16 มกราคม 2558 - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ไทยพาณิชย์ ชี้ธุรกิจ สายการบินเช่าเหมาลำ (Chartered flight) เติบโต พร้อมรุกคืบสู่ตลาดการบินแบบเส้นทางประจำ (Scheduled flight) ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำกดค่าโดยสารลง-เพิ่มรอบการบิน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ส่งผลดีต่อผู้โดยสาร ทั้งในแง่ราคาและบริการที่หลากหลาย
ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำกำลังเป็นขวัญใจนักเดินทาง จนกระทบต่อธุรกิจขนส่งภาคพื้นดิน โดยเฉพาะรถทัวร์ ซึ่งครองใจผู้คนที่เดินทางในราคาประหยัดมายาวนาน จนผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นต้องออกมาเรียกร้องต่อทางการ ให้กำกับควบคุมราคาค่าตั๋วมิให้กระทบต่อกิจการของตัวเอง ย่อมฉายภาพให้เห็นว่า ในปัจจุบันคือยุคเฟื่องฟูของธุรกิจการบินในประเทศไทย โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมแขนงนี้ ทว่าในวงการธุรกิจการบินยังมีสายการบินที่เรียกว่า "สายการบินแบบเช่าเหมาลำ" ที่กำลังมาแรงไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้เผยแพร่รายงานบทวิเคราะห์ “เปิดเทรนด์การบินเช่าเหมาลำรุกตลาดเส้นทางการบินแบบประจำในน่านฟ้าไทย” ระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินไทยเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งด้านขนาดและการแข่งขัน จากข้อมูลในปี 2013 ระบุรายได้สูงถึง 3.7 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 13% และในระหว่างปี 2009-2013 มีสายการบินหลักเพียง 4 รายเท่านั้น คือ การบินไทย, Bangkok Airways, Nok Air และ Air Asia สามารถทำรายได้รวมกันมากกว่า 70% ของตลาดอุตสาหกรรมการบิน
แต่หากพิจารณาแยกระหว่างการบินไทยกับ Bangkok Airways ที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) และ Nok Air กับ Air Asia ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carrier) จะพบว่ากลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำมีอัตราการเติบโตสูงถึง 49% ขณะที่กลุ่มสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบเติบโตเพียง 7%
“อย่างไรก็ตาม สายการบินต้นทุนต่ำยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เมื่อกลุ่มธุรกิจสายการบินที่เติบโตไม่แพ้กันคือ ธุรกิจสายการบินให้บริการแบบเช่าเหมาลำ ที่มีอัตราการเติบโตถึง 48% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยในปี 2013 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยระบุว่า มีผู้โดยสารที่ใช้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำสูงถึง 4.6 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 3 ล้านคนจากปี 2009” EIC ย้ำ
ผู้ประกอบการสายการบินเช่าเหมาในไทยบางรายพยายามขยายบริการเข้าสู่การบินแบบเส้นทางประจำ เพื่อความมั่นคงในทางธุรกิจ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 เริ่มเห็นแนวโน้มการปรับกลยุทธ์ได้ชัดเจน ด้วยการเพิ่มเส้นทางบินแบบเส้นทางประจำ คู่ขนานไปกับการให้บริการแบบเช่าเหมาลำที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกับสายการบินเช่าเหมาลำในยุโรป เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะ oversupply ในการบินเส้นทางระยะสั้น และการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินต้นทุนต่ำ
EIC มองว่าข้อด้อยของธุรกิจสายการบินแบบเช่าเหมาลำก็คือ มีสถานภาพไม่ต่างจากผู้รับจ้างผลิตสินค้าที่ไม่มียี่ห้อ (OEM) ทำให้ไม่มีฐานลูกค้าของตนเอง จึงอาจสูญเสียผู้โดยสารได้ง่าย เมื่อพบคู่แข่งที่ขายตั๋วถูกกว่า มีเครื่องบินที่ใหม่กว่า หรือแม้แต่สายการบินต้นทุนต่ำที่เพิ่มเส้นทางบินมาซ้อนทับกับเส้นทางของตน การสร้างภาพลักษณ์หรือสร้างแบรนด์สินค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น
“ผู้โดยสารของสายการบินเช่าเหมาลำ แทบจะไม่ได้ตระหนักถึงชื่อของสายการบินที่ใช้เดินทาง ผู้โดยสารส่วนหนึ่งทราบเพียงชื่อของสายการบิน ณ จุดซื้อตั๋วโดยสาร ขณะที่อีกส่วนอาจทราบชื่อของสายการบินเมื่อขึ้นเครื่องแล้ว การไม่ตระหนักถึงแบรนด์ นอกจากจะทำให้หาลูกค้าได้ยากแล้ว ยังรวมถึงสร้างปัญหาในการสรรหาพนักงานใหม่อีกด้วย การโฆษณาบนสื่อที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้แบรนด์ของสายการบินมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”
