ทริสเตือนอาจลดเครดิต “การบินไทย” หากผลประกอบการอ่อนแอต่อเนื่อง - Forbes Thailand

ทริสเตือนอาจลดเครดิต “การบินไทย” หากผลประกอบการอ่อนแอต่อเนื่อง

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Dec 2014 | 07:17 PM
READ 4563
ทริสเรทติ้ง หน่วยงานด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทไทย คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของการบินไทย ที่ระดับ A+  แต่แนวโน้มของสายการบินแห่งชาติกลับยังไม่สดใส 

 
15 ธันวาคม 2557 - บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด แถลงผ่านเอกสารว่า บริษัทยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ A+  โดยแนวโน้มยังคงเป็น Negative หรือ “ลบ”  โดยอันดับเครดิตครั้งนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท สะท้อนให้เห็นการสนับสนุนจากภาครัฐ ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ทริสเรทติ้งเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนบริษัทการบินไทยอย่างเข้มแข็งและทันการณ์ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่บริษัทต้องเผชิญปัญหาด้านการเงิน 
 
อย่างไรก็ตาม ทริสย้ำว่าอันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ระดับสูง ความสามารถในการแข่งขันลดลง ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่างๆ และความผันผวนของราคาน้ำมัน ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative หรือ “ลบ” สะท้อนภาพการแข่งขันที่รุนแรง และกำไรของบริษัทที่ลดลง
 
"อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากผลการประกอบการของบริษัทยังอ่อนแออย่างต่อเนื่อง หรือรัฐบาลปรับลดการช่วยเหลือ ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น Stable หรือ “คงที่” ได้  หากบริษัทสามารถปรับปรุงอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงาน และความสามารถในการชำระหนี้ได้" 
 
ทริสเรตติ้งระบุว่า บริษัทการบินไทยเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย ซึ่งให้บริการการบินเต็มรูปแบบ และให้บริการสายการบินคุณภาพระดับกลางผ่านบริษัท “ไทยสมายล์” นอกจากนี้ยังถือหุ้นในสัดส่วน 39.2% ในบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ทั้งนี้บริษัทมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% และธนาคารออมสินถือหุ้นอีก 2.1%  ขณะที่หุ้นในสัดส่วน 15.1% ที่ถือโดยกองทุนวายุภักษ์นั้น ถือเป็นหุ้นของผู้ลงทุนภาคเอกชน แม้กองทุนวายุภักษ์จะจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงการคลังก็ตาม
 
เอกสารข่าวยังระบุว่า ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของการบินไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไร 19% เมื่อปี 2552 ลดเหลือเพียง 9.6% ในปี 2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ที่ระดับ 4.5% สาเหตุจากความเสี่ยงในเหตุการณ์ต่างๆ ภายในประเทศ เช่น อุทกภัยครั้งใหญ่ และความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำ กดดันต่อการปรับเพิ่มราคา อีกทั้งยังมีต้นทุนในการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูง และไม่สามารถปรับลดได้มากนัก
 
ขณะที่งบการเงินใน SET ให้ข้อมูลบริษัทว่า ในปี 2555 มีรายรับสุทธิ 2.09 แสนล้านบาท ต่อมาในปี 2556 ลดเหลือ 2.06 แสนล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีรายรับ 1.38 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายรับ 1.53 ล้านบาท  ขณะที่กำไร-ขาดทุนสุทธิของปี 2555 มีกำไร 6.2 พันล้านบาท ต่อมาในปี 2556 ขาดทุนถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ติดลบ 9.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนติดลบ 6.35 พันล้านบาท
 
จากภาวะดังกล่าวทำให้ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอ่อนแอลง รวมถึงสภาพคล่องที่ตึงตัว เฉพาะช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีเงินสด 18,625 ล้านบาท ณ สิ้นดือนกันยายน 2557 และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 7,000 ล้านบาทจากธนาคาร โดยภายใน 12 เดือนข้างหน้า บริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้ 28,733 ล้านบาท
 
ทริสเรทติ้งคาดหมายว่า บริษัทการบินไทยจะบริหารสภาพคล่องอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีแหล่งเงินสำรองสำหรับปิดความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องให้ได้
 
ส่วนภาระหนี้นั้น ทริสเรทติ้งระบุว่าอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด โดยเพิ่มขึ้นสูงมากตั้งแต่ปี 2554 และคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 66% ในปี 2553 จนสูงกว่า 70% ในระหว่างปี 2554-2556 และเพิ่มเป็น 82.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 เนื่องจากบริษัทลงทุนเป็นจำนวนมากในการจัดหาเครื่องบิน โดยระหว่างปี 2554-2556 บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท และมีแผนจะลงทุนอีก 20,000 ล้านบาท ในปี 2557  ขณะที่ภายใน 4 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนลงทุนอีก 80,000 ล้านบาท 
 
"อย่างไรก็ตาม บริษัทมีหนี้สินที่สูงเกินมาตรฐานสำหรับระดับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีแผนลดภาระหนี้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า" บริษัทจัดอันดับชื่อดังย้ำ
 
ทริสเรทติ้งทิ้งท้ายว่า รัฐบาลใหม่หลังจากรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 มีนโยบายเร่งด่วนในการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนรวม 7 แห่ง รวมถึงบริษัทการบินไทยด้วย โดยบริษัทจะสรุปแผนการปฏิรูปธุรกิจได้ในเดือนมกราคม 2558 เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนได้ทันที
 
"ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของแผนการปรับโครงสร้างของบริษัท ซึ่งอันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างมากในทุกๆ ด้าน รวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีพิเศษ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากการปรับโครงสร้างของบริษัทไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือใช้เวลาในการดำเนินงานมากกว่าที่คาดไว้"
 
ด้านจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดีการบินไทยคนใหม่ เปิดเผยหลังรับตำแหน่งว่า ไม่รู้สึกหนักใจ แต่มองว่าเป็นเรื่องท้าทายมากกว่า และมั่นใจว่าจะดำรงตำแหน่งจนครบวาระ โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการให้บริการ เช่นการจำหน่ายตั๋วออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ในยุคที่ธุรกิจสายการบินเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
 
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม ธัชพล กาญจนกูล รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าบริษัทการบินไทยได้ส่งหนังสือขอกู้เงินจำนวน 7,000 ล้านบาทแล้ว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการรวม 3 ชุด ซึ่งจะประชุมในช่วงกลางเดือนธันวาคมเป็นผู้พิจารณา คือ คณะกรรมการสินเชื่อ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการชุดใหญ่



ข่าวที่เกี่ยวข้อง