“ซีอีโอใหญ่” มองอนาคตเศรษฐกิจไทย - Forbes Thailand

“ซีอีโอใหญ่” มองอนาคตเศรษฐกิจไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Nov 2014 | 06:52 PM
READ 3889
ผู้บริหารธุรกิจระดับประเทศร่วมเวที Forbes Thailand Forum ให้ความหวังในปีหน้า แต่การแข่งขันก็หนักตามไปด้วย สยามพิวรรธน์มั่นใจคนไทยคือที่หนึ่งในตลาดค้าปลีกในประเทศ TUF สร้างผู้บริหารไทย “โกอินเตอร์” ศุภาลัยมองราคาที่ดินอาจร่วงจากมาตรการภาษีใหม่
 

Forbes Thailand Forum "2015: Will Thailand Turn the Corner?"  เวทีแรก หัวข้อ The Leaders' Opinions: Industry Outlook and How to Stay Competitive ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF และ ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งล้วนแต่เป็นเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศและระดับโลก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมแนะนำทิศทางเศรษฐกิจปี 2015
 
ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารสยามพิวรรธน์ ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศ เช่น สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และพาราไดซ์พาร์ค เปิดเผยว่า ธุรกิจของเรามีทำเลอยู่ในจุดสำคัญของกรุงเทพฯ อย่างเช่นสยามพารากอน แต่ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุไม่ปกติเราก็กลับมาได้ทุกครั้ง ในปีนี้ที่ผ่านมา 3 เดือนเราก็กลับมาได้แล้ว ประเมินกันว่า growth ในปีนี้อาจจะสูงกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก คงต้องรอตัวเลขในเดือนสุดท้าย
 
เธอกล่าวถึงแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกในปีหน้าว่า จะต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือดแน่นอน ในปีหน้าจะเป็นอีกยุค ที่ศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์จะเปิดอย่างมากมาย แม้จะยังไม่เข้า AEC แต่ภายในประเทศก็ต่อสู้แข่งขันอย่างดุเดือดแล้ว คาดว่าปีหน้าตลาดจะเติบโตถึง 1.6 ล้านล้านบาท ด้านเราก็ทำเต็มที่เพราะไม่คิดว่าจะแย่กว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา
 
เธอย้ำว่า แม้ 2 ปีที่ผ่านมาจะมีการแข่งขันสูง แต่ประเทศไทยยังเป็นที่หมายตาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบรนด์หรู  ร้านอาหาร ร้านทำผมระดับโลก อยากเข้ามาเปิดในเมืองไทยมาก ตอนนี้เรามี waiting list อยู่ถึง 400 ราย ที่กำลังจะเข้ามา
 
สำหรับโครงการที่เรียกเสียงฮือฮาอย่าง ICONSIAM ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการนั้น เธอกล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าสถานการณ์การเมืองหรือเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร คิดแต่ว่าจะให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้เท่านั้น  และไม่ได้คิดแข่งขันกับใครในไทย แต่คิดจะแข่งกับต่างประเทศ อย่างเช่น Marina Bay Sands ที่สิงคโปร์ โดยเราลงทุนไปถึง 55,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับประเทศ หากปล่อยให้คนอื่นมาทำ เราจะเสียหน้า
 
“ตอนสร้างสยามพารากอน ก็เป็นช่วงวิกฤตในยุคไอเอ็มเอฟ เป็นช่วงตกต่ำที่สุด แต่เราก็เดินหน้าลงทุน ขายแค่ 6 เดือนเท่านั้นก็ปิดงานได้” ชฎาทิพ กล่าว
 
สำหรับการขยายกิจการไปยังต่างประเทศนั้น เธอกล่าวเพิ่มว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวกับชีวิตของคน การจะไปเปิดยังต่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  เรายังเป็น private company จึงไม่จำเป็น  และในฐานะเป็น gap finder ยังเชื่อว่าในไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ ยังมีหลายสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ
 
“ธุรกิจค้าปลีก ไม่ใช่คิดแค่เรื่องช็อปปิ้งเท่านั้น แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ศูนย์การค้าไม่ใช่แค่ที่มาซื้อขายสินค้ากันอีกต่อไปแล้ว  เราจำเป็นต้องรู้ใจลูกค้าอย่างมาก แล้วก็ต้องรู้ทันเทรนด์ของโลกด้วย”
 
ชฎาทิพเน้นด้วยว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทย มีโอกาสเป็น the best retail hub in Asia ได้ ในเมื่อกรุงเทพฯ ของเราเป็นเมืองที่คนทั่วโลกอยากจะมาอยู่แล้ว การจะทำให้ประเทศไทยเป็น “ช็อปปิ้งพาราไดซ์” ก็คือมาตรการทางภาษี

 
ธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอ TUF ผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลรายใหญ่ระดับโลก บอกเล่าว่า เราได้ปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ จากส่งออกอาหารทะเลมาเป็นทำอาหารทะเลแบบครบวงจร มีฐานการผลิตกระจายอยู่ทั่วโลก เป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำในแต่ละภูมิภาค แนวทางนี้ช่วยให้เราลดความเสี่ยงในธุรกิจได้ เราไม่ได้มุ่งส่งออกจากประเทศไทยอีกแล้ว แต่มุ่งขยายไปต่างประเทศเพื่อลดการผันผวนทางธุรกิจ
 
