ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ปิดทองหลังพระแห่งยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ปิดทองหลังพระแห่งยุคดิจิทัล

การเตรียมเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เครื่องมือหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้ คือ แอปหมอชนะ ที่เกิดขึ้นจากทีมไทยแลนด์ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่มี “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล” เป็นหนึ่งคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้

แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” คือระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ สนับสนุนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ “แรงบันดาลใจของการพัฒนาแอปหมอชนะจริงๆ เกิดขึ้นจากกรณีที่ภูเก็ต ที่มีผู้ป่วยชาวต่างชาติปกปิดข้อมูลจนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องกักตัวกว่า 100 คน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับเชื้อโรคมีจำนวนน้อยลง จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยบุคลากรเหล่านี้ด้วยเครื่องมือช่วยคัดกรองผู้ป่วย เราจึงตั้งใจชื่อว่าหมอชนะ” ดร.อนุชิต หนึ่งในทีมพัฒนาแอปพลิเคชันหมอชนะ เล่าถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังที่เกิดขึ้น การพัฒนาแอปหมอชนะ เรียกได้ว่าเกิดจากการรวมทีมไทยแลนด์อย่างแท้จริง เพราะเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างทีมพัฒนาร่วมของประชาชน เอกชนและภาครัฐ นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยบูรพา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ ภาคเอกชน อาทิ Dtac AIS True บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ บริษัท ฮอนด้า ประเทศไทย จำกัด เป็นต้น ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จนสามารถพัฒนาเวอร์ชั่นแรกสำเร็จภายใน 1 วัน และเป็นเวอร์ชั่นที่นำมาใช้จริงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ซึ่ง ดร.อนุชิต เล่าว่า เป็นเพราะทุกคนได้คิดพัฒนาแอปพลิเคชันลักษณะดังกล่าวขึ้นในเบื้องต้นแล้ว และเมื่อเชื่อมต่อกันได้ การพัฒนาจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาใช้แล้วกว่า 1.4 แสนราย (ข้อมูล 30 เม.ย.63) หลังจากเข้าสู่ช่วงมาตรการผ่อนคลายแล้ว แอปหมอชนะจะเข้ามาช่วยภาคธุรกิจในการคัดกรองประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ช่วยทำให้การเปิดดำเนินธุรกิจอีกครั้งเป็นไปอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่  

ผู้อยู่เบื้องหลังระบบพร้อมเพย์

นอกจาก ดร.อนุชิต จะอยู่เบื้องหลังแอปหมอชนะแล้ว เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบทางการเงินที่สำคัญของประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างพร้อมเพย์ ระบบ National digital ID การลงทะเบียนคนจน ซึ่งเป็นฐานดาต้าเบสที่สำคัญของภาครัฐที่นำมาใช้เพื่อวางนโยบาย และการจัดการแก้ปัญหาให้ประชาชน ในสมัยที่ ดร.อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผลงานต่างๆ เกิดขึ้นจากความตั้งใจทำงานอย่างทุ่มเทอย่างหนักของคนทำงานที่อยู่เบื้องหลัง และหนักหน่วงจนถึงขั้นทำให้เลือดออกในกระเพาะ จากความรับผิดชอบในครั้งนั้น หากย้อนดูประวัติ ดร.อนุชิต ยิ่งน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นคนที่วางเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำอะไรตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่อายุ 14 ปี การเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เดิมตั้งใจว่าจะเกษียณตั้งแต่อายุ 45 ปี ซึ่งวันนี้ยังคงทำงานอยู่ และเป้าหมายสำคัญสูงสุด ที่ปัจจุบันได้ทำบ้าง คือการปฏิบัติธรรม เส้นทางชีวิตของ ดร.อนุชิตในวันนี้ เกิดจากการตกผลึกทางความคิดในเรื่องธรรมะด้วยวัยไม่ถึง 10 ขวบนั่นเอง “วันนั้น จำได้ว่าผมนั่งทำกิจส่วนตัวอยู่ๆ ในห้องน้ำ ก็คิดว่าทำไมคนเราต้องกินๆ ถ่ายๆ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร จะมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนไหม หรือเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว พอคิดเรื่องตายขึ้นมา ก็เกิดการตื่นรู้ขึ้นมาทันที ว่าเราจะเดินไปกับความตายอย่างไร เราเกิดมาเพื่ออะไร และเราจะเดินไปอย่างไร” นับตั้งแต่วันนั้น ดร.อนุชิต ก็ได้เดินตามเป้าหมายอย่างไม่ยอมให้เวลาหมดไปอย่างสูญเปล่า ทำให้เขาเรียนปริญญาตรีตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี และจบดอกเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตั้งแต่อายุ 24 ปี เรียนด้านวิศวกรรม แต่จบมาต้องทำงานสายการเงิน เพราะต้องกลับมาใช้ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เขาสามารถใช้ความรู้ด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี มาแก้ปัญหาหลายอย่างให้กับระบบการเงินในประเทศไทย ดร.อนุชิต เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินหลายด้านของประเทศ เช่น ระบบบาทเนต ระบบการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทยในแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการโอนเงินที่มีมูลค่าสูง บัตรเครดิตเกษตรกร บัตรพลังงาน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบพร้อมเพย์ รวมถึงระบบยืนยันตัวตน National Digital ID เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เขาและทีมจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับแอปหมอชนะ “การทำงาน ต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ปิดทองหลังพระ และต้องมีผู้อยู่เบื้องหน้า คนถึงจะมองเห็นเป็นองค์พระที่สวยงาม บางคนพอใจที่จะอยู่เบื้องหน้า แต่สำหรับผม ผมไม่ได้คาดหวังอะไรแล้ว ขอเป็นผู้ปิดทองหลังพระก็พอ ตอนนี้กลัวอย่างเดียว คือหมดเวลาไปโดยสูญเปล่า มีอะไรที่ทำได้ก็ต้องช่วยกันทำ”
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล

ไทยจะรอดได้เพราะช่วยกัน

ปัจจุบัน ดร.อนุชิต ยังคงทำงานในสายการเงินการธนาคาร ที่ธนาคารเกียรตินาคิน ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ และประธานสายกลยุทธ์ธุรกิจระบบและนวัตกรรม ตามคำชวนของ บรรยงค์ พงษ์พานิช จากก่อนหน้านี้เคยติดตามไปเป็นทีมของอดีตรัฐมนตรีคลัง ดร.อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ที่เคยทำงานด้วยกันที่ธนาคารกรุงไทย เป็นเวลาถึง 8 ปี ซึ่งจากวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงระบบการทำงานใหม่ของธนาคารดิจิทัลที่ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้น หลังจากวางรากฐานมาหลายปีจากการถูกดิสรัปชั่น อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคมไทย ในฐานะนักการธนาคาร เขามองเห็นถึงข้อดี และข้อเสีย จากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ข้อดี คือการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การประชุมออนไลน์ ที่พูดกันมากว่า 10 ปี ทำกันบ้าง ไม่ทำกันบ้าง แต่วันนี้เกิดขึ้นแล้วทั้งการประชุมออนไลน์ ระบบเอกสารออนไลน์ ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น ส่วนข้อเสีย คือมีทั้งคนที่ปรับตัวได้ และไม่ได้ วิกฤตครั้งนี้เหมือนสึนามิ คนที่ปรับตัวได้ อยู่บนยอดคลื่นสึนามิ ก็เอาชีวิตรอดและสามารถไปได้ไกล ส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้ ก็จะถูกกลืนกิน ซึ่งต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสังคมไทยครั้งนี้จะสาหัสมาก และส่งผลกระทบทุกคนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “ไทยมีปัญหาหนักอยู่แล้ว 6 ด้าน คือ แก่ เจ็บ จน ประชากรวัยทำงานมีน้อย ด้อยการศึกษา และความเหลื่อมล้ำสูง วิกฤตครั้งนี้ไม่สามารถกระตุ้นด้วยการก่อหนี้ เพราะหนี้ครัวเรือนสูง และทุกประเทศเจอวิกฤตเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถพึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยวได้อีกต่อไป แต่สิ่งที่สังคมไทยมี คือคนไทยปรับตัวเก่ง โดยเฉพาะภาคเอกชน คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ ถึงยามลำบากจะออกมาช่วยเหลือกัน ซึ่งประเทศอื่นไม่มี และสิ่งนี้เชื่อว่าจะทำให้คนไทยอยู่รอดได้” ดร.อนุชิต กล่าวทิ้งท้าย สำหรับ ดร.อนุชิต เมื่อยังมีเวลา ก็เดินหน้าทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมต่อไป และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมตามความตั้งใจที่วางไว้  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine