บทบาท คอตตอนจากยูเอสเอ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอฝ้ายคุณภาพสูง - Forbes Thailand

บทบาท คอตตอนจากยูเอสเอ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอฝ้ายคุณภาพสูง

ปี 2014/2015 ประเทศไทยนำเข้าฝ้ายดิบเป็นจำนวน 336,000 ตัน สำหรับใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอในครัวเรือน โดยมากกว่า 99% ของกระบวนการผลิตเป็นสัดส่วนการนำเข้าฝ้ายดิบจากต่างประเทศทั้งสิ้นเนื่องจากภูมิประเทศและอากาศที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการเพาะปลูก

ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตผ้าฝ้ายคุณภาพสูงในประเทศกลุ่มอาเซียนและมีการนำเข้าฝ้ายดิบคุณภาพดีจากแหล่งปลูกฝ้ายคุณภาพดีจากหลายแห่ง อาทิ ออสเตรเลีย บราซิล และอเมริกา เพื่อปั่นเป็นเส้นด้ายคุณภาพสูง
สำหรับการใช้ฝ้ายดิบจากสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยนำเข้าฝ้ายผ่านองค์กร Cotton USA โดยฤดูกาลผลิตปี 2014/2015 มีการนำเข้าฝ้ายดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นจำนวน 99,694 ตัน และในฤดูกาลการผลิตปี 2015/2016 เป็นจำนวน 103,217 ตัน เพิ่มขึ้น 3.4%

โดยตัวเลขการนำเข้าฝ้ายดิบจากสหรัฐในฤดูกาลผลิตปี 2014/2015 ของประเทศกลุ่มอาเซียน เวียดนามคือประเทศอันดับ1 ในการนำเข้าฝ้ายดิบจากสหรัฐฯ โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านอุตสาหกรรมเวียดนามขยายตัวมากกว่า 60% ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ของการเข้ามาลงทุนโดยนักลงทุนเกาหลีใต้ ทำให้ฤดูกาลผลิตปีนี้เวียดนามนำเข้าฝ้ายดิบเป็นจำนวน 264,120 ตัน ในขณะที่อินโดนีเซียนำเข้าฝ้ายดิบที่จำนวน 103,728 ตัน เป็นอันดับ5 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 7

โดยภาพรวมทั่วโลกของการผลิตฝ้าย ปี 2016 อินเดียขึ้นเป็นอันดับ1 ในการปลูกฝ้ายมีจำนวนฝ้ายดิบ 700,000 ตัน แทนประเทศจีนที่หล่นลงเป็นอันดับ2 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยการสำรองฝ้ายดิบภายในประเทศจีนกว่า 13 ล้านตัน ในขณะที่การสำรองฝ้ายดิบทั่วโลกมีปริมาณการสำรองเป็นจำนวน 22 ล้านตัน ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาซึ่งรั้งอันดับ3 ในการเพาะปลูกฝ้ายกับเป็นแชมป์ส่งออกในการส่งออกปี 2015/2016


สำหรับ คอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย ไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน คอตตอน ยูเอสเอ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวภายในงานเปิดแผนการตลาดสำหรับปี 2016 ด้วยงบด้านการตลาด 23 ล้านบาท เพื่อผลักดันกลยุทธ์สำคัญการใช้คอตตอนคุณภาพสูงจากสหรัฐฯ ให้สอดคล้องกับการสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าคุณภาพสูง เป็นไปตามกลไกการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอจากฮ่องกงและญี่ปุ่นระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา

โดยปี 2016 คอตตอน ยูเอสเอ เปิดตัวโครงการ “คอลเลคชั่น คอตตอน ยูเอสเอ 2016” เป็นครั้งแรกโดยเป็นการร่วมมือกับแบรนด์ไลเซนซีผลิตคอลเลคชั่น ซึ่งมีเสื้อผ้าแบรนด์ไทยและมีฐานการผลิตของตัวเองกับแบรนด์ “บลู คอร์เนอร์” ที่ได้ทีมดีไซเนอร์จากแบรนด์ “ASV” ภายใต้ควบคุมโดย หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ในคอลเลคชั่น “Blue Corner x ASV x COTTON USA” และ แบรนด์ “คาคิ บรอส” ที่ได้ อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ ร่วมออกแบบในคอลเลคชั่น “Khaki Bros. x Alek T. x COTTON USA” เพื่อสะท้อนความเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายคุณภาพสูงจากฝีมือคนไทยและสร้างการรับรู้ถึงความสามารถในการผลิต

(ซ้ายไปขวา) พีรพล ตติยมณีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอพพาเรล แอนด์ มอร์ จำกัด, ไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน คอตตอน ยูเอสเอ ภูมิภาคอาเซียน, ถาวร กนกวลีวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท บลูพิน อินเตอร์เทรด จำกัด

ทั้งนี้ คอตตอน ยูเอสเอ ใน ประเทศไทย ยังเชื่อมต่อต้นและปลายน้ำเข้าด้วยกันด้วยกลยุทธ์ “ดีมานด์พูล” และ “ซัพพลาย พุช” โดย “ดีมานด์พูล” มุ่งเน้นกลยุทธ์เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคคนไทยที่มีต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายสหรัฐฯ ผ่านสัญลักษณ์ คอตตอน ยูเอสเอ ที่ในประเทศไทยมีแบรนด์ไลเซนซีในกลุ่มเสื้อผ้าและเคหะสิ่งทอ จำนวน 35 แบรนด์ และด้าน “ซัพพลาย พุช” สร้างความสัมพันธ์อันดีในการสร้างคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ผ่านแนวคิด คอตตอน ยูเอสเอ ซอร์สซิ่ง (COTTON USA Sourcing) พาผู้ผลิตจากประเทศไทย เข้าร่วมงานแฟร์ซึ่ง คอตตอน ยูเอสเอ จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เพื่อต่อยอดทางธุรกิจต่อซัพพลายเออร์โรงงานสิ่งทอ จำนวน 11 แห่ง ที่คงมีสัดส่วนการใช้ฝ้ายดิบจาก คอตตอน ยูเอสเอ มากกว่า 50% ในปั่นเส้นด้ายคุณภาพสูง

“ความร่วมมือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือครั้งสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการใน อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยมี คอตตอน ยูเอสเอ เป็นผู้สนับสนุนการทำการตลาดให้กับทั้งสองคอลเลคชั่น” ไกรภพ แพ่งสภา กล่าว