เมื่อพูดถึงอนาคตในปีหน้า ธีรพงศ์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่สดใสนัก มีแต่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ดีขึ้น แค่ยุโรปเป็นบางประเทศ จีนเริ่มชะลอตัว ส่วนญี่ปุ่นก็ต้องจับตา ในทุกๆ ที่มีปัญหา ต้องมีคนทำได้ดีกว่าตลาด ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ปีหน้า TUF ตั้งเป้าว่าจะต้องโตไม่ต่ำกว่า 15% ยุทธศาสตร์สำคัญของเราก็คือการเข้าซื้อกิจการ ก็จะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น หลังปีนี้เราซื้อบริษัทในฝรั่งเศสและนอร์เวย์มาแล้ว 
 
“ความเสี่ยงของเราคือความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ขึ้นลงทุกวัน ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนยังเหมาะสม และจะยังทรงตัวเช่นนี้อีก 12 เดือน”
 
เขากล่าวอีกว่า สิ่งที่กำลังทำคือการสร้างทีมงานเพื่อรองรับการเติบโตในต่างประเทศ เรามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่มีสำนักงานสาขาในที่ต่างๆ เรากำลังสร้างแพลตฟอร์มให้กับผู้นำผู้บริหารคนไทย ออกไปบริหารงานยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งทำงานวิจัยผู้บริโภคในระดับลึก หาให้ได้ว่าทำไมชอบหรือไม่ชอบทูน่า เรื่องเหล่านี้จะช่วยให้คู่แข่งตามเรายาก
 
ในฐานะผู้ส่งออกอาหาร ซีอีโอ TUF ให้ความสำคัญกับประเด็นว่าด้วยความยั่งยืน เขาย้ำความสำคัญด้านนี้มาก เพราะเวลานี้ผู้บริโภคเขาอยากรู้แล้วว่าปลาที่กินมาจากที่ไหน จับด้วยเรือชนิดไหน ลูกเรือและพนักงานได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ต้องให้ความมั่นใจเหล่านี้กับผู้บริโภค ให้มั่นใจว่าปลาที่พวกเขากินจะไม่มีวันหมดไปจากโลก ทำให้เราต้องดูแลสภาพแวดล้อม รวมทั้งดูแลพนักงานของเราอย่างดี ความยั่งยืนเป็นเงื่อนไขสำคัญของคู่ค้าในระดับโลก
 
ในฐานะบุกตลาดโลกมาแล้ว ธีรพงศ์กล่าวว่า ธุรกิจต้องมีความพร้อมตลอดเวลา แม้จะไม่เปิด AEC ก็ตาม  โดยเฉพาะ SME ต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตลอด แม้ไม่อยากออกไป คนอื่นก็บุกเข้ามาได้อยู่ดี 
 
“ความพร้อมต้องมีอยู่เสมอ เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอด มีหลายสิ่งที่เรายังคาดไม่ถึง ไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามขึ้นที่ไหน หรืออีโบล่าก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันภัย เพราะนับวันธุรกิจจะอยู่รอดยากขึ้นเรื่อยๆ“

 
ประทีป ตั้งมติธรรม ซีอีโอ ศุภาลัย ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ กล่าวว่า แม้ปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำเพียง 1% เท่านั้น แต่ดีที่ประเทศเรามีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้คนซื้อบ้านได้ง่าย แต่ธุรกิจอสังหาฯ โดยรวมน่าจะเติบโตต่ำกว่าปีที่แล้ว เพราะกำลังซื้อของคนลดลง ยกเว้นแต่คนที่มีรายได้ประจำจากเงินเดือน หากคิดซื้อบ้านคนกลุ่มนี้จะได้เปรียบ
 
เขาเชื่อมั่นว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะมีการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่างๆ มากมาย แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้วเป็นห่วงว่า การแข่งขันสูงจะทำให้เกิด over supply เพราะไทยต่างจากเพื่อนบ้านตรงประชากรคงที่ เนื่องจากความสำเร็จในการคุมกำเนิด แต่ดีที่ราคาอสังหาฯ เราต่ำกว่าในหลายประเทศรวมทั้งจีน  อย่างไรก็ตาม หากปีหน้าเศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยก็ต้องขึ้นแน่นอน
 
เขายังกล่าวว่า AEC ทำให้คนทำงานย้ายงานข้ามประเทศสะดวกขึ้น เกิดการค้าขายข้ามประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เราเป็นคนหวงแผ่นดิน ต่างชาติจะซื้อที่ดินไม่ได้ ซื้อได้แต่คอนโด 
 
“แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกบังคับใช้ เช่นภาษีมรดกหรือภาษีที่ดิน อาจทำให้คนระบายที่ดินที่ถือครองไว้ออกมา อาจทำให้ราคาที่ดินตกได้บ้างในบางทำเล”