ธุรกิจโลกสดใส หลังทัศนคติด้านบวกพุ่งในไตรมาส 2 - Forbes Thailand

ธุรกิจโลกสดใส หลังทัศนคติด้านบวกพุ่งในไตรมาส 2

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Jul 2014 | 04:02 PM
READ 1763
นักวิจัยชี้ผู้บริหารทั่วโลกมองธุรกิจกลับมาบวก หลังสำรวจทัศนคติด้านการส่งออกปรับเพิ่มสูงมาก ส่วนประเทศไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เฝ้ารอสัญญาณหนุนจากกุนซือเศรษฐกิจ คสช.
 
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของ Grant Thorton (The Grant Thornton International Business Report: IBR) เผยให้เห็นทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยปรับตัวสูงขึ้นหลังติดลบมายาวนาน ในขณะที่ความคาดหวังเรื่องรายได้ ความสามารถในการทำกำไร และผลสำรวจด้านอื่นๆ ต่างปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เว้นแต่ประเด็นว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Infrastructure) เท่านั้น ที่ปรับลดลงจากผลสำรวจในไตรมาสแรกของปี สะท้อนให้เห็นความกังวลจากการเลื่อนประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G และการสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 2G ที่กำลังจะมาถึง อาจสร้างความวุ่นวายให้กับค่ายมือถือโดยเฉพาะ TrueMove รวมไปถึงปัญหาเรื่องรายได้จากค่าสัมปทานของรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
 
นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของ Grant Thorton ประเทศไทย กล่าวว่า อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ที่ได้เห็นตัวเลขด้านบวกจากการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 2   แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น จนนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทางภาคธุรกิจเองก็กำลังจับตามองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน จากทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นทิศทางที่ดีและยั่งยืนในระยะยาว
 
ผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงความคาดหวังด้านการส่งออกทั่วโลก ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 24 ถือเป็นสถิติสูงสุดอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดขึ้นในปี 2554 ไตรมาสที่ 2 เช่นกัน โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เฉพาะประเทศจีนเพิ่มจากร้อยละ 4 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 36 ในไตรมาสที่สอง ถือว่าเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้านสหภาพยุโรปปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 31 จากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีเพิ่้มขึ้นสูงมากที่ร้อยละ 47 และสหราชอาณาจักรที่ร้อยละ 34  ขณะที่ทางตอนใต้ของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 32 โดยประเทศสเปนและกรีซ มีค่าความคาดหวังด้านการขยายตัวในการส่งออกติดห้าอันดับแรกจาก 34 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทั่วโลกที่เข้าร่วมสำรวจ โดยอยู่ที่ร้อยละ 40 และร้อยละ 38 ตามลำดับ
 
ความคาดหวังด้านการส่งออกทั่วโลกที่ดีขึ้นดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้เกิดทัศนคติเชิงบวกต่อธุรกิจทั่วโลกเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือ  โดยค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 46 นับเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ โดยแรงหนุนจากทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจในสหภาพยุโรป ที่สูงถึงร้อยละ 43 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ขณะที่ฝั่งอเมริกาเหนือก็มีค่าสูงถึงร้อยละ 73 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547 เช่นกัน ขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 ก็มีค่าถึงร้อยละ 53 สูงสุดตั้งแต่เริ่มสำรวจอีกเช่นกัน 
 
จากค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจและความคาดหวังในการขยายตัวด้านการส่งออกเพิ่มขึ้น อาจเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามกัน โดยผลสำรวจพบว่า มีถึงร้อยละ 28 ที่วางแผนจะเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาในปีถัดไป เมื่อเทียบกับร้อยละ 20 ในไตรมาสก่อน และถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยทำการสำรวจมาอีกเช่นกัน โดยในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มจากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 38 ขณะที่ยูโรโซนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 ส่วนอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 24 และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 6 จากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
 
IBR เป็นการสำรวจทัศนคติของนักธุรกิจในบริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียน และไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยการสำรวจในไตรมาส 2 นี้ ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารจำนวนมากกว่า 2,500 ราย จากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำกว่า 34 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2557 ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส 

 

TAGGED ON