ทาเลส ประเทศไทย เผยทิศทางธุรกิจในไทยหลังคว้า 2 สัญญาจากรัฐบาลด้านความปลอดภัยในระบบรางจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และ การผลิตหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีตรวจสอบอัตลักษณ์จากบริษัท Gemalto ที่ Thales ได้ซื้อกิจการเมื่อปีที่ผ่านมากับกระทรวงการต่างประเทศ
Massimo Marinzi ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย เผยทิศทางธุรกิจหลังจาก Thales บริษัทแม่สัญชาติฝรั่งเศส ได้ซื้อกิจการ บริษัท Gemalto เป็นจำนวนเงิน 7 พันล้านยูโร เมื่อปีที่ผ่านมาและมุ่งสู่เป้าหมาย “เทคฯ คอมพานี” ในอนาคต เพื่อสอดรับเทรนด์อนาคตในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล
“เราได้นำเทคโนโลยีจากบริษัท Gemalto นี้ยกระดับในเทคโนโลยีที่เราเชี่ยวชาญอยู่เดิม คือ เทคโนโลยีด้านการบิน ด้านอวกาศ การคมนาคมภาคพื้นดิน ด้านความมั่นคงทางทหาร และล่าสุดคือ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยในเชิงดิจิทัล” Massimo Marinzi ผู้อำนวยการ ทาเลส ประเทศไทย กล่าวและเสริมว่า
“สำหรับในประเทศไทย เราดำเนินธุรกิจมายาวนานมากกว่า 50 ปี ก่อนตัดสินใจตั้งสำนักงานสาขากรุงเทพฯ เมื่อปี 2548 ปัจจุบันเรามีพนักงาน 50 คน โดย 80% เป็นคนไทย ในปีที่ผ่านมาเราได้รับสถานะจาก BOI เนื่องจากความมุ่งมั่นของทาเลสที่มีส่วนในการพัฒนาฝีมือและความเชี่ยวชาญในประเทศไทย”
จับมือพันธมิตรท้องถิ่นนำเสนอเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย
หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินหน้าปรับปรุงเครือข่ายรถไฟของประเทศ โดยมีแผนพัฒนารถไฟในรัศมี 500 กิโลเมตรรอบกรุงเทพมหานคร Thales ประเทศไทย ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยีร่วมกับบริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ในการดำเนินการตาม สัญญาบริการสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมรถไฟของประเทศไทย ภายใต้การออกแบบ จัดหา และติดตั้ง ETCS ระดับ 1 ในเครือข่ายรถไฟสี่ช่วงของ รฟท. ได้แก่สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้
Massimo Marinzi กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการระบบอาณัติสัญญาณนี้จะครอบคลุมสถานีรถไฟ 48 สถานี จากลพบุรีทางทิศเหนือลงไปถึงนครปฐมและถึง มาบกะเบาทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยระบบ ETCS ระดับ 1 ช่วงระยะยาวที่สุดครอบคลุมสถานีรถไฟ 21 แห่งจากสถานีหัวหมากจนถึงสถานีแหลมฉบัง โครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยนี้เป็นการพัฒนาด้านความปลอดภัยที่เดิมเป็นแบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัลใช้ระยะเวลาในการดำเนินการราว 2 ปี
"ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องการคมนาคมขนส่ง ภาครัฐมีความมั่นใจระบบของเรามากขึ้น ทาเลส ได้นำเทคโนโลยีความปลอดภัย ETCS มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 ในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะทาง 104 กิโลเมตรจากฉะเชิงเทราถึงคลองสิบเก้าและแก่งคอย และ ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติและบริการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร"
ล่าสุด Gemalto บริษัทในเครือ Thales Group ที่เพิ่งซื้อกิจการเมื่อปี 2561 นั้น เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม
DGM Consortium ที่ร่วมกันพัฒนาด้านระบบที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการทำหนังสือเดินทางให้กับกระทรวงต่างประเทศ และผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ ราว 15 ล้านเล่มให้กับคนไทย คาดการณ์ระยะเวลายาวนานเจ็ดปี
