ปริศนาเศรษฐกิจ (Economic Conundrum) โดย ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ - Forbes Thailand

ปริศนาเศรษฐกิจ (Economic Conundrum) โดย ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Jan 2016 | 12:48 PM
READ 3495
ชีวิตคนเราต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องราวรอบด้าน กิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันในภารกิจ ธุรกิจและรัฐกิจ แสดงผลลัพธ์รวมเรียกว่า เศรษฐกิจ แม้ทุกคนคุ้นเคยบ้าง แต่คงไม่รู้จักดีพอที่จะเข้าใจสภาพตามจริงได้ จนกลายเป็นปริศนาเศรษฐกิจที่ค้างคาใจอยู่เสมอ วิทยา ศาสตร์สนใจศึกษาธรรมชาติโดยทั่วไป ในขณะที่เศรษฐศาสตร์ศึกษาการดำรงชีวิตอยู่ของคนในสังคม มุ่งเน้นทรัพยากร กับการใช้หรือจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุด ได้มากที่สุดเสียน้อยที่สุดอย่างคุ้มค่า โดยแนวทางการบริหารเศรษฐกิจมักเรียกโดยรวมว่า นโยบายเศรษฐกิจ มีองค์ประกอบหลายด้าน สัมพันธ์กับนโยบายสังคม และนโยบายสิ่งแวดล้อม ตามกรอบนโยบายพื้นฐานของประเทศ เศรษฐกิจ เริ่มต้นจากทรัพยากรธรรมชาติ จนเป็นปัจจัย 4 แล้ววิวัฒนาการต่อไปตามวิทยาการ เรียกรวมว่าทรัพยากรมนุษยชาติ เช่น เงินทุน ข้อมูล ความรู้ เครื่องมือ เครื่องจักร สารสังเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายด้านทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ สำหรับสังคมและองค์กรทุกระดับ เศรษฐศาสตร์เน้นการใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน จากการอุปโภคบริโภคคือการกินการใช้ ควบคู่กับการผลิตภายใต้ข้อจำกัดด้านกำลังความสามารถ ซึ่งต้องมีนโยบายด้านการบริโภค แต่พบได้น้อยมาก คู่กับด้านการผลิต ซึ่งแพร่หลายกว่า ไม่ว่าเป็นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมผลิต พาณิชยกรรมและบริการ จากนั้นจึงขยายสู่อนาคตด้วยการอดออมสิ่งที่เหลือกินเหลือใช้ และการสร้างประโยชน์เพิ่มเติมด้วยการลงทุน เพื่อปรับให้ดีขึ้น ประดิษฐ์สร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรม คือส่งเสริมปรับปรุงเพิ่มขยายกำลังการผลิต ขีดความสามารถ วัตถุดิบ วิธีการ ผลผลิต รูปแบบ หรือลดข้อจำกัดเดิม จึงต้องมีนโยบายด้านการออมและด้านการลงทุน ตลาดได้วิวัฒนาการจากสถานะที่เป็นแนวคิดสำคัญในเศรษฐศาสตร์สายตลาด ประกอบด้วยกลไกการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าบริการ ปัจจัยทางอุปสงค์คู่กับอุปทาน ผ่านความสัมพันธ์พื้นฐานเชิงปริมาณคู่กับราคา บนรากฐานเชิงคุณภาพ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายด้านตลาด เช่น ระเบียบการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้น ความละเอียดซับซ้อนและอ่อนไหวเปราะบางของเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น สำหรับแหล่งหาเงินกับแหล่งใช้เงินก็เช่นกัน เกิดกลไกการให้กู้ยืมคู่กับการกู้ยืม และกลไกการลงทุนคู่กับการระดมทุน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือกระแสเงินเข้าและออก ตามหลักความคุ้มทุนแปรผันตามเวลา เกิดอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทน จึงต้องมีนโยบายด้านการเงินและด้านเงินทุน ควบคู่กับด้านตลาดทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงด้านการกำกับดูแลกิจการ สำหรับองค์กร ตลาด และระบบด้วย ภาครัฐบาลก็ในทำนองเดียวกัน มีอิทธิพลอย่างมากต่อกลไกตลาด ทั้งในบทบาทของผู้มีส่วนร่วมและผู้มีอำนาจการปกครองดูแลบังคับใช้กฎหมาย บางแนวคิดอาศัยพึ่งพิงภาครัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนบริหารเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายด้านการคลัง เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดบางประการภายในประเทศ ตลาดจึงแผ่ขยายขอบเขตออกไปเกิดระบบเศรษฐกิจข้ามประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและสากล ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศก็ คือนำเข้าส่งออกสินค้าบริการ ส่วนการลงทุนระหว่างประเทศก็คือนำเข้าส่งออก เงินออมเงินลงทุน ส่วนใหญ่ใช้เงินต่างสกุล เกิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงต้องมีนโยบายด้านระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางการค้าขาย การลงทุน การเจรจาตกลงร่วมมือ และการแข่งขัน สิ่งที่ก่อปัญหาให้มากที่สุดคือ ผลประโยชน์ เพราะผลกระทบมี 2 ด้านเสมอ คุณคู่กับโทษ ได้คู่กับเสีย จึงเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งจากการแข่งขันชิงชัยกันตามกฎกติกา หรือการยึดแย่งบังคับกันด้วยอำนาจอิทธิพล เกินเลยเป็นการยอมเสื่อมตามกันเพื่อเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่ขั้นสมรู้ร่วมคิดหลอกลวงคดโกง จนถึงขั้นทุจริตติดสินบน ซึ่งเป็นความสนใจหลักของเศรษฐศาสตร์สายผลประโยชน์ แทนที่จะส่งเสริมการแบ่งเบาช่วยเหลือกันด้วยความมีน้ำใจดีงาม มีเมตตากรุณา ความสนใจต่อปัจจัยทางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคน ในขั้นต้นของกระบวนการตัดสินใจจัดเป็นสายจิตวิทยา ส่วนที่เน้นกลไกการตัดสินใจและปฏิกิริยาการตอบสนองเป็นสายพฤติกรรม โดยคนเรามักยึดติด ชื่นชอบ และหลงใหลไปตามกระแสสังคม เช่น วัตถุนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม ประชานิยม เป็นต้น ประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ อำนาจและความรับผิดชอบในระบบเศรษฐกิจและสังคมนั้น กลับถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของศิลปศาสตร์แขนงอื่น ดังนั้น เศรษฐศาสตร์จึงมักมองเศรษฐกิจไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ทำให้เป็นข้อจำกัดในการวิเคราะห์ปัญหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่าเสถียรภาพจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญบนรากฐานความไม่แน่นอน เศรษฐศาสตร์มักมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพให้สูงขึ้นกว่าเดิม คือเติบโตขยายตัวเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ภายใต้การผันแปรตามวงจรเวลาหรือฤดูกาล แต่สนใจไม่มากนักกับดุลยภาพคือปัจจัยเสี่ยงทางความสมดุลของระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งเชิงส่วนประกอบ โครงสร้าง (structure) สถานการณ์กลไก (sequence) สาระหน้าที่ (substance) และสำนึกเจตนารมณ์ (spirit) ในทุกระดับทุกภาคส่วน ให้ตลอดต่อเนื่องทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นจนปลายจากเหตุสู่ผล ปัจจุบันสู่อนาคต ระยะสั้นถึงยาว การมุ่งเน้นเพียงแค่ผลลัพธ์จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการวิเคราะห์แนวโน้มต่อไป ด้วยสมมติฐานว่าเศรษฐกิจปรับเข้าสู่ดุลยภาพได้ แนวความคิดที่จะกระตุ้นหรือปรับสมดุลเศรษฐกิจจึงแบ่งออกเป็นค่ายอุปสงค์กับค่ายอุปทาน สมดุลคือพอดี ถ้าเกินไป ขยายสะสมเป็นฟองคือส่วนเกิน ถ้าขาดไป หดทรุดเป็นช่องคือส่วนขาด โดยมีลักษณะพื้นฐานร่วมกันบนความว่างแต่อยู่ต่างขั้วกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ภยันตราย จึงเป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงในการบริหาร และข้อจำกัดในการปรับสภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเชิงมูลค่าจึงมีหน่วยเป็นสกุลเงิน ตั้งแต่ยอดผลิต ยอดขาย จนถึงยอดซื้อ ในขณะที่ตัวชี้วัดเชิงปริมาณอื่นมีหน่วยที่แตกต่างกันไป จึงมักคิดวิธีการสร้างดัชนีชี้วัดขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทนข้อมูลจริง ในขณะที่ข้อมูลบางชุดได้มาจากวิธีการสำรวจสอบถาม สุ่มตัวอย่างหรือประมาณการ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการวิเคราะห์ให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ นอกจากนั้น เศรษฐศาสตร์มักเลือกประเมินสถานภาพตามเหตุปัจจัยเฉพาะด้าน แล้วใช้มาตรการปรับแก้แยกส่วนกัน จึงเป็นข้อจำกัดในการบริหารเศรษฐกิจโดยรวม เศรษฐกิจเป็นระบบนิเวศทางสังคมที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน กล่าวคือ อนิจจัง แปรเปลี่ยนไม่แน่นอน ทุกขัง เวียนวนแบบวงจร อนัตตา ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใดสิ่งใดโดยเฉพาะ จึงไม่อาจควบคุมได้อย่างแม่นยำตามที่กำหนดไว้ หรืออาจเกิดผลกระทบที่ไม่ตั้งใจ นโยบายเศรษฐกิจจึงต้องครบถ้วนสมบูรณ์และเหมาะสมสอดคล้องกันทุกด้าน เพื่อให้สามารถบริหารเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึง เป็นแนวทางที่จำเป็นและเหมาะสม สำหรับชี้นำประคับประคองการปฏิรูป ปฏิวัติ ปฏิบัติ วางแผนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคม ไปสู่เป้าหมายแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เปรียบเสมือนภาชนะสามมิติคือ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และความพร้อม สวมปิดแนบสนิทด้วยฝาสองด้านคือ คุณธรรมความดีกับคุณวุฒิความรู้ หากเริ่มที่นโยบายเศรษฐกิจ การคิดแก้ปริศนาเศรษฐกิจก็จะกระจ่างชัดขึ้น ดร. ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)