโลก อันดับ 2 ได้แก่ทวีปอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วน 37% ตามด้วยทวีปยุโรป 17%
ในปีที่ผ่านมา มีจำนวน 23 ประเทศที่มียอดการขายตรงสูงที่สุด โดยมีมูลค่ารวมถึง 1.7 แสนล้านเหรียญ ซึ่งนับเป็น 93% ของทั่วโลก และมีจำนวนนักขายรวมทั้งสิ้น 85.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 โดยมียอดขายอยู่ที่ 2.76 พันล้านเหรียญ ซึ่งลดลงจากปี 2013 อยู่ 4% อีกทั้งจำนวนนักขายตรงยังลดลง เป็น 11 ล้านคน จาก 11.1 ล้านคนในปี 2556 นับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในรอบหลายปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลของสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) ยอดขายตรงในประเทศนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีการขยายตัว 7-10% ต่อปี แต่ยอดขายที่ลดลงในปีที่แล้วนั้น มีสาเหตุหลักจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยภายในประเทศ และสภาพการเมืองที่ไม่แน่นอน อันส่งผลให้มีการส่งเสริมการขายที่ลดลง อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่มีการรัดเข็มขัดและชะลอการใช้จ่ายออกไปอีกด้วย
ยอดขายในปีที่แล้วของเจ้าแห่งขายตรงเบอร์ 1 ในไทยอย่าง แอมเวย์ประเทศไทย ลดลง 3.27% เพียง 1.62 หมื่นล้านบาท โดยยอดของแอมเวย์ ทั่วโลกก็ลดลงเช่นเดียวกันที่ 8% มาอยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันเนื่องมาจากผลประกอบการในจีนที่ลดลง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ทว่า ยอดขายของเบอร์สองอย่างสาวน้อย “มิสทิน” แห่ง บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กลับสวนทางกับอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้น 3.42% เป็น 1.16 หมื่นล้านบาท ในปี 2557
สินค้ากลุ่มหลักที่ครองตำแหน่งยอดขายสูงสุดคือ สินค้าเพื่อสุขภาพ (44.67% ของยอดขายรวม) และเครื่องสำอาง (34%) ตามมาด้วยเครื่องใช้ในครัวเรือน (12.46%) เหตุผลหลักคือ ผู้บริโภคในทุกวันนี้ต่างให้ความสนใจในสุขภาพ และภาพลักษณ์ของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับผู้บริโภคทั่วโลก
ในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทขายตรงที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกระทรวงพาณิชย์กว่า 800 บริษัท ในจำนวนนี้ 32 บริษัทเป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 70%
ทั้งนี้ ทางสมาคมคาดการณ์ว่า ในปีนี้ ยอดขายตรงในประเทศน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่นั้น น่าจะทำให้บริษัทขายตรงต่างๆ ต้องนำกลยุทธ์ที่แยบยลและการส่งเสริมการขายที่เข้มข้นมาใช้ เพื่อแย่งชิงเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคที่มีจำกัด อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าที่โดนใจและอยู่ในความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง และแน่นอนที่สุด ต้องอยู่ในราคาที่เหมาะสม
ปีสดใส ขายตรงไทย?
TAGGED ON