ธนบุรี เฮลท์แคร์ เจาะตลาดเมียนมา เปิด "โรงพยาบาล Ar Yu" รับลูกค้าระดับกลางบน - Forbes Thailand

ธนบุรี เฮลท์แคร์ เจาะตลาดเมียนมา เปิด "โรงพยาบาล Ar Yu" รับลูกค้าระดับกลางบน

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ขยายโรงพยาบาลแห่งที่สองของเครือในต่างประเทศ ร่วมทุนบริษัทอสังหาฯ ท้องถิ่นเปิด “โรงพยาบาล Ar Yu” มูลค่าลงทุน 2 พันล้านบาท โดยเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา หวังจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนขึ้นไป

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุน โรงพยาบาล Ar Yu ของเครือในกรุง Yangon ประเทศเมียนมาว่า โรงพยาบาลได้ก่อสร้างเสร็จพร้อมให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ปัจจุบันได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ มีผู้ป่วยนอก (OPD) ใช้บริการวันละประมาณ 200 คน และมีผู้ป่วยใน (IPD) แล้ว 25-26 คน โครงการนี้เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มธนบุรีฯ ถือหุ้น 40% กับกลุ่ม Ga Mone Pwint Company Limited (GMP) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นของเมียนมาถือหุ้น 50% และอีก 10% ถือหุ้นโดย Aryu Ananta Medical Services Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมกันของทีมแพทย์ที่ร่วมงานในโรงพยาบาลนี้
โรงพยาบาล Ar Yu โครงการร่วมทุนของ THG กับกลุ่มทุนเมียนมา
โรงพยาบาล Ar Yu มีมูลค่าลงทุน 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) เป็นอาคารสูง 11 ชั้น ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าสัญญาเช่า 50+10+10 ปี ในกรุง Yangon จำนวนเตียงให้บริการ 200 เตียง ห้องผ่าตัด 8 ห้อง ห้องตรวจโรคทั่วไป 35 ห้อง จำนวนบุคลากรกว่า 400 คน โดย 120 คนในจำนวนนี้เป็นแพทย์ มีเครื่องมือ-อุปกรณ์ศูนย์รักษาเฉพาะทางพร้อมบริการ เช่น ศูนย์หัวใจ ศูนย์กุมารเวชศาสตร์ ศูนย์หู คอ จมูก ศูนย์กระดูกและข้อ เป็นต้น  

ดึงลูกค้าชาวเมียนมากลุ่มกลางบน

นพ.ธนาธิปกล่าวต่อว่า การลงทุนครั้งนี้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ 5 ปีก่อน เนื่องจากเห็นว่ามีชาวเมียนมาบางส่วนบินไปเข้ารับการรักษาหรือตรวจสุขภาพที่ประเทศไทย ในโรงพยาบาลธนบุรีเองมีลูกค้าชาวเมียนมาราว 20-30 คนต่อวัน คิดเป็น 4-5% ของทั้งหมด Oxford Business Group ยังรายงานข้อมูลปี 2561 ด้วยว่า ชาวเมียนมาระดับกลางถึงบนมีการเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่ประเทศไทย สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินราว 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี “ผมมาเดินสำรวจโรงพยาบาลเอกชนที่นี่มีอยู่ 7-8 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลท้องถิ่น มีแห่งเดียวที่เป็นทุนอินโดนีเซีย และทั้งหมดมีขนาด 100 กว่าเตียงเท่านั้น อุปกรณ์และการบริหารก็ยังไม่ดีพอ จึงคิดว่าเรามีโอกาส หากสามารถทำโรงพยาบาลที่ดีไซน์อาคารได้ดีกว่า สะอาด เป็นระเบียบ พัฒนาคนให้บริการได้ดี และโรงพยาบาลไทยถือเป็น perception ที่ดีอยู่แล้วในการทำให้คนไข้เกิดความไว้วางใจ” นพ.ธนาธิปกล่าวถึงการตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น
แผนกยา
ด้าน Dr.Nway Nu Wai ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล Ar Yu และทายาทบริษัท GMP เปิดเผยว่า บริษัทของครอบครัวเชี่ยวชาญการลงทุนห้างสรรพสินค้า และต้องการขยายไปสู่ธุรกิจการแพทย์ เมื่อพบว่าโรงพยาบาลเอกชนในเมียนมายังมีคุณภาพไม่ดีพอ “ครอบครัวมีการพูดคุยกับกลุ่มทุนด้านธุรกิจโรงพยาบาลจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไทย แต่สุดท้ายตัดสินใจร่วมทุนกับ THG เพราะโรงพยาบาลบริการในราคาเหมาะสมกับตลาดของเราและมีคุณภาพ และแนวทางการบริหารของ THG มีการส่งทีมงานทั้งทีมเข้ามาช่วยจัดการดูแลเองโดยตรง” Dr.Nway กล่าว เธอประเมินด้วยว่า ประชากร Yangon ราว 6 ล้านคนนี้น่าจะเป็นคนระดับกลางบนขึ้นไปราว 30% ของทั้งหมด ซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของโรงพยาบาล Ar Yu โดยเป็นผู้มีรายได้ 1,200-2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน
โรงพยาบาล Ar Yu
เครื่องซีที สแกน
นพ.ธนาธิปเสริมว่า ค่ารักษาพยาบาลของ Ar Yu ค่ารักษา OPD จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,200 บาท/ครั้ง ส่วนค่าห้องพักฟื้นมีตั้งแต่ 2,000-8,000 บาทต่อคืน โดยมีห้องวีไอพีไว้คอยบริการ เป้าหมายของโรงพยาบาล Ar Yu นอกจากจะดึงลูกค้ากลุ่มที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนอื่น ยังต้องการดึงลูกค้าที่ปัจจุบันบินไปรักษาพยาบาลที่ไทยให้มาที่นี่แทนอีกด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่เป็นประชากรใน Yangon ยังหมายรวมถึงคนไข้จากทั้งประเทศ  

