บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือ DMT มั่นใจประสบการณ์ 30 ปีการบริหารจัดการดำเนินงานและบำรุงรักษาทางยกระดับรวมระยะทาง 21 กิโลเมตร พร้อมความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ "ดอนเมืองโทลเวย์" เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ DMT เปิดเผยความคืบหน้าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เป็นที่เรียบร้อย ลำดับต่อไปจะเป็นขั้นตอนการรอนุมัติไฟลิ่งมีผลบังคับใช้จาก ก.ล.ต. (Filing effective) ให้กับ ดอนเมืองโทลเวย์ ขณะที่ DMT มีทุนจดทะเบียนจำนวน 6.14 พันล้านบาท แบ่งเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 5.41 พันล้านบาท และมีจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วก่อนการเสนอขาย IPO ทั้งหมด 1.04 พันล้านหุ้น โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 11.85 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ โดยมี บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สำหรับการระดมทุนดังกล่าวจะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้สินคืนและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ โดยเป็นผู้บริหารจัดการทางยกระดับดอนเมืองแบบครบวงจร ภายใต้สัญญาสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดี-รังสิต รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ประกอบด้วยช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตรและช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร อยู่ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัท “เรามีเป้าหมายเป็นผู้นำการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย สนับสนุนการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวมถึงภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในฐานะนักบริหารจัดการโครงการทางยกระดับมานานกว่า 30 ปี เข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และเชื่อมต่อโครงข่ายถนนให้มีความต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันแก่ประเทศไทยในระยะยาว และสร้างการเติบโตแก่บริษัทอย่างยั่นยืนต่อไป” ด้านกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานของบริษัท ได้แก่ การผลักดันการเติบโตด้านผลการดำเนินงานในธุรกิจบริหารทางยกระดับเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการบริหารจัดการทางยกระดับให้มีประสิทธิภาพผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Smart Project พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดระบบดิจิตอล เพื่อเก็บข้อมูลวิเคราะห์วางแผนจัดการจราจรแบบเรียลไทม์ โครงการปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง Manual Toll Collection System (MTC) และการเตรียมการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง Electronic Toll Collection System (ETC) เชื่อมต่อข้อมูลไปยังระบบ Gateway และระบบ Clearing House ของกรมทางหลวงเปรียบเสมือนเป็นสายทางหนึ่งของกรมทางหลวง นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้ากลยุทธ์ขยายธุรกิจด้วยแนวคิดขยายโครงข่ายการเชื่อมต่อกับระบบทางด่วนและทางยกระดับอื่นๆ ที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ควบคู่การนำเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายภายใต้หลักธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส และพยายามสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว “บริษัทจะนำจุดแข็งและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจรุกขยายงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมตามนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนผ่านโครงการต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (2560-2579) ของกรมทางหลวง เช่น โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 18 กิโลเมตร เชื่อมต่อโดยตรงสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) เส้นทางหลักสู่ภาคใต้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับทางยกระดับดอนเมืองที่เป็นเส้นทางหลักสู่ภาคเหนือ เป็นต้น” ธานินทร์กล่าวอย่างมั่นใจการต่อสัญญาสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมือง ซึ่งจะหมดลงในวันที่ 11 กันยายน 2577 โดยยังมีแผนขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ธุรกิจหรือโครงการอื่นที่ไม่ใช่ทางด่วนและทางพิเศษ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเข้ารับสัมปทาน เช่น โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในจุดพักริมทางหลวงและทางหลวงสัมปทาน (Rest Area) เป็นต้น ด้าน ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเดินทางสัญจรลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง ทำให้ปี 2563 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันของทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดง–ดอนเมือง อยู่ที่ 58,140 คันต่อวัน ลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 92,914 คันต่อวัน และช่วงดอนเมือง–อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อยู่ที่ 37,143 คันต่อวัน จากเดิมปี 2562 ที่มีจำนวน 54,376 คันต่อวัน ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ประกอบการปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการค่าผ่านทางรวม 2.05 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 791 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัท มองว่าปี 2563 ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันถือเป็นจุดต่ำสุด และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อ่านเพิ่มเติม: ‘กานติมา เลอเลิศยุติธรรม’ นำทัพเอไอเอสสู่ยุค Digital Tranformaionไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine