ทุนมวลชนปั้นฝันธุรกิจ - Forbes Thailand

ทุนมวลชนปั้นฝันธุรกิจ

ความสำเร็จชั่วข้ามคืนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างธุรกิจเล็กให้เติบโตทวนกระแสธุรกิจยักษ์ใหญ่ในโลก กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์ไทยกล้าฝันและระดมทุนผ่านมวลชน พร้อมการสนับสนุนเปิดประตูโอกาสแจ้งเกิดธุรกิจให้อย่างเป็นทางการ

เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: Dtac และ MEEFUND

เมื่อโอกาสการเป็นเจ้าของธุรกิจเปิดกว้างกว่าการรอสถาบันการเงินอนุมัติเงินลงทุนจัดตั้งเป็นบริษัท จากความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับคำว่า crowdfunding หรือการระดมทุนผ่านมวลชนที่เป็นกระแสความนิยมในประเทศไทย ด้วยตัวเลขการระดมทุนในปีที่ผ่านมาประมาณ 35-40 เหรียญหรือ 1,260-1,440 ล้านบาท และการร่วมลงทุนในธุรกิจมากกว่า 20 ดีล รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 50 ล้านเหรียญหรือ 1,800 ล้านบาท


หากเทียบกับตัวเลขสตาร์ทอัพทั่วโลกที่สามารถระดมทุนได้จำนวนกว่าล้านล้านบาท การเติบโตของสตาร์ทอัพไทยยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวถึงการสนับสนุนของ mai ตามวิสัยทัศย์และพันธกิจที่มุ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น ซึ่งตัวกลางระดมทุน อย่าง crowdfunding เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ (creator) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้


“เรามองตลาดโลกที่ใหญ่กว่าตลาดในประเทศ ในฐานะตลาดหลักทรัพย์ฯ เราตั้งใจให้การสนับสนุนเกี่ยวกับแหล่งเงินทุน โดยเชื่อระหว่างผู้ที่ต้องการเงิน และผู้ที่มีเงิน ไม่ว่าจะเป็น angle investor และ venture capital รวมถึง SME และสตาร์ทอัพ ที่ต้องการ crowdfunding สนับสนุน แม้ปัจจุบันนักสร้างสรรค์หรือธุรกิจสตาร์ทอัพไทยอาจจะยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ แต่หากได้รับแหล่งเงินทุน กระทั่งสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ ธุรกิจเหล่านี้จะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเข้าสู่ mai ในอนาคต”


นอกจากนั้น สตาร์ทอัพไทยยังได้รับแรงหนุนจากบริษัทหรือองค์กรภาคเอกชนร่วมผลักดันธุรกิจเล็กคิดใหญ่ให้ก้าวถึงฝั่งฝัน นับตั้งแต่กระบวนการบ่มเพาะจนถึงการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ซึ่งนำหลักสูตรการเรียนการสอนจากกูรูแถวหน้าของ Silicon Valley พร้อมคำแนะนำเป็นโค้ชอย่างใกล้ชิดแบบตัวต่อตัว และเมนเทอร์หรือที่ปรึกษาระดับปรมาจารย์ที่ได้รับการยอมรับในวงการสตาร์ทอัพไทย ได้แก่ อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ ประเทศไทย ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง อุ๊คบี ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ ตลาดดอทคอม กิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งเคลมดิ ไผท ผดุงถิ่น ซีอีโอ Builk และทิวา ยอร์ค ซีอีโอ ของ KaiDee เป็นต้น


แอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Strategy และ Innovation บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด มหาชน หรือดีแทค มั่นใจในจุดเด่นของโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพอันดับ 1 ในประเทศ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นผลงานของทีมที่เข้าร่วมโครงการสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ พร้อมการเติบโต 3-15 เท่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ในช่วงปีที่ผ่านมา และสตาร์ทอัพในโครงการได้รับเงินลงทุน 70% มากกว่าสตาร์ทอัพในตลาดที่ได้รับเงินลงทุนเฉลี่ย 20% ซึ่ง 3 ใน 6 ทีมได้รับการลงทุนจาก VC ตั้งแต่ 4 เดือนแรกที่ร่วมโครงการ โดย 500 TukTuks นักลงทุนรายใหญ่ในระดับโลก และมีความเคลื่อนไหวมากที่สุดมีพอร์ตการลงทุนถึง 50 % ในดีแทค แอคเซลเลอเรท


ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพไทยยังมีทางเลือกระดมทุนผ่าน MEEFUND ซึ่งเป็น crowdfunding ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีเป้าหมายก้าวสู่อันดับ 1 ในเอเชียภายใน 5 ปี โดยมีกลุ่มนักสร้างสรรค์ร่วมระดมทุน เช่น พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปาธร พ.ศ.2549 และผู้ก่อตั้ง พิเชษ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี เพื่อจัดการแสดง “Dancing with Death” Live in Thailand และสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดี และผู้ก่อตั้ง PhotoJourn.net นำเสนอผลงาน 2nd Edition: PhotoJourn Festival เป็นต้น


"คนไทยมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มาก แต่วิธีการเดิมคือ หาเงินจากคนรอบตัวหรือกู้ธนาคาร ถ้าไม่สำเร็จอาจจะติดหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยง แต่ crowdfunding เป็นการระดมทุนจากมวลชน เมื่อมีไอเดีย นำเสนอโปรเจกต์ ถ้ามวลชนยอมรับและสนับสนุน เราสามารถทำธุรกิจได้และส่งผลตอบแทนให้ผู้ที่สนับสนุน หลังจากนั้นยังสามารถต่อด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป เรียกว่าเป็นการปฏิวัติวงการการผลิต หรือ กระบวนการเติบโตของบริษัทแบบใหม่” ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัทเฟิร์ส คอยน์ จำกัด ผู้นำธุรกิจตัวกลางการระดมทุนภายใต้ชื่อ MEEFUND กล่าวเพิ่มเติมพร้อมจำกัดความ crowdfunding


สำหรับความหมายของ crowdfunding คือ การระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ผู้ระดมทุนจะนำเงินมาใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โครงการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม แม้แต่โครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 4 หมวดหลัก ได้แก่ Reward-based Crowdfunding เป็นการระดมทุนของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ หรือแม้แต่การจัดสัมมนา การแสดงละครเวที คอนเสิร์ต และโชว์ต่างๆ โดยผู้สนับสนุนจะได้รับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลงาน หรือของขวัญพิเศษจากผู้สร้างสรรค์เป็นการตอบแทน


ขณะที่ Peer-to-Peer Lending เป็นการระดมทุนของผู้ที่ต้องการเงินทุนไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ซึ่งผู้สนับสนุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน และ Donation-Based Crowdfunding เป็นการระดมทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งผู้สนับสนุนรับทราบว่าเป็นการร่วมบริจาค โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่ได้รับความสุขทางใจ รวมทั้ง Equity Crowdfunding เป็นการระดมทุนในรูปแบบของบริษัท ผู้สนับสนุนจะมีส่วนในการถือหุ้นและร่วมเป็นเจ้าของบริษัทด้วย


สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจและดีแทค แอคเซอเลอเรท คาดการณ์แนวโน้มแอพพลิเคชั่นดาวรุ่ง 5 กลุ่ม ได้แก่ HealthTech ตามเทรนด์โลกที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ EdTech แอพฯ ที่ช่วยพัฒนาการศึกษาให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การขยายโครงข่าย 4G ให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน ทำให้ความนิยมในการเข้าไปดูวิดีโอสตรีมมิ่งมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


นอกจากนั้น VR Technology หรือ เทคโนโลยีเสมือนจริงจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และ AgriTech ที่มาพร้อมกับ IOT หรือ Internet of Thing และอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ นำไปสู่โอกาสของสตาร์ทอัพไทยในอนาคต รวมทั้ง FINTECH หรือ Finance Technology คือ การใช้เทคโนโลยีในโลกการเงินการลงทุน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมวลชนผ่าน crowdfunding ทั่วโลกจำนวนถึง 3.4 หมื่นล้านเหรียญในช่วงปีที่ผ่านมา โดย FINTECH ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในประเทศจีน


โครงการดีแทค แอคเซอเลอเรทยังยกตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นทั้งแรงบันดาลใจและที่ปรึกษาในฐานะเมนเทอร์ของโครงการ เช่น กิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอ บริษัท Anywhere to go และแอพเคลมดิ (ClaimDi) ซอฟต์แวร์ที่ปฏิวัติวงการประกันภัยระดับโลก นับเป็นการลงทุนในระดับซีรีส์เอที่สูงที่สุดในวงการสตาร์ทอัพไทยที่เป็นบริษัทของคนไทย 100% และยังจดทะเบียนในไทยที่มีการระดมทุนสร้างมูลค่าบริษัทที่สูงที่สุด ด้วยจำนวนการระดมทุนจากนักลงทุนระดับโลกในรอบซีรียส์เอ จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทสูง 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตขึ้น 15 เท่าภายในระยะเวลาแค่ 12 เดือนหลังจบโครงการ พร้อมทั้งได้รับการจัดอันดับให้ติด Top 10 ของโลกทางด้านสตาร์ทอัพในสายธุรกิจ Insurance หรือ Top10 InsureTech ของโลก