คู่แข่งเปิดใหม่-ปรับตัวรับดีมานด์ “ไม่ง่าย”

ข้อมูลจากผู้บริหารโรงพยาบาล Ar Yu ระบุว่า นอกจากกลุ่มธนบุรีฯ แล้ว ก่อนหน้านี้มีเครือโรงพยาบาลไทยเข้ามาเปิดกิจการในเมียนมาเช่นกัน แต่เป็นในลักษณะเล็กกว่าโรงพยาบาล โดยรพ.บำรุงราษฎร์และรพ.สมิติเวช มีเปิดคลินิกตรวจสุขภาพและส่งตัวผู้ป่วยสู่ไทย รวมถึงรพ.กรุงเทพที่เปิดศูนย์ส่งตัวผู้ป่วยรับการรักษาต่อที่ไทยเช่นกัน
ห้องเดี่ยวมาตรฐานในโรงพยาบาล Ar Yu ราคาประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อคืน
แม้ว่าจะมีความต้องการในตลาด แต่ใช่ว่าจะลงทุนได้ง่าย โดยนพ.ธนาธิปกล่าวว่า การลงทุนในเมียนมามีความท้าทาย หลักๆ มาจากเรื่องข้อกฎหมายการลงทุนและระเบียบธรรมเนียมปฏิบัติทางราชการ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติต้องมีพาร์ทเนอร์ที่ดีและเข้าถึงระบบนิเวศได้จริง นอกจากนี้ ธุรกิจการแพทย์ยังอิงกับตัวบุคลากรเป็นหลัก ซึ่งโรงพยาบาล Ar Yu เกิดขึ้นได้จากการดึงตัวบุคลากรการแพทย์ชาวเมียนมาที่ดำเนินธุรกิจคลินิกแห่งหนึ่งอยู่แล้วมาร่วมหุ้น โดยเป็นแพทย์ที่จบจากต่างประเทศทั้งสิ้น และนพ.ธนาธิปเชื่อว่า หากมีโอกาสทำงานในประเทศบ้านเกิด แพทย์เมียนมาที่ยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศจะเลือกเดินทางกลับมา เป็นโอกาสเสริมศักยภาพธุรกิจในเมียนมาของบริษัท  

เห็นกำไรสุทธิภายในปี 2563

ด้านการคืนทุนของโรงพยาบาล Ar Yu รวมถึงโรงพยาบาล Welly ในจีนที่บริษัทร่วมลงทุนและเปิดบริการมาแล้ว 1 ปีครึ่ง นพ.ธนาธิปเชื่อว่าโรงพยาบาลในต่างประเทศทั้งสองแห่งจะเริ่มแสดง EBITDA เป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ และน่าจะเห็นกำไรสุทธิเข้ามาใน bottom line ของบริษัทได้ในสิ้นปี 2563 ส่วนภาพรวมผลประกอบการของ THG นพ.ธนาธิปคาดว่าจะเริ่มกลับมาเติบโตในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองมีรายได้เป็นขาขึ้น รวมถึงโรงพยาบาลธนบุรี บูรณาและศูนย์สุขภาพ Jin Wellness Institute ในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จะสร้างเสร็จพร้อมให้บริการราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้   Forbes Facts
  • โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดใน Yangon เป็นโรงพยาบาลรัฐขนาด 1,000 เตียง
  • เมียนมายังไม่มีระบบประกันสุขภาพของเอกชน ยกเว้นเป็นวงเงินประกันสุขภาพที่นายจ้างออกให้ลูกจ้างซึ่งมักจะมีสวัสดิการนี้ในองค์กรข้ามชาติ
  • Ga Mone Pwint เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลาย เน้นหนักด้านอสังหาฯ โดยเป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้า 5 แห่ง โรงแรมขนาด 220 ห้อง และคอนโดมิเนียม ทำธุรกิจเทรดดิ้งสินค้าวัสดุก่อสร้างตกแต่งภายใน เสื้อผ้า รถยนต์ ฯลฯ รวมถึงธุรกิจรับพัฒนาแบรนด์สินค้า