ทำไมคนสก็อต (บางส่วน) จึงอยากแยกประเทศออกจากอังกฤษ? - Forbes Thailand

ทำไมคนสก็อต (บางส่วน) จึงอยากแยกประเทศออกจากอังกฤษ?

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Sep 2014 | 04:54 PM
READ 17030
ในวันที่ 18 กันยายน ที่จะถึงนี้ สก็อตแลนด์จะมีการทำประชามติว่าจะแยกสก็อตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร (United Kingdom) หรือไม่ ซึ่งตอนนี้การรณรงค์ก็ได้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยหัวข้อที่เป็นที่สนใจอย่างมากก็คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจของน้ำมันในทะเลเหนือที่อยู่ในสก็อตแลนด์แท้จริงมีเท่าไหร่ หลังจากแยกแล้วสก็อตแลนด์จะใช้เงินปอนด์ต่อไปหรือเงินยูโร ซึ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจการเงิน ล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของสก็อตแลนด์และรวมกันมีมูลค่ามากกว่า 20% ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ รวมไปถึงผลกระทบต่อความมั่งคง การศึกษา และสาธารณสุขของสก็อตแลนด์
 
ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องการแยกประเทศ เราควรจะต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง สก็อตแลนด์ อังกฤษ และสหราชอาณาจักร เสียก่อน การเขียนหัวข้อเรื่องว่าชาวสก็อต (บางส่วน) อยากแยกประเทศออกจากอังกฤษนั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะโดยหลักการแล้ว ณ ปัจจุบัน (ในวันที่ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้) ในโลกไม่มี “ประเทศ” อังกฤษ (England) หรือ สก็อตแลนด์ (Scotland) หากแต่มีเพียง ประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom)
 
สก็อตแลนด์และอังกฤษรวมกันครั้งแรก โดยการที่กษัตริย์เจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์ได้ครองบัลลังก์ควบประเทศอังกฤษ หลังจากที่พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษไม่มีรัชทายาทสายตรง และพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์ถือว่ามีลำดับการครองราชย์ใกล้เคียงที่สุด จากการที่สืบเชื้อสายมาจาก มากาเร็ต ทิวดอร์ พระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งอังกฤษ ซึ่งได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสก็อตแลนด์ การขึ้นครองบัลลังค์อังกฤษของพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์ ถือเป็นการสิ้นสุดลงของราชวงศ์ทิวดอร์ และเป็นการเริ่มต้องของราชวงศ์สจ๊วตในอังกฤษ และถือเป็นครั้งแรกที่สองประเทศมีกษัตริย์พระองค์เดียวกันเรียกว่า Union of Crown อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ยังแยกกันอยู่ พระเจ้าเจมส์ที่ 6 ได้ย้ายจากเอดินเบอระไปประทับที่ลอนดอน และเรียกตนเองว่าเป็น King of Great Britain 
 
ในช่วงเวลาถัดมา มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะรวมประเทศหลายครั้ง จนมาประสบความสำเร็จในอีกร้อยปีถัดมา เมื่อรัฐบาลสก็อตแลนด์ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินจากการสร้างอาณานิคมที่ปานามา (Darien Scheme) รัฐบาลอังกฤษจึงได้ยื่นมือเข้ามาโดยมีเงื่อนไขว่าให้ประเทศทั้งสองยุบรวมกันภายใต้ชื่อใหม่คือ สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบโดยรัฐสภาของสก็อตแลนด์ อย่างไรก็ตาม ชาวสก็อตที่ไม่เห็นด้วยประณามการรวมประเทศในครั้งนั้น โดยเฉพาะกวีชาวสก็อต Robert Burns (โรเบิร์ต เบิร์น) ได้กล่าวว่า (ผู้ประพันธ์เพลง "Auld Lang Syne” หรือ สามัคคีชุมนุม ในเวอร์ชั่นภาษาไทย) “ประเทศเราถูกซื้อโดยอังกฤษ”  ..... ทว่าในอีก 300 ปีถัดมา สก็อตแลนด์ก็ได้ตั้ง รัฐสภาสก็อตแลนด์ ขึ้นมาอีกครั้งในสมัยของนายกรัฐมนตรี Tony Blair (โทนี่ แบลร์) ซึ่งเป็นชาวเมืองเอดินเบอระโดยกำเนิด และต่อเนื่องมาจนถึง Gordon Brown (กอร์ดอน บราวน์) บุตรแห่งเมืองกลาสโกว์ของสก็อตแลนด์
 
จะเห็นได้ว่าการรวมประเทศทั้งสองมีความซับซ้อนในหลายแง่มุม และแตกต่างกับการรวมประเทศในกรณีอื่นๆอย่างสิ้นเชิง เมื่อแรกเริ่มถึงแม้จะผ่านคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา แต่ชาวสก็อตส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการรวมประเทศ ทว่า หลังจากการรวมประเทศนี้เอง สก็อตแลนด์ก็ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างน่าเหลือเชื่อ จนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในโลกในช่วงศตวรรษที่ 18-19 และเป็นแม่แบบทางการศึกษาให้กับหลายๆประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
 
โรงเรียน Royal High (รอยัล ไฮ) เอดินเบอระ ที่ก่อตั้งเมื่อกว่า 900 ปีก่อน ถือว่าเป็น “ไฮสคูล” ในระบบการศึกษาภาคบังคับแห่งแรกของโลก ที่ซึ่งสหรัฐนำไปเป็นแม่แบบในการก่อตั้งไฮสคูลแห่งแรกของประเทศที่บอสตัน (ไฮสคูลหลายๆแห่งทั่วโลกยังมีธรรมเนียมแต่งเครื่องแบบกางเกงหรือกระโปรงที่เป็นลายสก็อตจนถึงปัจจุบัน ในอเมริกา ยังมักนิยมเรียนชื่อโรงเรียนโดยย่อว่า “ไฮ”) ระบบการศึกษาภาคบังคับ และระบบปริญญาตรีแบบ 4 ปีที่ใช้กันในหลายๆประเทศ ก็มีพื้นฐานมาจากสก็อตแลนด์ (ปริญญาตรีระบบอังกฤษจะเป็นหลักสูตร 3 ปี) 
 
เมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 19 Edinburgh และ Scotland ได้พัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก และสามารถดึงดูดนักเรียนหัวกะทิให้เข้ามาเรียนที่ Edinburgh ได้มากมาย รวมไปถึง Charles Darwin (ชาลส์ ดาวิน) บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ (ผู้ซึ่งพ่อและปู่ ก็เรียนจบแพทย์ที่สก็อตแลนด์) Joseph Lister (โจเซฟ ลิสเตอร์) บิดาแห่งการแพทย์ผ่าตัดแบบปลอดเชื้อ Joseph ได้พัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ ขณะเรียนและฝึกหัดที่ Glasgow และ Edinburgh (น้ำยาฆ่าเชื้อ Listerine ตั้งชื่อตาม Joseph Lister) นอกจากนี้ Edinburgh ยังได้เป็นแม่แบบให้กับคณะแพทย์ในหลายประเทศในเวลาต่อมา รวมไปถึงคณะแพทย์แห่งแรกในสหรัฐฯ คือที่ University of Pennsylvania ซึ่งได้ใช้ Edinburgh เป็นแม่แบบ และเชิญอาจารย์แพทย์จาก Edinburgh มาวางระบบ (ตราคณะแพทย์ของยูเพ็นน ใช้รูปดอกทิซเซิ่ล ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติสก็อตแลนด์) และเมื่อเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการแพทย์ได้มาบรรจบกัน ชาวสก็อตก็ได้ผลิตผลงานทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อชาวโลกมากมาย เช่น Criminal Fingerprint เครื่อง Ultra Sound เครื่อง MRI Scanner ไตเทียม รวมไปถึงเทคนิคทางด้าน Forensic Science (ด็อกเตอร์ Adrian Linacre - เอเดรี่ยน ลินาเคอร์ ที่หมอพรทิพย์เชิญมาเมืองไทย เป็นอาจารย์ที่ University of Strathclyde ใน Glasgow)  และล่าสุดคือนวัตกรรมโคลนนิ่ง แกะดอลลี่ 
 