เช่นเดียวกับณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้สร้างตำนานสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จในยุคแรกๆ ในสายงานเทคโนโลยีในเมืองไทยมากกว่า 12 ปี จากผลงานการแจ้งเกิด Ookbee ร้านหนังสือ e-Magazine และ e-Book ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการดาวน์โหลดมากกว่า 8.5 ล้านครั้ง และผู้ใช้งานมากกว่า 6.5 ล้านคน โดยมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านคน ส่งผลให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks กองทุน VC ของ 500 Startups หนึ่งในกองทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดใน Silicon Valley โดย 500 TukTuks เป็นกองทุนขนาด 450 ล้านบาทที่เน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบัน


จากความมุ่งมั่นและทุ่มเทเป็นที่ปรึกษาของรุ่นพี่สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งแรงสนับสนุนของบริษัทหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกที่แข็งแกร่งและทรงพลัง แม้ในย่างก้าวต่อไปของธุรกิจเล็กคิดใหญ่ต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง โดยบุณยเกียรติ รักษาแพ่ง ที่ปรึกษาโครงการสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (OSTC) ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพและทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชีย


“อันดับแรกต้องเข้าใจธรรมชาติของสตาร์ทอัพก่อนว่า ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล ไม่ใช่ธุรกิจเกิดใหม่ และไม่ใช่ธุรกิจที่มีผู้ก่อตั้งเป็นคนรุ่นใหม่ แต่องค์ประกอบสำคัญอยู่ที่การเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตลาด สังคม และสามารถสร้างพฤติกรรมการบริโภค วิถีชีวิต และแนวคิดใหม่ๆ ให้ตลาดและผู้บริโภค ดังนั้นสตาร์ทอัพจะต้องเกิดบนพื้นฐานของนวัตกรรม การแก้ไขปัญหาที่ยังไม่มีวิธีแก้ หรือการค้นพบความต้องการหรือพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าในการทำอะไรที่แตกต่าง และการกล้าลองผิดลองถูก จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดสตาร์ทอัพ”

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่สตาร์ทอัพได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความชัดเจนกว่าในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดต่างหรือลองผิดลองถูก รวมทั้งระบบแหล่งเงินทุนที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเกิดใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

นอกจากแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมแล้ว ในสหรัฐอเมริกา ยังมีแหล่งเงินทุนแบบอื่นๆ เช่น การสนับสนุนเงินลงทุนจากองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร หรือการระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปผ่านเว็บไซต์ รวมทั้ง ระบบการคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถคุ้มครองผลงานและแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่ พร้อมบทลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธ์ที่เข้มงวด โดยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใจและมีความเคารพในสิทธิและกฎหมายลิขสิทธิ์

ขณะเดียวกันระบบการวางนโยบายและกฎหมายต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันเหตุการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัจจุบัน เนื่องจากในบางกรณีเทคโนโลยีอาจจะไม่สามารถนำออกมาใช้จริงในตลาดได้จากข้อกฎหมายที่ไม่รองรับ รวมทั้ง โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่รองรับวิถีชีวิตที่ต้องการการสื่อสารที่รวดเร็ว ระบบความปลอดภัยในโลกอินเตอร์เน็ต ระบบ cloud computing ที่เสถียร ระบบการขนส่งและการคมนาคมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เป็นต้น


“ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกและความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องกล้าแสดงความเป็นตัวเอง โลกทุกวันนี้ต้องการความแปลกใหม่ การสร้างความแตกต่างจะทำให้เราก้าวต่อไป ถ้าจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ เราต้องรู้จักตัวเอง ยอมรับในสิ่งที่เป็น และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม ไม่ใช่บนพื้นฐานของ natural resource แต่จะเป็นแบบความคิดสร้างสรรค์” วิศรุต อังคทะวานิช ช่างภาพอิสระ เจ้าของภาพปลากัดที่ปรากฎอยู่บนสมาร์ทโฟนของคนทั่วโลกกล่าวปิดท้าย ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมระดมทุนมวลชนผ่าน MEEFUND


คลิ๊กอ่านบทความทางธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine