บิลท์ แลนด์หวังปั้นพอร์ตรายได้แตะพันล้าน เล็งปี 2562 เปิดไอพีโอตลาด SET - Forbes Thailand

บิลท์ แลนด์หวังปั้นพอร์ตรายได้แตะพันล้าน เล็งปี 2562 เปิดไอพีโอตลาด SET

บิลท์ แลนด์แต่งตัวเตรียมเปิดขายหุ้นไอพีโอปีหน้า หวังระดมทุนช่วยต่อยอดขยายกิจการ วางเป้ารักษาระดับรายได้ที่ 1 พันล้าน แผนปี 2561 คาดพัฒนาที่ดินย่านรังสิต

ชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิลท์ แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมตัวยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ราวไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเตรียมตัวเปิดขายหุ้นไอพีโอต่อสาธารณะช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 โดยขณะนี้มีที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว คือ บล.โนมูระ พัฒนสิน

ปัจจุบันบิลท์ แลนด์มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดขายหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้นเพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

“ที่เลือกเข้าตลาด SET เพราะระบบภายในเราพร้อมแล้ว รายได้เราตอนนี้อาจจะไม่นิ่ง เคยขึ้นไปสูงสุดราว 2 พันล้านบาท ส่วนปี 2560 ที่ผ่านมามีรายได้ 945 ล้านบาท แต่ต่อจากนี้จะพยายามวางแผนพัฒนาโครงการให้รับรู้รายได้สม่ำเสมอปีละ 1 พันล้านบาท และหลังระดมทุนในตลาดแล้วจะค่อยๆ เติบโตปีละราว 10%” ชัยรัตน์กล่าว

บิลท์ แลนด์เป็นบริษัทอสังหาฯ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โครงการส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ เทมโปกับเลสโต ระดับราคาตั้งแต่ 1 ล้านต้นๆ ถึง 3 ล้านกว่าบาท และทาวน์เฮาส์แบรนด์เทมโป ทาวน์กับเดอะ ริทโม มีการพัฒนาอสังหาฯ สะสม 10 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 7 พันล้านบาท

ชัยรัตน์ ธรรมพีร ซีอีโอ บิลท์ แลนด์

ชัยรัตน์กล่าวต่อว่า กลยุทธ์การพัฒนาและขายโครงการของบริษัท เน้นที่ผลกำไรสุทธิมากกว่าเร่งยอดขาย ทำให้ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ จะไม่ได้ขายรวดเร็วหวือหวา แต่เน้นปรับขึ้นราคาระหว่างขายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ตัวอย่างเช่น โครงการเทมโป แกรนด์ สาทร-วุฒากาศ จากการเปิดตัวปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีการปรับขึ้นราคามาแล้ว 30% รวมถึงเน้นสร้างหนี้ต่ำโดยบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ที่ 0.9 ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไป

ด้านแผนพัฒนาโครงการปี 2561-62 บริษัทมีที่ดินเตรียมพัฒนาโครงการแล้วบริเวณใกล้สนามธูปะเตมีย์ รังสิต เป็นที่ดินขนาด 5 ไร่ อยู่ระหว่างออกแบบโครงการว่าจะเป็นโครงการแนวราบหรือแนวสูง คาดหวังจะสามารถเปิดตัวได้ภายในปีนี้ และปีนี้ยังมีงบลงทุนอีก 1 พันล้านบาทที่จะใช้เข้าซื้อที่ดินศักยภาพเพื่อเปิดตัวเพิ่ม 2-3 โครงการในปีหน้า

ส่วนการรับรู้รายได้ปี 2561 คาดว่าจะรับรู้รายได้ราว 1 พันล้านบาท จากยอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ (แบ็กล็อก) 300 ล้านบาทที่จะโอนทั้งหมดภายในครึ่งปีแรก 2561 และยอดขายจากโครงการสร้างเสร็จพร้อมโอนที่มีสต็อกมูลค่ารวมทุกโครงการ 800 ล้านบาท ได้แก่ เลสโต คอนโด สุขุมวิท 113, เดอะ ริทโม ชัยพฤกษ์-วงแหวน, เทมโป ควอด สะพานใหม่ และเทมโป แกรนด์ สาทร-วุฒากาศ

เลสโต คอนโด สุขุมวิท 113 มูลค่าโครงการ 1,068 ล้านบาท คอนโดฯ low rise จำนวน 786 ยูนิต ปัจจุบันมียอดขาย 25% ราคาเฉลี่ย 5.4-5.9 หมื่นบาท/ตร.ม.

ชัยรัตน์ ปิดท้ายว่า อนาคตการพัฒนาโครงการของบิลท์ แลนด์จะขึ้นอยู่กับที่ดินที่สามารถเข้าซื้อได้ ในเชิงการก่อสร้างและการขายพร้อมที่จะพัฒนาทุกรูปแบบทั้งแนวสูง แนวราบ และทุกระดับราคา เพราะทีมงานมีประสบการณ์จากบริษัทก่อสร้างและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อื่นๆ

 

Forbes Facts

  • ปัจจุบันชัยรัตน์ ธรรมพีร ถือหุ้นในบิลท์ แลนด์ 92% หลังจากเปิดไอพีโอแล้ว คาดว่าจะลดสัดส่วนหุ้นลงแต่ไม่ต่ำกว่า 50%
  • บมจ.บิลท์ แลนด์ เคยเป็นบริษัทลูกใน บมจ.พรีบิลท์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก่อนที่พรีบิลท์จะขายบริษัทลูกนี้ออกมาเมื่อต้นปี 2560 ให้กับชัยรัตน์ ส่งผลให้ชัยรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตรองประธานกรรมการของพรีบิลท์ ลาออกจากบริษัทตามข้อตกลงการซื้อขายกิจการ
  • บิลท์ แลนด์มีบริษัทบริหารนิติบุคคลของตนเองในชื่อบริษัทย่อย บริษัท บิลท์ ฮาร์ท จำกัด