Winston Yeo, Senior Vice President ด้าน Identity & Biometric Solutions แห่ง Thales ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สัญญาดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการจัดทำหนังสือเดินทางที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มบริษัท Thales จากทั่วโลก โดยเป็นไปตามการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศของไทยในการพัฒนาเอกสารเดินทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยสูงสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0”
"หนังสือเดินทางที่ดูแลภายใต้เทคโนโลยีจาก Gemalto นี้จะทำให้หนังสือเดินทางมีความปลอดภัยชั้นสูงตามเงื่อนไขการกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มีซอฟต์แวร์แบบฝังในตัวเล่มที่ยากต่อการปลอมแปลงและช่วยเรื่องตรวจสอบในการข้ามพรมแดนในต่างประเทศได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น" Winston Yeo กล่าวและเสริมว่า
“Thales เป็นส่วนหนึ่งใน DGM Consortium ในการผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ภายในเล่ม โดยหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้ประกอบด้วยหน้าปกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน้าบันทึกข้อมูลของผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นๆ ทำจากโพลีคาร์บอเนต มีลักษณะบางและยืดหยุ่น รวมถึงมีช่องแสดงรูปภาพรูปที่สองของผู้ถือหนังสือเดินทาง และรูปถ่ายสีจริงที่ผ่านกระบวนการบันทึกด้วยรังสียูวี เป็นเทคโนโลยีความปลอดภัยซึ่งปัจจุบันมีใช้ในหนังสือเดินทางมากกว่า 30 ประเทศ”
ทั้งนี้ Winston Yeo ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในกลุ่ม
DGM Consortium ประกอบไปด้วย
Gemalto จาก Thales Group, Data Products Toppan Forms Ltd., และ MultiCert เป็นผู้จัดหาหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ รวมไปถึงการพัฒนา ผลิตหนังสือเดินทางและการอบรมเจ้าหน้าที่ชาวไทยที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือเดินทาง ประสิทธิภาพในการลงทะเบียนขอทำหนังสือเดินทาง การปรับกระบวนการลงทะเบียนที่ศูนย์ดำเนินการ 22 แห่งในประเทศไทย รวมถึงแผนขยายศูนย์การให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่งทั่วประเทศ
Massimo Marinzi กล่าวทิ้งท้ายว่า ทาเลส ราวสามทศวรรษที่ตัดสินใจตั้งสาขาในประเทศไทย ปีที่ผ่านมาได้รับเลือกจาก BOI ในการให้การสนับสนุนด้านธุรกิจภายในประเทศ บริษัททำงานสนับสนุนและอยู่เบื้องหลังคู่กับพันธมิตรชาวไทยทั้งเอกชนและรัฐบาล อาทิการทำงานร่วมกับกองทัพเรือในเรื่องระบบเรดาร์ตรวจสอบผ่านบริษัทวีรกิจ การทำงานด้านเทคโนโลยีด้านเครือข่ายดาวเทียมกับบริษัทสามารถฯ อาทิ ดาวเทียมไทยคม 5 ให้บริการโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ระบบการจัดการการลงจอดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือระบบการป้องกันภัยทางไซเบอร์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ระบบซอฟต์แวร์ในบัตรเครดิตของกลุ่ม CitiBank เป็นต้น
"สำหรับเป้าหมายการเติบโตในประเทศไทย เราตั้งเป้าการเติบโตคู่ควบคู่ไปกับจีดีพีของประเทศ ประเทศไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายทางคมนาคม โครงการขนาดใหญ่ในอนาคตอย่างการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา การเติบโตและความต้องการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลในองค์กรต่างๆ เราเชื่อว่า ทาเลส ประเทศไทยสามารถเติบโตได้ตามเทรนด์การเติบโตของประเทศไทยอย่างแน่นอน"