Joseph Black (โจเซฟ แบลค) ศิษย์เก่า Edinburgh และอาจารย์ที่ University of Glasgow และที่ Edinburgh ค้นพบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความร้อนแฝง (ที่เราเรียนสมัยเด็กๆว่า ขณะน้ำแข็งกลายเป็นน้ำจะไม่เปลี่ยนอุณหภูมิ) ในขณะเดียวกัน William Rankine (วิลเลี่ยม แรงคิน) จาก Edinburgh ก็ได้พัฒนาความรู้ทางเทอร์โมไดนามิคส์ (วัฎจักรแรงคิน และวัฎจักรคาร์โนต์) พร้อมๆกับ Lord Kelvin (ลอร์ด เคลวิน) จาก Glasgow ที่พัฒนากฎข้อสองของเทอร์โมไดนามิคส์ (ภายหลังได้รับเกียรติให้ตั้งชื่อเป็นอุณหภูมิเคลวิน) แรงคินยังเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรปริญญาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นครั้งแรกในโลก จากเดิมที่มีแต่วิชาวิทยาศาสตร์และวิชาช่างแยกจากกัน โจเซฟ แบลค เป็นอาจารย์และเพื่อนกับ เจมส์ วัตต์ ซึ่งต่อมาความรู้ทางทฤษฎีทั้งหลายเหล่านี้ได้ส่งผลต่อภาคปฎิบัติ ที่ James Watt (เจมส์ วัตต์) ก็นำมาประยุกต์แล้วระเบิดออกมาเป็นความก้าวหน้าอย่างฉับพลันในเทคโนโยลีเครื่องจักรไอน้ำ ที่นำอังกฤษไปสู่การปฎิวัติอุตสาหกรรมและเป็นเจ้าอาณานิคม ขณะเดียวกัน การสังเคราะห์ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของ Maxell (แมกซ์เวลล์) บิดาแห่งทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ก็ได้รับการจัดอันดับของ BBC ว่าเป็นผลงานทางฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของศตวรรษ รองจากไอน์สไตน์และนิวตัน
 
นอกจากนี้ ความรู้ที่หลั่งไหลเข้ามายังทำให้ชาวสก็อตประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆมากมาย เช่น โทรศัพท์ (Alexander Graham Bell - อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์) โทรทัศน์ (Baird - แบร์ด) เรดาร์ (Watson Watt - วัตสัน วัตต์) การคิดค้นยาปฏิชีวนะ (Alexander Fleming - อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง) เทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ (Lister - ลิสเตอร์) ยางรถยนต์แบบมียางใน (Dunlop - ดันลอป) รวมถึงจักรยานแบบมีบันไดถีบ การใช้ยางมะตอยทำถนน แม้กระทั่งสารานุกรมเล่มแรก (Encyclopedia Britannica) ก็ทำขึ้นใน Edinburgh ในหมู่ชาวตะวันตกชาวสก็อตได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์ที่เก่งกาจที่สุด ซึ่งแม้สะท้อนออกมาในหลายๆด้าน เช่นภาพยนต์เรื่อง แมคกายเวอร์ ก็แต่งให้ตัวเอกที่ชื่อ Angus MacGyver มีเชื้อสายสก็อต โดยชื่อ Angus เป็นเมืองในสก็อตแลนด์ (ส่วนนามสกุลที่ขึ้นต้นว่า Mac และ Mc นี้เป็นนามสกุลชาวสก็อต แปลว่า “ลูก” เช่น McDonald แปลว่า ลูกของโดนัลด์)
 
มรดกที่นักปรัชญาชาวสก็อตทิ้งไว้ให้แก่โลก นับว่าส่งอิทธิพลต่อมนุษย์ชาติไม่น้อยไปกว่าผลงานทางวิศวกรรมและการแพทย์เลยแม้แต่น้อย ก็คือด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน Adam Smith (อดัม สมิธ) เขียนผลงานชื่อ the Wealth of Nations และถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ชาวสก็อตที่ชื่อว่า William Paterson (วิลเลี่ยม แพทเธอร์สัน) เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ว่าฯธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) เป็นคนแรก ในขณะที่ชาวสก็อตที่ชื่อ Thomas Sutherland (โทมัส ซูเทอแลนด์) ได้ก่อตั้ง HSBC ขึ้นในฮ่องกง ซึ่งเกลายมาป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในยุโรปในเวลาต่อมา ชาวสก็อตยังเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารสำคัญๆของโลกอีกหลายแห่ง อาทิ ธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์ ธนาคารรอยัลแบงค์ออฟสก็อตแลนด์ กองทุนจาร์ดีน เฟลมมิ่ง (Jardine Fleming เป็นปู่ของ Ian Fleming - เอียน เฟลมมิ่ง ผู้แต่ง เจมส์ บอนด์ ชาวสก็อตคงชื่นชอบเรื่องเกี่ยวกับสายลับ เพราะ Sir Arthur Conan Doyle - เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยด์ ผู้แต่ง Sherlock Holmes - เชอร์ล็อค โฮมส์ ก็เป็นชาวสก็อต)  ชาวสก็อตได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจและเงินๆทองๆอย่างมาก The Economist ซึ่งเป็นนิตยสารทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญที่สุดของยุโรป ก็ก่อตั้งขึ้นโดยชาวสก็อตผู้นิยมการค้าเสรี หรือ Forbes Magazine นิตยสารจัดอันดับเศรษฐี ก็ตั้งโดยพ่อลูกตระกูลฟอร์บส์ จากสก็อตแลนด์
 