การก้าวเข้าสู่ธุรกิจการบินแบบเส้นทางประจำย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เคยมีตัวอย่างของสายการบินที่ไม่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว นั่นคือ สายการบิน PB Air ซึ่งมีเส้นทางการบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2009 เนื่องจากค่าดำเนินการที่สูง
สายการบินแบบเช่าเหมาลำจึงต้องเผชิญทางเลือกระหว่างอัตรากำไรที่สูงจากการให้บริการแบบเช่าเหมาลำ หรือรายได้ที่สม่ำเสมอจากการให้บริการแบบเส้นทางประจำ ซึ่งต้องเจอความเสี่ยงด้าน Load factor ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการบินเส้นทางประจำยังต้องสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายตั๋ว และค่าการตลาดในการสร้างแบรนด์เพื่อแข่งขันในตลาด ที่ต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล แต่เป็นสิ่งจำเป็นหากจะดำเนินธุรกิจการบินแบบเส้นทางประจำ
EIC เห็นว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 5 ประการ ที่จะทำให้สายการบินแบบเช่าเหมาลำผันตัวเข้าสู่การให้บริการเส้นทางประจำได้อย่างราบรื่น ได้แก่ 1) รูปแบบการบริการที่มีความพิเศษ 2) ประสบการณ์ของผู้โดยสาร 3) แบรนด์ 4) ช่องทางการจำหน่ายตั๋ว และ 5) ความเหมาะสมระหว่างขนาดของฝูงบินและความจุของเครื่องบิน
การเปิดเส้นทางการบินแบบประจำที่เป็น niche หรือเส้นทางใหม่เป็นรายแรก โดยไม่ต้องแวะพักที่กรุงเทพฯ จะทำให้สายการบินกลายเป็นผู้บุกเบิก และจับความต้องการจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ ตัวอย่างสายการบินที่เริ่มให้บริการแบบนี้คือ “กานต์แอร์” ซึ่งดำเนินธุรกิจแบบเช่าเหมาลำและมีฐานบินอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเส้นทางการบินประจำเชียงใหม่-หัวหิน และเชียงใหม่-อุบลราชธานี หากได้รับความนิยมในอนาคต จะทำให้ได้กำไรได้อย่างงดงาม เนื่องจากการแข่งขันที่ยังไม่สูงนัก
บริษัทกานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด หรือ “กานต์แอร์” ก่อตั้งในปี 2010 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมด มีฝูงบินรวม 2 ลำ และมีเส้นทางการบินในประเทศทั้งหมด 9 เส้นทาง
EIC เสนอแนะว่า หากสามารถสร้างจุดแข็งด้านบริการ หรือสร้างประสบการณ์การเดินทางที่แปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จได้ ซึ่งปัจจุบันนี้การเดินทางมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ตั้งแต่การสันทนาการ การทำธุรกิจ จนถึงการจาริกแสวงบุญ จนอาจเป็นโอกาสในการเปิดเส้นทางบินใหม่และจัดทริปเดินทางอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น สายการบินอาจจัดทริปพาไปทำสมาธิและแสวงบุญยังประเทศอินเดีย เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ สายการบินควรยกระดับความสัมพันธ์กับบริษัททัวร์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น จุดแข็งอย่างหนึ่งของสายการบินแบบเช่าเหมาลำ คือพันธมิตรกับบริษัททัวร์ สายการบินเช่าเหมาลำที่ต้องการรุกสู่สายการบินเส้นทางประจำควรรักษความสัมพันธ์นี้ไว้เพื่อรักษา load factor และในขณะเดียวกันก็ต้องมองหาช่องทางอื่นๆ ในการขายตั๋วโดยสารไปด้วย เช่น ติดต่อกับ Global Distribution System (GDS) หรือบริษัทจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์
EIC วิเคราะห์การรุกเข้าสู่ธุรกิจการบินแบบเส้นทางประจำของสายการบินแบบเช่าเหมาลำว่า เป็นคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมการบินในไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต เทียบได้กับการเข้ามาของสายการบินต้นทุนต่ำในอดีต แม้อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงกลไกทางการตลาดในเวลาอันสั้นก็ตาม แต่ผู้โดยสารจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องมาจากราคาตั๋วที่ลดลงและตัวเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ der-farang.com