ต้นเเบบสร้างอาชีพ พลิกฟื้น SME เเม่ฮ่องสอน - Forbes Thailand

ต้นเเบบสร้างอาชีพ พลิกฟื้น SME เเม่ฮ่องสอน

สสว. ลงพื้นที่เสริมกลยุทธ์เพิ่มรายได้ชาวจังหวัดเเม่ฮ่องสอน จัดโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างผู้ประกอบการเข็มเเข็งในชุมชน

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า หากคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเฉลี่ยของปัจเจกบุคคลในระดับครัวเรือน พบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง สสว. จึงได้มีการจัดทำโครงการต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจากการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนสามารถอยู่และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสามารถพัฒนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล สมดุล และยั่งยืน "เราจะช่วยเสริมจุดอ่อนของธุรกิจชุมชน คือการทำมาร์เก็ตติ้ง หาตลาดให้ รวมถึงพาไปตีตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ ดึงจุดเด่นที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมา หาความต่างสร้างมูลค่า ช่วยออกเเบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย อีกทั้งเราจะช่วยเรื่องการเปิดขายบนเเพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย" ด้าน สิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2562 เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการและสนับสนุนงบประมาณ “โครงการนี้ จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายโดยเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ นำมาซึ่งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง”

