ต่างชาติข้องใจแก้ "พรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว" - Forbes Thailand

ต่างชาติข้องใจแก้ "พรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว"

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Nov 2014 | 06:58 PM
READ 1950
Grant Thornton ประเมินเศรษฐกิจไทยซึมยาว 2 ปี แม้ความเชื่อมั่นทางการเมือง-เศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ย้ำปรับแก้สัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติ บั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของไทย

 
Grant Thornton ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย เผยแพร่ผลสำรวจทางธุรกิจของประเทศไทย หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 
 
Ian Pascoe ประธานกรรมการบริหารของ Grant Thornton ประเทศไทย เปิดเผยว่า การขาดเสถียรภาพทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้ทิ้งรอยด่างให้กับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย การลงทุนขาดความต่อเนื่อง ปราศจากการดำเนินงานและแผนงานระยะยาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังส่งแรงกดดันต่อประเทศไทย ที่ต้องพึ่งภาคส่งออกสินค้าและบริการถึง 74% ของ GDP ในปี 2556 ที่ผ่านมา ส่วนอัตราการว่างงานยังต่ำหรือประมาณ 1% ผลักดันให้ปรับค่าแรงสูงขึ้นประมาณ 50% ในรอบกว่าทศวรรษ โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก แต่ความสามารถในการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยจึงลดลง ในขณะที่ภาคธุรกิจก็มีภาระต้นทุนสูงยิ่งขึ้น
 
"แม้ท่าทีของรัฐบาลใหม่จะสนับสนุนธุรกิจของต่างชาติตั้งแต่แรก แต่ข้อเสนอที่จะปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกลับสร้างความสงสัย เพราะแม้การปรับปรุงในประเด็น ‘สัดส่วนของผู้ถือหุ้น’ จะมีเหตุผล แต่นักวิเคราะห์สรุปว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนจะปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเลย ด้วยเหตุนี้จึงควรแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" 
 
ทั้งที่รัฐบาลระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่ผู้บริหารธุรกิจต่างชาติยังคลางแคลงใจ เพราะเชื่อว่าหากการเรื่องด้านลบขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดซ้ำขึ้นได้อีก การปรับปรุงกฎหมายในแบบค่อยเป็นค่อยไปนี้ ดูเหมือนจะลดทอนความสนใจของนักลงทุนรายใหม่ และชะลอการลงทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนเดิม นอกจากนี้ ความพยายามดังกล่าวยังสวนทางกับคำมั่นสัญญาต่อประชาคมอาเซียนอีกด้วย
 
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton’s International Business Report (IBR) พบว่าหลังเกิดรัฐประหาร ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไทยไตรมาสที่ 3 ปรับขึ้น 71% ในทันที ถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากเทียบกับ 13% ในไตรมาสที่ 2 และ -28% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ก่อน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 56% และยังพบว่า 49% ของธุรกิจไทยเป็นกังวลเรื่องต้นทุนทางพลังงาน แสดงให้เห็นว่ามีความวิตกต่อแนวนโยบายยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง นอกจากนี้ กว่าครึ่งหรือร้อยละ 52% มีความวิตกกังวลต่อการขาดแคลนแรงงานมีทักษะ 
 
Ian กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษา GDP ในอัตรา 4% เพื่อรักษาระดับการเติบโตอย่างไม่เป็นบวกหรือลบ ขณะที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2557 เหลือ 1% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าปี 2558 จะอยู่ที่ 4.1% และระหว่างปี 2559-61 อยู่ที่ 5.4%
 
"เมื่อพิจารณาตัวเลขเหล่านี้ที่ได้ปรับลดลงหลายครั้ง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการดำเนินนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง การเติบโตของประเทศไทยที่ดีที่สุด จึงน่าจะคงตัวตลอดระยะเวลา 24 เดือนข้างหน้า”
 
โดยบทวิเคราะห์นี้ประเมินว่า ประเทศไทยจะมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนคงเดิมตลอดเวลา 24 เดือน โดยขยายตัวเพียง 0.3% ในปี 2556 และ 0.6% ในปี 2557  ส่วนหนี้ครัวเรือน (คาดการณ์สิ้นปีจะอยู่ที่ 85%) จะผลกระทบต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลบวกจนอัตราการบริโภคขยายตัว 3.2% ในปี 2558 และ 4.2% ในปี 2559 
 
ส่วนการลงทุนคาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2557 -2.3% และจะปรับสูงขึ้นในปี 2558 เนื่องจากรัฐบาลใหม่เร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และปรับปรุงการอนุมัติรับการลงทุนจากต่างชาติมูลค่ากว่า 22,000 ล้านดอลลาร์เหรียญ นอกจากนี้ยังมีงบประมาณอีกกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์เหรียญ สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมของประเทศไทย
 
นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับต่ำยังถือเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2557 และ 2558 และยังได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวในยูโรโซน รวมถึงการสิ้นสุดของยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) สืบเนื่องจากการชะลอตัวในประเทศจีน และสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเริ่มเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคอีกด้วย