ทาทา สตีล ประเทศไทย เผยผลประกอบกลางปี 2561 โตต่อเนื่องด้วยอานิสงส์หลักจากตลาดภายในประเทศ - Forbes Thailand

ทาทา สตีล ประเทศไทย เผยผลประกอบกลางปี 2561 โตต่อเนื่องด้วยอานิสงส์หลักจากตลาดภายในประเทศ

ทาทา สตีล ประเทศไทย เปิดเผยผลประกอบการระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2561 โตต่อเนื่อง  ด้าน ราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก

ราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผย ปริมาณการขายในไตรมาสที่ 2 ปีการเงิน 2562 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2561 มีจำนวน 288,000 ตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณการขาย 281,000 ตัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (ปีการเงิน 2562) มีปริมาณการขายรวมจำนวน 569,000 ตัน และมีปริมาณการส่งออก 74,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่มีปริมาณการส่งออก 48,700 ตัน ถึงร้อยละ 52 โดยเป็นการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินเดีย กัมพูชา และ ลาว ที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับยอดขายสุทธิในไตรมาสนี้อยู่ที่ 5,822 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสุทธิ 5,443 ล้านบาท ของไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 7 โดยมียอดขายสุทธิของครึ่งปีแรก ปีการเงิน 2562 จำนวน 11,265 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสุทธิ 10,394 ล้านบาทของครึ่งปีแรกของปีการเงินที่ผ่านมาร้อยละ 8 ส่วนใหญ่ เนื่องจากราคาสินค้าเหล็กสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบและบางส่วนได้ถูกชดเชยกับปริมาณการขายที่ลดลงซึ่งส่วนใหญ่มาจากความต้องการเหล็กทรงยาวยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณขนาดเล็ก นอกจากนี้ ตัวเลข EBITDA ของไตรมาสนี้ อยู่ที่ 234 ล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 216 ล้านบาท ร้อยละ 8 สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการขายและราคาขายที่ปรับตัวดีขึ้นด้านกำไรก่อนหักภาษีของไตรมาสนี้อยู่ที่ 67 ล้านบาท และมีกำไรหลังหักภาษีในไตรมาสนี้อยู่ที่ 51 ล้านบาท
มร.ราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ราจีฟ มังกัล กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมสถานการณ์เหล็กทั่วโลก โดยในประเด็นเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีนไม่มีผลกระทบใดๆ กับประเทศจีนเนื่องจากความต้องการเหล็กในประเทศเองยังมีความต้องการสูง ทั้งนี้กำลังการผลิตของประเทศทั่งโลกและจีนมีกำลังเพิ่มขึ้นสูงหากเปรียบเทียบย้อนหลังในปี 2016 และ 2017 “ผลผลิตของโลกในปี 2561 ระหว่าง มกราคม ถึง สิงหาคม 2561 เติบโตขึ้นร้อยละ 5.4 โดยจีนเองเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ในขณะที่ไทยเพิ่มขึ้นหากเปรียบเทียบแบบปีต่อปีอยู่ 2.3 ด้วย ซึ่งในช่วงฤดูร้อนโรงงานส่วนใหญ่ในจีนยกระดับการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งความต้องการใช้เหล็กจากจีนส่งผลต่อราคาเหล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ราจีฟ มังกัล กล่าวและเสริมว่า “นอกจากนี้สถานการณ์ภายในประเทศของตุรกี กาตาร์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มีส่วนทำให้ปรับราคาเหล็กเข้าสู่ภาวะสมดุล อาทิ ราคาเหล็กจากตุรกีในการส่งออกที่ต่ำลงเนื่องจากปัญหาภายในประเทศ การส่งออกเหล็กจากกาตาร์สู่ภูมิภาคอื่นๆ อย่างในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน” สำหรับภาพรวมในครึ่งปีหลัง ราจีฟ เผยภาพรวมความต้องการเหล็กของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน คาดว่าจะดีขึ้นเนื่องจากความต้องการในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งตามปกติในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีการซื้อสินค้าสูง