ตรงข้ามกับชาวอังกฤษที่มีนิสัยอนุรักษ์นิยมกว่า ชาวสก็อตจะมีความชื่นชอบในสิ่งใหม่ๆ ชอบค้นคว้าวิจัยและสำรวจ รวมถึงนักสำรวจชื่อดัง David Livingstone (เดวิด ลิฟวิ่งสโตน) ผู้ “ค้นพบ” แม่น้ำไนล์ ในช่วงศตวรรษที่ 18 ชาวสก็อตชื่อ แมคไควรี่ (Macquarie) ได้เป็นผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลส์ และได้เป็นผู้นำในการต่อตั้งชาติออสเตรเลีย จนได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งชาติออสเตรเลีย (Founding Father of Australia) ชื่อ แมคไควรี่ กลายเป็นชื่อที่เป็นที่นิยมที่สุดในออสเตรเลีย โดยมีการนำไปตั้งเป็นชื่อถนน สะพาน แม่น้ำ มหาวิทยาลัย และธนาคาร ในออสเตรเลีย ในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันกว่า 20% เคลมว่าตนเองมีเชื้อสายสก็อต-ไอริช ซึ่งนับรวมกันมีมากกว่าประชากรสก็อตในสก็อตแลนด์เสียอีก ในญี่ปุ่น ชาวสก็อตชื่อ Thomas Glover (โทมัส โกลเวอร์) เป็นผู้นำเทคโนโลยีไปช่วยก่อสร้างชาติญี่ปุ่นสมัยใหม่ขึ้น โดยรวมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการก่อตั้งบรรษัทอุตสาหกรรมมิตซูบิชิ ในฮ่องกง ชาวสก็อตเป็นผู้วางรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการก่อตั้งบริษัทที่สำคัญมากมาย ที่คงอยู่ถึงปัจจุบันได้แก่ ฮัทชิสัน (ปัจจุบันเป็นของ ลีกาชิง), จาร์ดีน แมเธอร์สัน, และ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC), และธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์
 
นวัตกรรมทั้งหมดที่กล่าวไปแล้ว เกิดขึ้นโดยชาวสก็อตซึ่งมีจำนวนประชากรเพียง 5 ล้านคนหรือเพียงครึ่งเดียวของกรุงเทพฯ อ่านถึงจุดนี้แล้ว หลายๆท่านคงเข้าใจได้ว่า ทำไมชาวสก็อตบางส่วนถึงอยากได้เอกลักษณ์ความเป็น “ประเทศสก็อตแลนด์” กลับคืนมา Sean Connery (ฌอน คอนเนอรี่) นักแสดงชาวสก็อตชื่อดังจากบทบาท James Bond (เจมส์ บอนด์) ได้กล่าวไว้ว่า จะไม่กลับไปเหยียบสก็อตแลนด์จนกว่าประเทศจะแยกจากอังกฤษ หรือนักแสดง เจมส์ แมคอะวอย ก็ยืนยันจะใช้สำเนียงสก็อตของเขาในการแสดงหนังฮอลลีวูดเท่านั้น ... เพราะในขณะที่ชาวสก็อตมีส่วนในการสร้างชาติหลายๆชาติในโลก มีนวัตกรรมและบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงก้องโลก สก็อตแลนด์กลับยังไม่มีประเทศเป็นของตนเองเลย 


เจริญ ปีติยา  ที่ปรึกษาอาวุโส แมคดูเคชั่น – สถาบันส่งเสริมการศึกษาต่อสก็อตแลนด์