ต้นเเบบสร้างอาชีพ ถั่วลายเสือ – ผลิตภัณฑ์ขนแกะ - ขนมงาดำน้ำผึ้ง

พืชเศรษฐกิจของเเม่ฮ่องสอนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ "ถั่วลายเสือ" ด้วยจุดเด่นของรสชาติเเละเมล็ดที่ใหญ่ จากการเจริญเติบโตในพื้นที่หุบเขา สร้างความเเตกต่างจากถั่วลายเสือของจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้ เเต่เดิมถั่วลายเสือปลูกอยู่ในพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่กาฬสินธุ์ เเละเพิ่งมีการนำมาปลูกที่แม่ฮ่องสอนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธียรชัย แซ่จู สมาชิกกลุ่มพัฒนาสินค้าเกษตรบ้านหนองผาจ้ำ จ.แม่ฮ่องสอน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลายเสือ เปิดเผยว่า "ถั่วลายเสือ" หรือ "ถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2" ในท้องถิ่นปลูกกันมานานเรียกกันหลายชื่อ เช่น ถั่วราชินี ถั่วพระราชทาน ถั่วจัมโบ้ลาย และถั่วลายเสือ ลักษณะเด่นคือ เมื่อแกะฝักถั่วออกเมล็ดของถั่วลายเสือจะมีเยื่อหุ้มเมล็ดคล้ายกับลายหนังเสือโคร่ง มีรูปร่างฝักสวย รูปฝักยาวมีจำนวน 2-4 เมล็ดต่อฝัก "ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 580 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตต่อปี 500 – 600 ถัง 1 ถัง น้ำหนัก 10 กิโลกรัมฝักดิบ ต้นทุนต่อถัง 65 -70 บาท ขายเฉลี่ยราคา 120 – 200 บาท/ถัง ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตแต่ละปี โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่" เขาเล่าต่ออีกว่า ล่าสุดมีความต้องการจากพ่อค้าชาวจีน มาสั่งออเดอร์จำนวนมาก เเต่ทางกลุ่มยังขาดเครื่องมือในการกะเทาะเปลือก จึงขอความช่วยเหลือจากสสว.เเละได้รับงบประมาณช่วยเหลือตามโครงการแก้ปัญหายากจน โดยผลผลิตถั่วลายเสือที่เกษตรกรกลุ่มหนองผาจ้ำ ผลิตได้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนกิโลกรัมต่อปี ราคาถั่วเมล็ดแห้ง จำหน่ายปัจจุบันอยู่ที่ถังละ 250-300 บาท ด้าน ธวัชชัย รัตนซ้อน เจ้าของผลิตภัณฑ์บ้านทรงไทย ไทไท แบรนด์ อาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพที่เรียกว่า Healthy Snacks  ใช้วัตถุดิบจำพวก เมล็ดงา เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าว เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ รวมทั้งพืชผักและผลไม้ ซึ่งเป็นผลิตผลของเกษตรกรในท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เลือกใช้วัตถุดิบที่ผลิตด้วยวิธีธรรมชาติ เน้นผลิตผลเกษตรอินทรีย์ และผลิตผลเกษตรปลอดภัยไร้สารพิษ ใช้กระบวนการผลิตที่สะอาด เขาเเละภรรยาเริ่มเปิดร้านอาหารบ้านทรงไทยที่เเม่ฮ่องสอน ตั้งเเต่ปี 2540 ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ ในปี 2546 ซึ่งตอนนี้มีออเดอร์จากสิงคโปร์เเละมียอดขายทางออนไลน์ โดยตั้งเป้าอยากจะขยายตลาดไปยังตะวันออกกลางต่อไป "เราอยากเข้าไปตีตลาดจีน เเต่เมื่อทำจริงยังพบว่ามีปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องการโดนลอกเลียนเเบบหรือการติดต่อสื่อสารกับดีลเลอร์ยาก อีกทั้งการขายออนไลน์ในเเพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซต่างๆ ก็ยังมีอุปสรรค จึงอยากให้ทางสสว.ช่วยให้คำเเนะนำเเละเเก้ปัญหาในจุดนี้ด้วย"  ขณะเดียวกันสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากของจังหวัดเเม่ฮ่องสอนตอนนี้ นั่นก็คือ "ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มจากขนแกะ" โดย สสว.มีโครงการส่งเสริมการสร้างอาชีพ ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงแกะ เพื่อนำขนมาเป็นเส้นใยในการถักทอเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ตามแนวพระราชดำริ พร้อมร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มาช่วยในการออกแบบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากขนแกะให้มีความร่วมสมัย เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากแกะ ให้มีราคาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ภูรี วีระสมิทธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน (หน่วยย่อยปางตอง) สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีฐานการเรียนรู้ในหลายๆ ด้าน และการเลี้ยงแกะ อยู่ในฐานการเรียนรู้ ด้านการเลี้ยงสัตว์ บนพื้นที่สูง ตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยแกะที่นำมาเลี้ยงประกอบไปด้วย 2 สายพันธุ์ คือ แกะพันธุ์บอนด์ และพันธุ์คอร์ริเดล มีแกะที่เลี้ยงภายในศูนย์จำนวน 200 ตัว แต่ที่ส่งเสริมการเลี้ยงให้กับเกษตรกรในกลุ่มแม่ลาน้อย จำนวน 40 ตัว ซึ่งทางศูนย์ได้เลี้ยงแกะมานานกว่า 10 ปี ขนแกะที่ได้ส่งให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์จากขนแกะ กลุ่มทอผ้าขนแกะปางตอง มีสมาชิกจำนวน 25 คน ขนแกะที่ได้นำไปทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผ้าคลุมไหล่ และหมวก เสื้อกันหนาวเเละเสื้อสตรี ซึ่งจัดจำหน่ายให้เเก่นักท่องเที่ยว ราคาเริ่มต้นที่ 500 บาท "ด้วยความเป็นงานฝีมือกว่าจะได้มาหนึ่งชิ้นต้องใช้เวลาหลายวันถึงสัปดาห์ เมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามาเยอะทำให้ผลิตไม่ทัน ดังนั้นทางกลุ่มจึงอยากขอความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ อย่างเช่นเเปรงขนเเกะ ซึ่งตอนนี้มีจำนวนน้อยเเละต้องสั่งนำเข้าจากนิวซีเเลนด์เเละมีราคาเเพงมาก" สำหรับ กิจกรรมต่างๆ ในโครงการต้นแบบฯ ทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมส่งเสริมต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการปลูกบุกผสมผสานพืชอื่นโดยการนำงานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร แก่สมาชิกโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในเครือข่ายได้รับการส่งเสริมให้นำงานวิจัยมาใช้เพื่อยกระดับผลผลิต ไม่น้อยกว่าจำนวน 300 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำกับและติดตามโดยส่วนโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษฯ ประจำศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) กรมป่าไม้ กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมพัฒนายกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากลุ่มโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามพระราชดำริฯ เพื่อให้สมาชิกในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ได้รับการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า 15 ครัวเรือน และมีช่องทางประจำในการขายผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำกับและติดตามโดยส่วนโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษฯ ประจำศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) กรมป่าไม้ กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านแม่เหาะ จำนวน 25 ครัวเรือน และเครือข่าย 11 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านสบป่อง จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกระเทียม บ้านนาปลาจาด จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจข้าว บ้านปางหมู จำนวน 128 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กำกับและติดตามโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมยกระดับการนำผลผลิตจากวนเกษตร (ไผ่) มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ มีสมาชิกกลุ่มอย่างน้อย 11 ครัวเรือน 11 ผลิตภัณฑ์ ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำกับและติดตามโดย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน / กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งเป็น กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน ด้วยการจัดอบรม ฝึกปฏิบัติ สร้างเครือข่าย รวมถึงการพัฒนายกระดับฟาร์มไก่แม่ฮ่องสอนตัวอย่างสู่มาตรฐานระบบป้องกันโรค GFM ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักงานปศุสัตว์ จำนวน 39 ครัวเรือน ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำกับและติดตามโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ดำเนินการโดยการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติจริงในการผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะให้มีคุณภาพ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จำนวน 20 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กำกับและติดตามโดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมจัดทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยจะได้จัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับยกระดับการผลิตสินค้าหรือบริการให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวโดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 350 ราย ครอบคลุม 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินงานโดย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กำกับและติดตามโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน